04 สิงหาคม 2555

นิทานเวตาล เรื่องที่ ๔

พระวิกรมาทิตย์เสด็จไปถึงต้นอโศก ทรงปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุย่าม แล้วทรงดำเนินพาพระราชบุตรไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่านิทานซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องที่ ๔ ดังนี้




มีพ่อค้าไม่สำคัญคนหนึ่งชื่อ หิรัณยทัตต์ มีบุตรีงามชื่อ นางมัทนเสนา มีหน้าเหมือนพระจันทร์เพ็ญ ผมเหมือนเมฆ ตาเหมือนตาชะมด คิ้วเหมือนธนูที่ขึ้นสายแล้ว จมูกเหมือนปากนกแก้ว คอเหมือนคอนกเขา ฟันเหมือนเมล็ดแห่งผลทับทิม ริมฝีปากสีแดงเหมือนผลน้ำเต้า เอวอ่อนเหมือนเอวเสือ มือแลเท้าเหมือนดอกไม้อ่อน ผิวเหมือนมะลิ มีลักษณะเป็นนางงามตามเคยมิให้ขาดได้โดยประเพณี ใช่แต่เพียงนั้น ยังงามขึ้นทุกวันๆ จนพระจันทร์แลเมฆ แลตาชะมด แลธนูที่ขึ้นสายพานแล้ว ฯลฯ จะแพ้หมด



ครั้นนางมีอายุสมควรจะมีเรือน บิดามารดาหารือกันแลตรึกตรองถึงการวิวาห์บุตรี ชนทั้งหลายในแว่นแคว้นแห่งพระราชาทรงนาม วีรวรกษัตริย์ ครอง กรุงมัทนบุรี ต่างเลื่องลือกันไปว่า หิรัณยทัตต์มีลูกสาวงามจับใจเทวดา บุรุษ แลมุนีทั้งปวง ชายทั้งหลายที่ใคร่ได้ภริยางาม ต่างก็ไปหาช่างเขียนมาวาดรูปตน แล้วส่งรูปนั้นไปยังบ้านหิรัณยทัตต์ หิรัณยทัตต์ก็ส่งรูปทั้งหมดให้บุตรีตรวจ ดูว่าจะชอบเจ้าของรูปคนไหน แต่นางมัทนเสนาเป็นคนเลือกโน่นเลือกนี่แลเปลี่ยนใจง่ายๆ เหมือนกับนางงามอื่นๆ มากด้วยกัน ครั้นบิดาบอกให้เลือกสามีในหมู่คนที่ส่งรูปมานั้น นางก็ตอบว่าไม่ชอบใจใครเลย แลขอให้บิดาเลือกคนอื่นที่มีรูปดีมีคุณดี แล้วมิหนำซ้ำให้มีความคิดดีอีกด้วย



เวตาลกล่าวว่า พระองค์ทรงปัญญาสามารถย่อมจะทรงทราบว่า ชายรูปงามนั้นก็หายากอยู่แต่ก็พอหาได้ ชายทรงคุณดีก็หาไม่ง่าย แต่ก็คงจะพอหาได้ ส่วนชายรูปงามที่ทรงคุณดีนั้น ถ้าจะมีในโลกก็คงจะนับให้ถ้วนได้ด้วยนิ้วมือสิบนิ้ว แต่ที่จะหาเอาความคิดดีเข้ามาประสมอีกอย่างหนึ่งนั้นถ้าจะหาเข็มในมหาสมุทรก็เห็นจะยากง่ายปานกัน



วันหนึ่งเมื่อเวลาล่วงไปแล้วช้านาน มีชายสี่คนมาจากสี่เมืองไปที่เรือนหิรัณยทัตต์ เพื่อจะขอบุตรีเป็นภริยา หิรัณยทัตต์กล่าวว่า ถ้าคนทั้งสี่มีคุณดีอย่างไรก็จงแสดงให้ปรากฏเถิด ในส่วนรูปนั้นก็เห็นได้อยู่แล้วว่าไม่เลวทราม แต่จะต้องการรู้ว่ามีวิชาอะไรบ้าง



ชายคนที่ ๑ ตอบว่า "ข้าพเจ้ามีความรู้ในพระศาสตร์หาผู้เสมอมิได้ ส่วนรูปกายของข้าพเจ้านั้น ท่านเห็นอยู่แล้วว่าย่อมเป็นที่พึงใจสตรี"

ชายคนที่ ๒ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีความรู้ในการยิงธนูไม่มีที่เปรียบ ข้าพเจ้าอาจแผลงศรไปฆ่าสัตว์ที่ข้าพเจ้าไม่เห็น แลหมายยิงได้ด้วยเสียงที่ได้ยินเท่านั้น ความมีรูปงามของข้าพเจ้าท่านก็เห็นอยู่แล้ว"

ชายคนที่ ๓ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ารู้ภาษาสัตว์น้ำแลสัตว์บก ภาษานกแลภาษามฤค จะหาคนมีกำลังเสมอข้าพเจ้าหามิได้ ความงามของข้าพเจ้าย่อมประจักษ์แก่ตาท่านอยู่แล้ว"

ชายคนที่ ๔ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีวิธีทอผ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งจะแลกทับทิมได้ ๕ เม็ด แลเมื่อได้ขายผ้าผืนหนึ่งได้ทับทิมมาแล้ว ข้าพเจ้าแบ่งทับทิมเม็ดหนึ่งให้แก่พราหมณ์เป็นทาน เม็ดที่ ๒ ถวายเป็นเครื่องบูชาเทวดา เม็ดที่ ๓ ข้าพเจ้าเก็บไว้ประดับตัวเอง เม็ดที่ ๔ ให้ภริยาประดับกาย เม็ดที่ ๕ ข้าพเจ้าขายได้เงินตรามาแล้วจำหน่ายในการเลี้ยงแขก ความรู้ข้าพเจ้ามีเช่นกล่าวนี้ แลไม่มีผู้อื่นมีวิชาเช่นข้าพเจ้าเลย ความมีรูปงามของข้าพเจ้าย่อมแจ้งแก่ตาท่านอยู่แล้ว"



ฝ่ายหิรัณยทัตต์ เมื่อได้ฟังคำชายทั้งสี่คน ก็นิ่งตรึกตรองว่า "ปราชญ์ย่อมกล่าวว่าสิ่งใดๆ ก็ดี ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดีเลย นางสีดามีความงามมากจนราวัณลักพาหนี ท้าวมหาพลีให้ทานมากเกินไปจนกลับเป็นท้าวแทตย์ที่จน ปราศจากความมั่งคั่ง ลูกสาวของเรางามเกินไป จะปล่อยให้ไม่มีสามีอยู่นั้นไม่ได้ คนสี่คนนี้จะยกนางให้แก่คนไหนดี"



หิรัณยทัตต์คิดยังไม่ตกลงในใจ จึงไปหาลูกสาวเล่าความให้ฟังแล้วถามว่า นางจะเห็นควรให้บิดายกนางให้แก่ชายคนไหน นางมิรู้ว่าจะกล่าวประการใด ก็ก้มหน้านิ่งอยู่



หิรัณยทัตต์จึงตรึกตรองต่อไปว่า "ชายที่รู้ศาสตร์นั้นเป็นพราหมณ์ ชายที่แผลงศรไปถูกสัตว์ที่ได้ยินแต่เสียงนั้นเป็นกษัตริย์ แลชายที่รู้วิชาทอผ้านั้นเป็นศูทร แต่ชายที่เข้าใจภาษาสัตว์นั้นเป็นคนวรรณะเดียวกับเรา ผู้นั้นเราจะยกลูกสาวให้"

หิรัณยทัตต์ตริตรองในใจดังนี้แล้ว ก็จัดการเตรียมวิวาห์บุตรี



ระหว่างนั้นเป็นฤดูวสันต์ นางมัทนเสนาออกไปเดินชมดอกไม้อยู่ในสวน เผอิญเมื่อนางออกไปนั้นมีชายคนหนึ่งชื่อโสมทัตต์ เป็นบุตรของธรรมทัตต์ไปเที่ยวเดินเล่นในป่าจะกลับบ้าน ก็ผ่านสวนที่นางมัทนเสนาเดินลงไปเดินเที่ยวอยู่

โสมทัตต์เห็นนางก็งวยงงหลงใหลในรูปนาง จึงกล่าวแก่เพื่อนว่า "เพื่อนเอ๋ย ถ้าข้าได้นางคนนี้ ข้าจะมีความจำเริญในชีวิตนี้ ถ้าไม่ได้ ความเกิดมาแลอยู่ในโลกก็จะเปลืองเวลาเปล่า" เมื่อพูดดังนี้แล้ว โสมทัตต์เกรงนางจะพ้นไปเสีย จึงเดินเข้าไปใกล้นางโดยมิได้ตั้งใจจะละลาบละล้วง

แต่เมื่อเข้าไปใกล้ตัวนางแล้วไซร้ โสมทัตต์กุมสติไว้ไม่มั่นเหลือที่จะอดกลั้นได้ ก็ตรงเข้าไปจับมือนางแล้วกล่าวว่า "ข้ามีความรักนางเหลือที่จะทรงสติไว้ได้ ถ้านางไม่รักข้า ข้าจะต้องทอดทิ้งชีวิตเสียในบัดนี้"

นางมัทนเสนาตอบว่า "ขอท่านอย่าสละชีวิตเสียเลย เพราะการฆ่าตัวตายเป็นอกุศล ข้าพเจ้าจะพลอยได้บาปถูกลงโทษเพราะช่วยทำให้เลือดตก จะได้ความเดือดร้อนทั้งโลกนี้แลโลกหน้า"

โสมทัตต์ตอบว่า "คำกล่าวอ่อนหวานของนางแทงหัวใจข้าทะลุเสียแล้ว แลความรู้สึกว่าจะต้องพ้นไปจากนางเผากายข้าให้ไหม้เป็นจุณไป ความทรงจำแลปัญญาเครื่องรู้ก็สลายไปด้วยทุกข์อันนี้ แลความรักเกินประมาณทำให้ข้าไม่รู้สึกผิดแลชอบ แต่ถ้านางจะให้สัญญาแก่ข้าสักข้อหนึ่ง ข้าคงจะมีชีวิตต่อไปได้"

นางตอบว่า "กลียุคมาถึงเป็นแน่เสียแล้ว แลตั้งแต่ขึ้นต้นกลียุคมา ความเท็จเกิดในโลกมากขึ้น แลความจริงลดน้อยลงไป คนใช้ลิ้นกล่าววาจาที่เกลี้ยงเกลาแต่ใช้ใจเป็นที่เลี้ยงมายา ศาสนาสลายไป ความชั่วช้าทารุณเกิดมากขึ้น แลแผ่นดินก็ให้พืชผลน้อย พระราชาทรงเรียกค่าปรับจากราษฎร พราหมณ์ประพฤติไปในทางละโมบ บุตรไม่ฟังคำแห่งบิดา พี่น้องไม่ไว้ใจกันเอง ไมตรีสิ้นไปในหมู่มิตร ความจริงไม่มีในใจผู้เป็นนาย บ่าวเลิกการรับใช้ ชายทิ้งเสียซึ่งคุณแห่งชาย แลหญิงก็สิ้นความอาย อีก ๕ วันตั้งแต่นี้ไปจะถึงวันวิวาห์ของข้าพเจ้า ถ้าท่านไม่ฆ่าตัวตาย ข้าพเจ้าสัญญาว่า ในวันนั้นข้าพเจ้าจะไปหาท่านก่อนแล้วจึงจะกลับไปอยู่กับสามี"



เราท่านในสมัยนี้ เมื่อได้ยินคำนางมัทนเสนากล่าวยืดยาวถึงเหตุการณ์ที่เป็นไปในกลียุค ก็น่าจะพิศวงว่าเหตุใดจึงต้องจาระไนมากมายถึงเพียงนั้น อันที่จริงนางต้องการจะกล่าวนิดเดียวว่า นางต้องสละความอายด้วยกลัวจะพลอยได้บาปเพราะเป็นเหตุให้โสมทัตต์ฆ่าตัวตาย



ส่วนนางมัทนเสนาเมื่อได้กล่าวคำมั่นดังนั้น แลได้สบถเชิญพระคงคาเป็นพยานแล้วก็กลับบ้าน โสมทัตต์ก็แยกทางไป



ครั้นถึงกำหนดการวิวาห์ หิรัณยทัตต์พ่อค้าก็จ่ายเงินตราเป็นอันมากในการเลี้ยงแลหาของให้เจ้าบ่าว หนุ่มสาวทั้งคู่ถูกทาขมิ้นทั่วตัว แลในคืนก่อนวิวาห์นั้นถูกฟังดนตรีที่ใช้เสียงมาก ทั้งถูกชโลมด้วยน้ำมันทั้งตัว ยังเจ้าบ่าวจะถูกโกนผมอีกเล่า แห่ซึ่งพาเจ้าบ่าวไปส่งบ้านเจ้าสาวนั้นครึกครื้นมากมาย ถนนสว่างไปด้วยคบเพลิงซึ่งคนถือชูไป แลดอกไม้เพลิงก็จุดตลอดทาง ช้าง อูฐ แลม้าซึ่งแต่งเครื่องอย่างงามก็เดินไปตามระยะ แลกว่าจะแห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว ก็มีเด็กซนและชายหนุ่มชั่วตาย เพราะถูกดอกไม้เพลิงหรือถูกช้างเหยียบ หรือเพราะเหตุอื่นๆ ตั้ง ๕ คน ๖ คน เพราะแห่กลางคืนเช่นนั้นย่อมจะมีเหตุเสมอ



ครั้นเจ้าบ่าวไปถึงบ้านเจ้าสาว ก็กระทำการวิวาห์ตามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์แล้วก็มีการเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย จนแขกที่นั่งลงกินเลี้ยงนั้นไม่มีใครบ่นว่ากระไรสักคนเดียว

ครั้นเสร็จพีธีวิวาห์แล้ว สามีก็พานางมัทนเสนาผู้ภริยาไปสู่เรือนแห่งตน เมื่อวันล่วงไปหลายวันแล้วภริยาแห่งน้องสุดท้อง แลภริยาแห่งพี่หัวปีของเจ้าบ่าวก็ช่วยกันฉุดคร่าพาเจ้าสาวไปส่งตัว แลให้นั่งอยู่บนที่นอนของเจ้าบ่าวซึ่งแต่งด้วยดอกไม้สด

ครั้นผู้ส่งตัวออกจากห้องไปแล้ว สามีก็เข้าเล้าโลมภริยา นางใช้มือทั้งสองผลักตัวสามีไว้ให้ห่าง แล้วเล่าเรื่องที่ได้สัญญาแก่โสมทัตต์ไว้ตามจริงทุกประการ



เจ้าบ่าวได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า "สิ่งทั้งหลายคนอาจรู้ได้ด้วยคำพูด คำพูดนั้นเป็นฐานที่ตั้งแห่งสิ่งทั้งหลาย แลสิ่งทั้งหลายย่อมออกจากคำพูด เหตุดังนั้นผู้ทำคำพูดให้เป็นเท็จ ก็ทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นเท็จไปหมด ถ้าเจ้าอยากจะไปหาเขาก่อน ก็จงไปเถิด"

เราท่านอ่านคำพูดของเจ้าบ่าวนี้ ก็น่าจะเห็นแปลก แต่ไม่จำเป็นจะต้องเพียรเข้าใจคำของเขาเลย



ฝ่ายนางมัทนเสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากสามีแล้วก็ลุกขึ้นรีบเดินไปสู่เรือนโสมทัตต์ ทั้งที่ยังแต่งกายเต็มยศอยู่ ครั้นเดินไปตามถนน กลางทางพบโจรคนหนึ่ง โจรเห็นนางแต่งกายด้วยเครื่องประดับอันมีค่าเดินมาคนเดียวดังนั้นก็ยินดี จึงตรงเข้าไปถามว่า "นางเดินถนนมืดเช่นนี้ในเวลาเที่ยงคืน แลแต่งกายด้วยผ้างดงามแลเครื่องเพชรพลอยมีค่าเช่นนี้เพื่อจะไปไหน"

นางตอบว่า "ข้าจะไปเรือนแห่งชายที่รัก" โจรถามว่า "ตามทางที่เดินมานี้ใครเป็นผู้คุมครองรักษานาง" นางตอบว่า "ผู้ปกครองของข้าคือกามเทพ คือเด็กหนุ่มงามซึ่งแผลงศรเพลิง ทำให้เกิดแผลคือความรักขึ้นในใจแห่งชนทั้งหลายในสามโลก คือรติบดี ผู้มีนกกาเหว่าแลแมลงภู่แลลมโชยไปเป็นเพื่อน"



นางกล่าวเช่นนั้นแล้วก็เล่าเรื่องตามจริงตลอด แล้วกล่าวสัญญาแก่โจรว่า "ท่านอย่าทำลายเพชรพลอยเครื่องประดับของข้าเลย ข้าให้สัญญาแก่ท่านว่า เมื่อข้ากลับมา ข้าจะให้สิ่งของเหล่านี้แก่ท่านหมด"

โจรได้ฟังดังนั้นก็นึกในใจว่า การที่จะทำลายเครื่องประดับของนางเสียในทันทีหาประโยชน์มิได้ เพราะนางได้สัญญาแล้วว่าจะให้ด้วยความเต็มใจ เหตุดังนั้นโจรจึงยอมให้นางไปตามอัชฌาสัยแล้วนั่งลงคอยแลคำนึงในใจตามความคิดซึ่งดูราวกับฉลาด แต่เข้าใจยากว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอย่างไร

แต่คนผู้นั้นเป็นโจร เราเท่าที่เป็นสาธุชนจะเห็นแนวความคิดของเขาอย่างไรได้



โจรนั่งคำนึงว่า "กูเห็นประหลาดนักที่ท่านผู้เลี้ยงกูมาแต่เมื่อกูยังอยู่ในครรภ์มารดานั้น เมื่อกูมีกำเนิดแล้วแลได้รับความสำราญเพราะของดีทั้งปวงอันมีอยู่ในโลกบัดนี้ ท่านผู้นั้นก็หาตามมาดูแลรักษากูไม่ กูไม่รู้ว่าผู้นั้นยังจะหลับหรือตายเสียแล้ว แลกูจะยอมกลืนยาพิษยิ่งกว่าที่จะยอมขอเงิน หรือขอความกรุณาอย่างอื่นจากชายผู้ใด เพราะ ของ ๖ อย่างนี้เป็นเครื่องชักจูงให้ชายเป็นคนต่ำช้าคือ ไมตรีกับคนไม่มีสัตย์ ๑ หัวเราะไม่มีเหตุ ๑ ทะเลาะกับผู้หญิง ๑ รับใช้นายที่ไม่มีคุณดีพอควรเป็นนาย ๑ ขี่ลา ๑ พูดภาษาซึ่งไม่ใช่สันสกฤต ๑ อนึ่งสิ่งทั้ง ๕ นี้ เทวดาจารึกลงไว้ในโฉลกของเราในเวลาที่เราเกิด คือ อายุ ๑ กรรม ๑ ทรัพย์ ๑ วิชาศาสตร์ ๑ เกียรติ ๑ กูในเวลานี้ก็ประกอบการดีแล้ว แลธรรมดาคน ตราบใดมีธรรมอันดีอยู่เบื้องบน ตราบนั้นคนทั้งหลายยอมเป็นข้าปฏิบัติตามใจทุกประการ ต่อเมื่อความประพฤติธรรมหย่อนลงไป ชนทั้งปวงแม้แต่มิตรก็ย่อมจะคิดประทุษร้าย"



ในขณะที่โจรนั่งตรึกตรองเช่นนี้อยู่ริมทางเดิน นางมัทนเสนารีบไปถึงเรือนโสมทัตต์พ่อค้าหนุ่ม โสมทัตต์หลับอยู่ นางก็ปลุกให้ตื่นขึ้น โสมทัตต์รู้สึกตัวเห็นนางก็ตกใจโจนจากที่นอนมีอาการสั่นกลัวแลถามว่า "นางเป็นเทพธิดา เป็นนางสิทธา หรือเป็นนางนาค ขอนางจงแจ้งแก่ข้าโดยตรงว่านางเป็นอะไร แลมาโดยประสงค์อันใด ข้าจะปฏิบัติตามใจนางทุกประการ"



นางมัทนเสนาตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ ชื่อมัทนเสนา ธิดาหิรัณยทัตต์ผู้เป็นพ่อค้า ท่านจำไม่ได้หรือว่าเมื่อวานซืนเมื่อพบกันในสวน ท่านได้ถือมือข้าพเจ้าไว้แล้วกล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ให้คำมั่นแก่ท่านว่า จะมาหาท่านก่อนจึงกลับไปอยู่กับสามีชองข้าพเจ้า ท่านก็จะทำตัวท่านเองให้ตายไป"



โสมทัตต์ถามว่า "นางได้บอกให้สามีทราบเรื่องนี้หรือเปล่า" นางตอบว่า "ข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังจนตลอด สามีของข้าพเจ้ารอบรู้เหตุการณ์ป็นอันดี ยอมให้ข้าพเจ้ามา"

โสมทัตต์ได้ยินดังนั้น ก็กล่าวด้วยเสียงซึ่งส่อน้ำใจอันเหี่ยวแห้งว่า "การเรื่องนี้จะเปรียบก็ เหมือนมุกดา ซึ่งไม่มีเรือนอันงาม เหมือนอาหารขาดฆี (ฆตํ ฆฤต เปรียง คือเนยที่ได้ละลายไฟแล้ว) เหมือนขับกลอนไม่มีเพลง ล้วนแต่แปลกธรรมดาทั้งนั้น อนึ่งเสื้อผ้าที่ไม่สะอาด ย่อมทำให้ความงามของผู้แต่งเสื่อมไป อาหารชั่วทำให้หย่อนกำลัง เมียทุศีลเป็นเครื่องกวนผัวให้ตายจาก ลูกชายที่มีนิสัยต่ำช้าเป็นเครื่องทำความฉิบหายให้เกิดแก่สกุล อสูรที่โกรธย่อมจะฆ่าชีวิตผู้อื่น แลหญิงไม่ว่าเพราะรักหรือเกลียด ย่อมจะเป็นเหตุแห่งความทุกข์เสมอ เพราะหญิงไม่พาความคิดที่อยู่ในใจมาสู่ลิ้น แม้สิ่งที่อยู่ที่ลิ้นแล้วก็ไม่พูดออกมา แลเมื่อทำอะไรคงจะไม่บอกใครเป็นอันขาด พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างหญิงมาเป็นสัตว์ประหลาดในโลก "



โสมทัตต์กล่าวดังนั้นแล้ว ก็กล่าวแก่นางต่อไปว่า "นางจงกลับไปบ้านเสียเถิด นางเป็นภริยาชายอื่น ข้าไม่มีจิตผูกพันกับนาง" ฝ่ายนางมัทนเสนาเมื่อโสมทัตต์กล่าวดังนั้น ก็รีบออกจากเรือนโสมทัตต์เดินทางคืนไปสู่เรือนสามี เมื่อพบโจรตามทางนางก็เล่าเรื่องให้ฟัง แลยอมจะให้เครื่องแต่งกายแก่โจรตามสัญญาแต่โจรไม่รับ กลับชมใหญ่ แล้วเชิญให้นางกลับบ้าน



ครั้นไปถึงบ้านนางก็เล่าให้สามีฟังทุกประการ แต่เขาสิ้นรักนางเสียแล้ว แลกล่าวว่า " พระราชาก็ดี ผู้เป็นนายก็ดี ผู้เป็นภริยาก็ดี ผมของคนก็ดี เล็บก็ดี เมื่ออยู่ผิดที่ไปแล้วก็ไม่น่าดูเลย อนึ่งนกกาเหว่างามเพราะเสียง คนขี้ริ้วงามเพราะความรู้ โยคีงามเพราะไม่ถือโทษผู้อื่น แลหญิงงามเพราะความบริสุทธิ์ "



เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็เปลี่ยนเสียงกลับทูลถามพระราชาในขณะที่ทรงฟังเพลินอยู่ว่า "แลชายทั้ง ๓ คนนั้น คนไหนมีธรรมดีกว่าคนอื่น"



พระราชาไม่ทันยั้งพระโอษฐ์ ตรัสตอบว่า "โจรดีกว่าคนอื่น" เวตาลถามว่า "เพราะเหตุไรจึงทรงเห็นอย่างนั้น" พระราชาตรัสว่า "เพราะเหตุว่าชายผู้เป็นผัวนั้นเมื่อเห็นเมียรักคนอื่นเสียแล้ว ถึงแม้ความรักนั้นไม่เป็นเหตุให้เสียความบริสุทธิ์ก็ย่อมจะสิ้นเสน่หาอยู่เอง โสมทัตต์นั้นไม่กล้าทำร้ายนาง เพราะกลัวพระราชาจะลงโทษภายหลัง หาใช่เป็นด้วยเหตุอื่นไม่ ส่วนโจรนั้นโจรกรรมเป็นเครื่องหากิน เป็นผู้ไม่กลัวกฎหมายอยู่แล้ว การที่โจรยอมให้นางไปโดยดีนั้น หาใช่เป็นด้วยกลัวภัยอันใดไม่ เหตุดังนั้นโจรจึงดีกว่าคนอื่น "





เวตาลหัวเราะแล้วกล่าวว่า "นิทานจบเพียงนี้" แล้วก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะไปในฟ้ามืด พระราชาแลพระราชบุตรก็ยืนตะลึงจ้องพระเนตรกันอยู่ พระราชาตรัสแก่พระราชบุตรว่า "คราวหน้าถ้าอ้ายตัวนั่นมันตั้งปัญหาถามข้า ข้าอนุญาตให้เจ้าทำละลาบละล้วงต่อข้า คือให้จับแขนขาบีบให้รู้ตัวก่อนที่ข้ามีเวลาตอบมันได้ ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้ง ๒ จะไม่มีเวลากระทำกิจอันนี้ให้สำเร็จได้"

พระราชบุตรรับคำพระราชบิดา แต่ไม่นึกว่าวิธีป้องกันอย่างใหม่นั้นจะได้ผลดังหวัง ครั้นสององค์ทรงดำเนินกลับไปถึงต้นอโศก ได้ยินเสียงเวตาลหัวเราะก้องอยู่บนต้นไม้ พระราชบิดาก็ทรงปีนขึ้นไปปลดลงมาตามเคย และมันก็เล่านิทานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงตามเคยเหมือนกัน

นิทานเวตาล เรื่องที่ ๓

พระวิกรมาทิตย์ ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้ว ได้สติก็เสด็จหันกลับพาพระราชบุตรทรงดำเนินกลับไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็เสด็จปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาใส่ลงในย่ามอย่างเก่า เสด็จออกทรงดำเนินไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่าเรื่องซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้




ในกาลก่อนมีเมืองงามชื่อ โศภาวดี พระราชาทรงนาม รูปเสน มีข้าใช้ใกล้ชิดชื่อ สุรเสน เป็นผู้มีกำลังแลปัญญา ว่องไวชำนาญในการรบยิ่งนัก สุรเสนคนนี้แต่เดิมก็เป็นทหารธรรมดาแต่ด้วยความกล้าแลความฉลาด ปฏิบัติการในหน้าที่หาผู้เสมอมิได้ จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยลำดับ ในที่สุดเป็นแม่ทัพในกรุงโศภาวดี บ้านใกล้เมืองเคียงพากันกล่าวเลื่องชื่อลือฤทธิ์ทั่วไป



ฝ่ายสุรเสนเมื่อได้รับตำแหน่งแม่ทัพแล้ว ก็มิได้เว้นว่างการงานในหน้าที่เหมือนอย่างข้าราชการบางจำพวก ซึ่งเมื่อพระราชาทรงแต่งตั้งให้เป็นใหญ่แล้วก็ละเว้นราชการ เพื่อจะได้มีเวลาทำพลีกรรม สนองคุณเทพยดาที่บันดาลให้ตนได้เป็นใหญ่

สุรเสนเห็นว่าการบันดาลให้ตนเป็นใหญ่นั้น ถ้าจะจำแนกออกเป็นหุ้น พระราชาคงจะถือหุ้นมากกว่าผู้อื่น แลการทำพลีกรรมถวายพระราชา ก็คือการปฏิบัติราชการที่ทรงมอบหมายให้เป็นไปดังพระราชประสงค์ ส่วนเทพยดานั้นหากจะมีหุ้นอยู่บ้างก็เปรียบเหมือนหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่การบวงสรวงอาจมีได้บ้างในเวลาที่ว่างราชการ



กล่าวการปฏิบัติหน้าที่ สุรเสนเป็นผู้กล้าใช้ความเห็นของตนแลแบบฉบับการสงครามซึ่งบัณฑิตแลพราหมณ์ผู้มิได้เป็นนักรบ บังอาจแต่งขึ้นไว้เป็นตำราใช้สืบกันมาแต่โบราณนั้น สุรเสนแม่ทัพนำมาใช้เป็นหลักแต่ที่เห็นใช้ได้ แลใช้ความคิดแลความชำนาญของตนเป็นบรรทัดทางเดิน รู้จักเลือกที่รบ รู้จักใช้ทหาร รู้จักรักษาลำเลียงของตนในขณะที่ตัดลำเลียงข้าศึก เมื่อเห็นธนูที่ทหารใช้อยู่นั้นใช้ได้ไม่ว่องไวก็คิดเปลี่ยนเสียใหม่ก่อนที่จะต้องเปลี่ยนเพราะแพ้ เมื่อเห็นด้ามดาบจับไม่ถนัด แม้ด้ามจะได้เคยใช้กันมาแล้วตั้งพันปี แลคนทั้งหลายคิดว่าเป็นด้ามดีที่สุดเพราะอายุ สุรเสนแม่ทัพก็กล้าเปลี่ยนเสียไม่เกรงพวกไม่ใช่นักรบคือบัณฑิตแลพราหมณ์ติเตียนว่าไม่ถูกต้องตามคัมภีรศาสตร ์ อนึ่ง สุรเสนได้จัดทหารถือศรไฟขึ้นหมู่หนึ่งซึ่งเมื่อใช้ต่อสู้ทัพช้างของข้าศึกก็มีชัยรอบข้าง แม้พระอังคารผู้เป็นเจ้าแห่งการรบก็ต้องชมว่าดี



วันหนึ่งสุรเสนแม่ทัพนั่งว่าราชการอยู่หน้าจวน มีทนายเข้าไปบอกว่า มีชายถืออาวุธคนหนึ่งมาจะขอเข้ารับราชการ แม่ทัพได้ทราบจึงพาตัวเข้าไปซักถามตามธรรมเนียม

ชายผู้นั้นแสดงตัวว่า ชื่อ วีรพล เป็นคนชำนาญอาวุธ มีชื่อเสียงว่ากล้าแลซื่อสัตย์ปรากฏทั่วไปในภารตวรรษ (คืออินเดีย) สุรเสนแม่ทัพเคยได้ยินคนชมตัวเองดังนี้นับครั้งไม่ถ้วน มิได้เชื่อคำที่กล่าว แต่อยากจะแสดงให้ชายถืออาวุธนั้นรู้ตัวละอายแก่ใจว่าตนไม่รู้จักใช้อาวุธเลย จึงบอกว่าให้ชักดาบออกสำแดงความสามารถให้ปรากฏเถิด



ฝ่ายวีรพลได้ยินดังนั้นก็นึกรู้ในใจแม่ทัพ แต่มิได้หวาดหวั่น เอามือขวาชักดาบออกแกว่งเหนือศีรษะเหมือนจักรยนต์ซึ่งหมุน ๑,๒๐๐ รอบต่อนาที มือซ้ายยื่นเหยียดออกไป มือขวาหวดด้วยดาบเต็มกำลัง ตัดเล็บนิ้วก้อยแห่งมือซ้ายขาดตกอยู่กับพื้น การตัดเล็บให้ขาดไปด้วยดาบซึ่งฟาดเต็มแรงนั้น ถ้านิ้วพลอยติดไปด้วยก็นับว่าง่ายแลนับว่าตัดเล็บสำเร็จเหมือนกัน ถ้าตัดไปทั้งมือยิ่งง่ายหนักเข้า แลการตัดเล็บก็เป็นอันได้ตัด แต่วีรพลตัดเล็บครั้งนั้น มิได้ถูกนิ้วแลเนื้อเป็นเหตุให้เลือดตกแม้แต่หยดหนึ่งเลย



สุรเสนแม่ทัพเห็นดังนั้นก็ชอบใจ จึงสนทนากับวีรพลถึงวิธียุทธ์ วีรพลชี้แจงแสดงความเห็นมีหลักฐานมั่นคง ปรากฏว่ามิใช่แต่รอบรู้ตำราซึ่งบัณฑิตแลพราหมณ์ผู้ไม่เคยรบแต่งไว้เป็นแบบฉบับการรบ ถึงแม้ข้อบกพร่องในตำราโบราณเหล่านั้นก็รู้ด้วย เมื่อเป็นดังนั้นสุรเสนแม่ทัพก็เห็นได้ว่า วีรพลนั้นมิใช่คนสามัญเลยจึงพาเข้าเฝ้าท้าวรูปเสน ทูลให้ทราบทุกประการ



ท้าวรูปเสนเป็นพระราชาที่คิดมากตรัสน้อย ครั้นได้ยินแม่ทัพทูลตลอดแล้ว ก็ตรัสถามวีรพลว่า "ข้าควรให้เบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าวันละเท่าไหร่" วีรพลทูลว่า "ถ้าประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ข้าพเจ้าเป็นทองคำวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ จึงจะพอเป็นค่าใช้สอยของข้าพเจ้า" ท้าวรูปเสนตรัสถามว่า "เจ้ามีทหารมาด้วยกี่กองทัพ จึงต้องใช้ทองคำมากถึงวันละเท่านั้น" วีรพลทูลว่า ข้าพเจ้าไม่มีกองทัพมาด้วย มีแต่ครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งมีจำนวนคือ ที่หนึ่งตัวข้าพเจ้า ที่สองภริยาของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ที่สามบุตรชายคนหนึ่ง ที่สี่บุตรหญิงคนหนึ่ง ที่ห้าไม่มี"



คนทั้งหลายที่อยู่ในที่เฝ้าได้ยินดังนั้น ต่างคนก็ยิ้มแลหัวเราะ พระราชาทรงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสให้วีรพลออกไปจากที่เฝ้า



เวตาลกล่าวแก่พระวิกรมาทิตย์ต่อไปว่า "พระองค์คงได้ทรงสังเกตแล้วว่า ในหมู่มนุษย์พวกพระองค์นั้น คนมากมักจะเชื่อราคาคนๆ เดียว ตามประมาณที่คนนั้นกำหนด ถ้าใครตั้งราคาตนเองสูง คนอื่นๆ คงจะพูดกันว่า "คนนี้คงจะมีคุณวิเศษอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏแก่เรา เพราะเราเป็นผู้ไม่มีความรู้" ดังนี้ถ้าพระองค์ทรงบอกแก่คนทั้งหลายว่า พระองค์มีความกล้า มีความฉลาด พระหฤทัยดี แลแม้จะตรัสว่าพระองค์รูปงาม ไม่ช้าก็จะมีผู้เชื่อว่าจริง แลเมื่อมีคนเชื่อเสียแล้ว พระองค์จะกลับทำอย่างไรให้ปวงชนทราบได้ว่า พระองค์ไม่กล้า ไม่ฉลาด ไม่มีพระหฤทัยดี แลไม่ทรงรูปงามนั้น จะทรงทำได้ด้วยยากที่สุด อนึ่ง..."



พระราชาเหลียวไปตรัสแก่พระราชบุตรว่า "อย่าฟังมัน อย่าฟังมัน (แล้วตรัสแก่เวตาล) นี่แน่ะ เจ้าตัวช่างพูด ถ้าคนพากันนับถือธรรมเลอะเทอะอย่างที่เจ้าว่านี้ไปด้วยกันหมด ความสงบเสงี่ยม ความปราศจากโอ้อวด ปราศจากความเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียวแลคุณความดีอื่นๆ อีกมากมาย จะมิสูญสิ้นไปหรือ"



เวตาลตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ทราบ แลไม่ใส่ใจที่จะให้คุณเหล่านั้นคงมีไปในโลก แต่ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่า ข้าพเจ้าได้เคยสิงซากศพมนุษย์มาช้านาน ได้เปลี่ยนจากศพนี้ไปอยู่ศพโน้นบ่อยๆ จนได้ความรู้สำคัญข้อหนึ่ง คือ ผู้มีปัญญาย่อมจะรู้จักตนเอง ไม่ขุ่นข้องในใจเกินไปในเวลาที่ตกอับ หรือรื่นรมย์เกินไปในเวลาที่ชะตาขึ้น เพราะรู้ตัวว่าไม่ได้ประดิษฐ์ตัวขึ้นเองยิ่งกว่าได้ประดิษฐ์เสื้อผ้าที่ไปจ้างเขาทำมาให้ ส่วนคนโง่นั้น เมื่อเอาตัวไปเทียบกับคนโง่กว่าก็ยินดีเบิกบานจนเกินเหตุ หรือเมื่อเทียบตัวเองกับคนที่โง่หย่อนกว่า ก็กระดากเดือดร้อนในใจ เพราะรู้ว่าเขาโง่น้อยกว่าตัว ความกระดากนี้ เรียกว่าความปราศจากโอ้อวด ความสงบเสงี่ยม หรือจะเรียกว่าว่ากระไรอีกก็ยังจะได้

ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น เมื่อได้เข้าสิงซากศพไม่ว่าจะเป็นศพชาย ศพหญิงหรือศพเด็ก ข้าพเจ้าคงจะรู้สึกว่าข้าพเจ้าควรถ่อมตัวเป็นอันยิ่ง เพราะรู้ว่าเหย้าที่อาศัยของข้าพเจ้านั้นเป็นที่สำนักของสัตวชาติที่จองหองที่สุด แลเจ้าของเดิมเพิ่งทิ้งเหย้าไปยังไม่ทันช้าเลย อนึ่ง..."



พระราชาทรงพิโรธรับสั่งว่า "เอ็งอยากจะให้ข้าเอาตัวเอ็งฟาดลงกับพื้นดินหรือ" เวตาลบ่นอุบอิบ เป็นทำนองว่าการแสดงปัญญาให้คนโง่ฟังไม่มีประโยชน์แล้วเล่านิทานต่อไปว่า



ท้าวรูปเสนได้ทรงฟังคำวีรพลทูลดังนั้น ก็ทรงนิ่งตรึกตรอง ตั้งปัญหาถามพระองค์เองว่า เหตุใดชายคนนี้จึงตีราคาความรับใช้ของตนแพงเช่นที่กล่าว แล้วทรงพระดำริว่า การตีราคาสูงเช่นนี้คงจะเป็นด้วยมีคุณวิเศษความดีอย่างเอก ซึ่งอาจจะเห็นได้ภายหลัง เมื่อทรงนึกดังนั้นแล้วก็นึกต่อไปว่า ถ้าประทานค่าจ้างมากมายตามที่วีรพลทูลไซร้ ความมีใจใหญ่ของพระองค์คงจะให้ผลประโยชน์แก่พระองค์ในวันหน้า



เมื่อทรงตรึกตรองเห็นเช่นนี้ จึงรับสั่งเรียกวีรพลกลับเข้าไปหน้าพระที่นั่งแล้วรับสั่งเรียกชาวคลังมาสั่งว่า จงจ่ายทองคำให้แก่วีรพลวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ แล้วตรัสให้วีรพลอยู่รับราชการต่อไป



ฝ่ายวีรพลนั้นมีคำเล่ากันว่า เมื่อได้รับพระราชทานสินจ้างมากถึงเพียงนั้นก็ได้ใช้ทรัพย์ของตนในทางที่ดีที่สุด ในเวลาเช้าทุกวันได้เอาทรัพย์ที่ได้ในวันก่อนมาแบ่งออกเป็นสองส่วน

ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่พราหมณ์แลปุโรหิต ส่วนที่เหลือนั้นแบ่งออกอีกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งแจกแก่ไวราคี คือคนขอทานซึ่งประกาศตัวว่านับถือพระวิษณุเป็นเจ้า แลสันยาสี (ผู้นับถือพระศิวะเป็นเจ้า) ซึ่งเป็นผู้มีกายอันชโลมด้วยเถ้าถ่าน แลปกปิดกายด้วยท่อนผ้าซึ่งจะมิดชิดก็ไม่มิดได้ แลพากันยื่นศีรษะซึ่งมุ่นเหมือนเชือกแน่นกันเข้าไปรับแจกที่ประตู ส่วนทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่จากที่แจกแล้วนั้น วีรพลให้มีผู้จัดประกอบอาหารอันมีรส แลเมื่อได้เลี้ยงคนขัดสนอาหารทั้งหลายจนอิ่มหนำสำราญทั่วกันแล้ว วีรพลแลบุตรภริยาจึงกินแล้วแต่จะมีเหลือ



การจำหน่ายทรัพย์ทุกๆ วันเช่นนี้มีคำกล่าวสืบกันมาว่าเป็นวิธีดีนัก แต่พวกที่กล่าวว่าดีนั้น พราหมณ์แลปุโรหิตคงจะเป็นผู้กล่าวนำหน้า ไวราคีแลสันยาสีเป็นพวกที่รองลงมา แลพวกยาจกที่ได้รับเลี้ยงทุกๆ วันก็คงจะกล่าวชมวิธีจำหน่ายทรัพย์ชนิดนั้นด้วย ชนพวกอื่นๆ ที่พลอยชมว่าดีไปด้วยก็จะมีบ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเป็นวิธีดีจริงหรือไม่นั้นเป็นข้อที่น่าพิศวง



ในเวลาค่ำคืนวีรพลถืออาวุธเข้าไปยืนอยู่ใกล้แท่นที่บรรทมทุกคืน เมื่อใดพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ตรัสถามว่าใครอยู่ที่นั่น วีรพลก็ทูลตอบทันทีว่า "ข้าพเจ้าวีรพลอยู่นี่ ถ้ามีโองการตรัสสั่งประการใด ข้าพเจ้าพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์"

ท้าวรูปเสนตื่นบรรทมขึ้นแลตรัสถามครั้งใด ก็ได้ทรงยินวีรพลทูลตอบเช่นนั้นเสมอจนแทบจะเบื่อ บางคราวถึงทรงอยากให้มีเหตุอันใด ที่จะได้ทรงใช้วีรพลให้เห็นความสามารถ บางคืนท้าวรูปเสนมีรับสั่งให้ทำอะไรที่แปลกที่สุดเพื่อทดลองใจ เพราะ คำโบราณย่อมกล่าวว่าจะลองใจข้าให้ใช้ทั้งในทางที่ควรแก่เวลา แลไม่ควรแก่เวลา ถ้าทำตามโดยเต็มใจ จงทราบว่าเป็นข้าที่ดี ถ้าโต้ตอบ จงไล่เสียโดยเร็ว การทดลองใจข้าด้วยประการที่กล่าวนี้ คงจะได้รู้จริงเสมอกับการทดลองใจเมียด้วยความยากจนของผัว หรือทดลองญาติแลเพื่อนด้วยขอให้ช่วยธุระ



โดยประการที่กล่าวมานี้ วีรพลอยู่ยามรักษาพระราชาคืนยังรุ่ง แลที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อสินจ้างที่ได้พระราชทาน แลนอกจากเวลาอยู่ยามนั้น จะดื่มแลกินก็ดี นั่งนอนเดินยืนก็ดี จะได้ลืมหน้าที่เป็นผู้เฝ้ารักษาพระราชานั้นหามิได้ การที่ทำเช่นนั้นก็ชอบด้วยธรรมเนียม เพราะถ้าชายคนหนึ่งขายชายอีกคนหนึ่ง ชายคนที่สองเป็นผู้ถูกขาย แต่ถ้าข้าเข้าไปรับใช้นายก็คือข้าขายตัวเอง แลเมื่อชายใดเป็นข้าต้องอาศัยผู้อื่นแล้วความสุขจะมีกระไรได้ ธรรมดาคนจะมีปัญญาฉลาดเฉลียวแลมีความรู้ปานใดก็ตาม ถ้ามีนายแลอยู่ต่อหน้านาย ก็ย่อมจะนิ่งเหมือนคนใบ้ แลมีความสะทกสะท้านอยู่เป็นปกติ ต่อเมื่ออยู่พ้นหน้านายไปจึงจะค่อยผ่อนกายได้บ้าง เหตุดังนั้นปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมกล่าวว่า การรับใช้ให้ถูกต้องทุกประการนั้น ยากยิ่งกว่าฝึกฝนความรู้ในทางธรรม



คืนหนึ่งพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ได้ยินเสียงหญิงโหยไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้าที่ใกล้พระราชวัง พระราชาตรัสถามว่าใครอยู่ยาม วีรพลทูลตอบตามเคย จึงรับสั่งว่า "เจ้าจงไปดูว่ามีหญิงมาร้องไห้คร่ำครวญอยู่ทำไม เมื่อได้ความแล้วจงรีบกลับมาโดยเร็ว" วีรพลได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็รีบไปทำตาม



ฝ่ายพระราชา ครั้นวีรพลไปแล้ว ก็ทรงเครื่องดำคลุมพระองค์รีบตามวีรพลไป เพื่อจะทอดพระเนตรความกล้าของชายผู้นั้น อีกครู่หนึ่ง วีรพลไปถึงป่าช้าได้เห็นหญิงงามผู้หนึ่งฉวีเหลืองอ่อน ประดับกายด้วยเพชรพลอยตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มือหนึ่งถือเขา มือหนึ่งถือสร้อยคอ ประเดี๋ยวก็ย่างเท้าเต้นไปมา ประเดี๋ยวก็โดด ประเดี๋ยวก็วิ่งไปรอบๆ ประเดี๋ยวก็ทอดตัวลงพาดบนดิน เอามือตีศีรษะตนเอง ร้องไห้คร่ำครวญ แต่จะหาน้ำตามิได้

วีรพลเห็นดังนั้น ไม่ทราบว่านางคือนางฟ้าผู้เกิดจากเกษียรสมุทรแลเป็นที่รักของชาวฟ้าทั่วไป จึงถามว่า "นางคือใคร มาตีตัวร้องไห้คร่ำครวญเช่นนี้เพราะทุกข์อันใด" นางตอบว่า "ข้าคือราชลักษมี" วีรพลถามว่าเหตุใดนางจึงโศกฉะนี้เล่า

นางจึงกล่าวชี้แจงให้วีรพลฟังว่า ในพระราชวังแห่งพระราชานั้น มีผู้กระทำการลามกอย่างที่กระทำกันเป็นปกติในหมู่ชนซึ่งเป็นศูทรมีวรรณะต่ำ เหตุฉะนั้นความเสื่อมจะมีมาสู่พระราชฐาน อันเป็นที่ซึ่งนางเคยอยู่มา แลจะต้องละทิ้งไปในบัดนี้ อีกประมาณเดือนหนึ่งพระราชาจะประชวรหนักถึงสิ้นพระชนม์ นางมีความเสียใจจึงร้องไห้ นางอยู่มาในราชสำนักได้นำความสุขมาให้มาก เหตุดังนั้นจึงเสียใจหนัก ที่ทราบว่าคำทำนายของนางจะไม่เป็นไปจริงมิได้เลย



วีรพลถามว่า "ภัยที่นางกล่าวนี้ จะหาทางป้องกันเพื่อรักษาชีวิตพระราชาไว้ให้ยั่งยืนร้อยปีไม่ได้หรือ" นางตอบว่า "ทางป้องกันมีอยู่ที่อาจทำได้ คือ ตั้งแต่นี้ไป ทางตะวันออกไกลประมาณ ๓ โกรศ มีศาลพระเทวีศาลหนึ่ง ถ้าท่านตัดศีรษะบุตรของท่านด้วยมือท่านเอง นำถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี พระราชาจะทรงพระชนมายุยืนยาวไปชั่วกาลนาน จะมีภัยอันใดมาพ้องพานนั้นหาไม่"

นางราชลักษมีกล่าวเช่นนั้นแล้วก็อันตรธานหายไป ฝ่ายวีรพลเมื่อได้รับความรู้เช่นนี้แล้ว ก็มิได้กล่าวประการใด หันกลับรีบเดินไปสู่บ้านแห่งตน พระราชาก็ทรงพระดำเนินลอบตามไปมิให้วีรพลรู้ตัว ได้ทอดพระเนตรกิริยาแลทรงฟังคำพูด ทราบแจ้งในพระหฤทัยทุกประการ



ฝ่ายวีรพลเมื่อออกจากป่าช้าแล้วก็รีบเดินไปปลุกภริยาขึ้นเล่าความให้ฟังทุกประการ กล่าวความประพฤติระหว่างสามีกับภริยา ปราชญ์ผู้เป็นกวีโบราณแสดงไว้ว่า



o นางใดฟังสามี เชื่อถือดีด้วยวาจา

อีกทั้งกิริยา โอนอ่อนรับเพราะนับถือ

o นางนั้นได้ชื่อว่า ภริยาที่ดีคือ

เกียรติ์เฟื่องเลื่องบรรลือ ได้ชื่อว่าชายจริงฯ



ดังนี้เมื่อนางได้ฟังถ้อยคำสามีแล้วก็รีบปลุกลูกชายขึ้น ฝ่ายลูกหญิงเมื่อได้ยินปลุกพี่ชายก็พลอยตื่นขึ้นด้วย วีรพลก็พาเมียแลลูกเดินไปสู่ศาลพระเทวี

เมื่อเดินไปตามทางวีรพลกล่าวแก่เมียว่า "ถ้าเจ้ายินยอมให้ลูกชายของเจ้าโดยเต็มใจ ข้าผู้เป็นสามีจะทำลายชีวิตเด็กนั้นถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี เพื่อความยืนพระชนม์แห่งพระราชาผู้เป็นเจ้าของเรา"

นางตอบว่า "พ่อแลแม่ บุตรแลธิดา พี่น้องแลวงศ์ญาติทั้งปวงในเวลานี้นับว่าข้าพเจ้าไม่มีเสียแล้ว ข้าพเจ้ามีท่านผู้เดียวเป็นผู้แทนพ่อแม่ลูกแลพี่น้อง คัมภีรศาสตร์ย่อมกล่าวว่า ภริยานั้นจะบริสุทธิ์ด้วยทำทานแก่นักบวช หรือด้วยกระทำการบูชายัญก็หาไม่ นางใดปฏิบัติสามีด้วยดี นางนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองธรรม แม้สามีจะเป็นผู้ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นผู้เสียมือ หรือใบ้ หูหนวก ตาบอดตาเดียว เป็นกุดถังหรือหลังค่อม ภริยาก็จำต้องปฏิบัติด้วยดีทั้งนั้น คำโบราณกล่าวความจริงไว้ว่า



O ใครมีบุตรว่าง่ายกายปราศจากไข้ มีหทัยเสาะหาวิชาขลัง

ทั้งมีเพื่อนฉลาดเฉลียวช่วยเหนี่ยวรั้ง มีเมียฟังถ้อยคำประจำใจ

ผู้นั้นดีมีบุญอาจจุนค้ำ โลกให้จำเริญสุขปลดทุกข์ได้

ชนทั้งหลายคลายร้อนหย่อนแยงภัย เพราะเขาให้ความสุขปราศจากทุกข์เจียวฯ

O อนึ่งบ่าวเกียจคร้านการรับใช้ พระราชาเป็นใหญ่ใจขี้เหนียว

อีกเพื่อนใจไม่จริงพิงข้างเดียว เมียเด็ดเดี่ยวไม่ฟังคำบังคับ

ทั้งสี่นี้ปลดสุขพาทุกข์สู่ เหมือนศัตรูเข้ามาเวลาหลับ

จักป้องกันฉันใดไม่ระงับ เหลือจักรับจักรบจักหลบลี้ฯ"



นางกล่าวแก่สามีดังนี้แล้ว ก็หันไปกล่าวแก่บุตรว่า "ลูกเอย ถ้าเรายอมสละหัวของเจ้าเป็นเครื่องบูชาพระเทวี ชีวิตแห่งพระราชาจะรอดได้ แลบ้านเมืองจะดำรงสุขสืบไป"

ลูกชายได้ฟังแม่กล่าวดังนั้น แม้ยังอ่อนอายุ ยังกล่าวตอบดังซึ่งเราท่านไม่น่าจะเชื่อว่าเด็กพูดได้ แต่พึงระลึกว่าในสมัยโน้น แม้แต่นกแก้วนกขุนทองยังพูดสันสกฤตได้คล่องดีกว่าท่านแลข้าพเจ้าเหลือจะพรรณนา เด็กคนนั้นเป็นคนแล้วมิหนำซ้ำกล่าวกันว่าเป็นเด็กฉลาดนักด้วย เหตุดังนั้นการที่พูดเพียงเท่านี้ไม่ประหลาดอะไร ถ้าประหลาดก็ประหลาดด้วยพูดน้อยไปเสียอีก



ลูกชายกล่าวว่า "ข้าแต่นางผู้เป็นมารดา ข้าพเจ้าเห็นว่าเราจะรีบเร่งให้การอันนี้เป็นไปโดยเร็ว เพราะเหตุว่า ประการที่ ๑ ข้าพเจ้าผู้บุตรจำต้องเชื่อฟังคำสั่งของมารดา ประการที่ ๒ ข้าพเจ้าจำต้องยังความเจริญให้มีแก่พระราชาผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ประการที่ ๓ ถ้าชีวิตแลร่างกายของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์แก่พระเทวี ก็ไม่มีทางใดที่ข้าพเจ้าจะใช้ชีวิตแลร่างกายของข้าพเจ้าให้ดียิ่งไปได้"



เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ จึงกล่าวแก่พระราชาวิกรมาทิตย์ว่าพระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า ที่ได้นำเอาคำพูดคนเหล่านั้นมากล่าวยืดยาว เด็กเล็กๆ ซึ่งกำลังจะถูกเชือดคอนั้น พูดจาราวกับอาจารย์ธรรมศาสตร์ ฟังอยู่ค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย



เวตาลเล่าเรื่องต่อไปว่า เมื่อเด็กได้กล่าวแก่มารดาแล้วก็เหลียวไปกล่าวแก่บิดาว่า "ข้าแต่ท่านบิดา ผู้ใดได้กระทำการเป็นคุณประโยชน์แก่นายของตน ชีวิตของผู้นั้นนับว่าไม่เปลืองไปเปล่า แลเพราะเหตุที่ได้ใช้ชีวิตในทางที่เกิดประโยชน์ ผู้นั้นก็คงจะได้รับรางวัลในโลกหน้าๆ ต่อไป"



ฝ่ายลูกหญิง เมื่อได้ยินบิดามารดาแลพี่ชายพูดกันมาเพียงนี้ก็กล่าวสอดขึ้นบ้างว่า " ถ้ามารดาวางยาพิษให้ลูกหญิงกลืน ถ้าบิดาขายลูกชายของตน ถ้าพระราชายึดถือเอาหลักทรัพย์สมบัติทั้งปวงของประชาราษฎร์ไปเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง ดังนี้ใครจะได้อะไรเป็นที่พึ่งพำนักเล่า "



ลูกหญิงพูดดังนี้ไม่มีใครฟัง คนทั้งสี่ก็พากันเดินไปจนถึงศาลพระเทวี พระราชาก็เสด็จด้อมตามไปจนตลอดทาง อีกครู่หนึ่งไปถึงศาลพระเทวี เป็นเรือนห้องเดียวมีชาลารอบ ข้างหน้ามีเรือนหลังใหญ่ซึ่งคนอาจเข้าไปนั่งได้หลายร้อยคน หน้าเทวรูปนองไปด้วยเลือดอันไหลจากสัตว์มีชีวิต ซึ่งมีผู้ได้ฆ่าเพื่อการบูชาในศาลนี้ เทวรูปนั้นดำใหญ่ มีกร ๑๐ กร หัตถ์ขวาหัตถ์หนึ่งถือหอกแทงอสูรชื่อมหิษ หัตถ์ซ้ายหัตถ์หนึ่งถือหางงูแลผมแห่งมหิษ แลงูนั้นกัดหน้าอกอสูร กรอื่นๆ ถืออาวุธต่างๆ เงื้อง่าอยู่เหนือพระเศียร แลที่ข้างบาทนั้นมีสิงห์ยืนพิงอยู่ตัวหนึ่ง



ฝ่ายวีรพลเมื่อไปถึงศาล ก็พนมมือนมัสการแลกล่าวคำวิงวอนพระเทวีว่า "ข้าแต่พระเทวีเป็นเจ้า ข้าพเจ้าจะประหารชีวิตลูกชายถวายเป็นเครื่องบูชาพระองค์ ขอพระองค์จงอำนวยให้พระราชาทรงชนมายุยืนยาวไปจวบพันปีเถิด โอ้พระมารดา พระองค์จงทำลายศัตรูของพระราชาเสียเถิด จงทรงฆ่าแลทำให้ศัตรูเหล่านั้นเป็นเถ้าถ่านไปให้สิ้น หรือไล่มันไปเสียให้สิ้น พระองค์จงตัดมันทั้งหลายให้เป็นท่อนแลเสวยเลือดมัน พระองค์จงล้างแลทำลายมันเสียด้วยวัชระ ด้วยโตมร ด้วยขรรค์ ด้วยจักร ด้วยบาศอันเป็นอาวุธของพระองค์"



วีรพลกล่าวดังนั้นแล้ว ก็บอกให้ลูกชายคุกเข่าลงตรงหน้าเทวรูปแล้วฟันด้วยดาบถูกคอขาด หัวกระเด็นไปกลิ้งอยู่บนพื้นชาลาแล้วโยนดาบขว้างไปไกลตัว ฝ่ายลูกหญิงเมื่อเห็นพี่ชายคอขาดกระเด็นไปดังนั้น ก็วิ่งเข้าไปฉวยเอาดาบเชือดคอตนเองสิ้นไปชีวิตลงไปอีกคนหนึ่ง นางผู้เป็นมารดาเห็นลูกชายแลลูกหญิงสิ้นชีวิตลงไปดังนั้น เหลือที่จะสะกดใจไว้ได้ ก็วิ่งไปหยิบดาบฟันคอตนเองตายลงไปอีกเป็น ๓ ศพด้วยกัน



ฝ่ายวีรพลเมื่อเห็นดังนั้น จึงกล่าวแก่ตนว่า "ลูกเราก็ตายหมดแล้ว กูจะอยู่รับใช้พระราชาไปทำไมเล่า เมื่อได้ทองคำเป็นรางวัลจากพระราชาก็ไม่มีลูกจะรับช่วงต่อไปอีกแล้ว" คิดดังนี้ วีรพลก็เอาดาบฟันคอตนเองล้มลงขาดใจตาย



ฝ่ายท้าวรูปเสนพระราชาทรงแอบดู ทอดพระเนตรเห็นหัว ๔ หัว ขาดจากตัว ๔ ตัว กลิ้งอยู่หน้าศาลดังนั้น ก็ทรงสลดพระหฤทัย ทรงคำนึงว่า "พ่อแม่ลูกทั้ง ๔ นี้ได้สละชีวิตไปแล้วเพื่อประโยชน์แก่เรา โลกนี้กว้างใหญ่ก็จริง แต่หาคนที่ซื่อสัตย์กล้าหาญถึงเพียงนี้หาไม่ได้ ใครบ้างจะสละชีวิตเช่นนี้เพื่อสนองคุณพระราชา แต่มิได้บอกกล่าวโอ้อวดให้ใครทราบเลย อำนาจแลความเป็นพระราชาของเรานี้ ถ้าจะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยต้องทำลายชีวิตคนถึงปานนี้ ก็สิ้นความสำราญแลเป็นบาป มิได้ผิดอะไรกับถูกแช่ง เราคงจะครองราชัยไปก็หายุติธรรมมิได้"



พระราชาทรงดำริเช่นนี้แล้ว ก็ทรงหยิบดาบขึ้นจะประหารชีวิตพระองค์เอง แต่เทวรูปพระเทวีทรงยึดพระหัตถ์ไว้ รับสั่งห้ามมิให้พระราชาประหารพระองค์เอง แลให้ทรงขอพรแล้วแต่พระประสงค์ ฝ่ายท้าวรูปเสนเมื่อพระเทวีตรัสให้ขอพรดังนั้น ก็ทูลขอให้ประทานคืนชีวิตวีรพลแลลูกเมีย ในพริบตาเดียว พระเทวีก็ทรงได้น้ำอมฤตจากบาดล ทรงพรมศพทั้งสี่ศพนั้น หัวกับตัวก็กลับมาติดกัน คืนชีวิตขึ้นมาทั้งสี่คน



ท้าวรูปเสนก็ตรัสให้คนทั้งสี่เดินตามเสด็จกลับพระราชวัง อยู่มาไม่ช้า ท้าวรูปเสนก็แบ่งราชสมบัติประทานให้วีรพลครอบครองตามสมควร



เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า " ข้าซึ่งไม่เสียดายชีวิตตนเอง ในการรักษาชีวิตเจ้านั้นเป็นข้าที่มีความสุข แลเจ้าซึ่งอาจตัดรกรากแห่งความใคร่เป็นใคร่อยู่ แลความจำเริญในราชสมบัติได้นั้นเป็นเจ้าซึ่งมีความสุข ๓ เท่า

ดูกรพระราชา ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์สักข้อหนึ่งว่า บรรดาคนทั้งห้านั้น คนไหนจะโง่ที่สุด"



พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังก็แสดงอาการพิโรธ เพราะความถูกพระหฤทัยในเรื่องความซื่อต่อหน้าที่ ในเรื่องความรักกันในเหล่าบุตรแลสามีภรรยา ในเรื่องผู้น้อยฟังคำผู้ใหญ่ ในเรื่องคนมีใจใหญ่แลใจมั่นคงเหล่านั้นกลับกระจัดกระจายไปหมดเพราะเวตาลกลับกล่าวว่าเป็นความโง่เสียแล้ว แลเพราะเหตุที่กริ้วดังนั้นจึงรับสั่งด้วยสำเนียงโกรธว่า



"อ้ายผี ถ้าคำที่เอ็งกล่าวว่าคนไหนโง่ที่สุดนั้นหมายความว่า คนไหนมีน้ำใจควรเป็นที่นับถือที่สุด กูจะตอบได้ทันทีว่าคือท้าวรูปเสนผู้เป็นพระราชา"



เวตาลถามว่า "เหตุไรจึงทรงเห็นอย่างนั้น" พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "เอ็งเป็นผีปัญญาตัน ไม่อาจเข้าใจได้ วีรพลนั้นมีหน้าที่จะสละชีวิตของตนให้แก่เจ้า ซึ่งมีกรุณาให้ลาภถึงเพียงนั้น บุตรชายของวีรพลจะขืนคำบิดานั้นไม่ได้เป็นอันขาด แลส่วนหญิงเมื่อใครฆ่ากันที่ไหนให้เห็นเป็นตัวอย่างก็ต้องฆ่าตัวเองเป็นธรรมดาตามนิสัยผู้หญิง แต่ท้าวรูปเสนนั้นทรงสละราชัยของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่วีรพลผู้เป็นข้า แลไม่ตีราคาชีวิตของพระองค์ แลราชสมบัติซึ่งเป็นของชวนให้อยากมีชีวิต ยิ่งกว่าราคาท่อนฟางท่อนหนึ่งเลย เหตุดังนั้นกูจึงเห็นว่าการที่พระราชาทรงกระทำนั้น เป็นบุญแลควรสรรเสริญยิ่งกว่าผู้อื่น"



เวตาลหัวเราะตอบว่า "ดูกรพระราชา แม้พระองค์มีแขนแลขาอย่างหนุมาน พระองค์ก็จะต้องเบื่อปีนต้นไม้สูงโน้นบ้างดอกกระมัง" พูดเท่านั้นแล้ว เวตาลก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะก้องฟ้าคืนไปห้อยอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตร ก็หันพระพักตร์ทรงดำเนินกลับไปต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง

นิทาลเวตาล เรื่องที่ ๒

ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้วก็ยืนตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงหันพระพักตร์พาพระราชบุตรดำเนินไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็ปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุลงย่ามแบกดำเนินกลับมา เวตาลก็เล่าเรื่อง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้




ในเมืองโภควดี มีพระราชกุมารองค์หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าทรงเกียรติคุณ แลทรงศักดิ์ประดุจดังพระราชบุตรแห่งพระองค์ซึ่งตามเสด็จอยู่ ณ บัดนี้ เวตาลทูลดังนั้น ประสงค์จะทูลพระราชาทางอ้อมแต่พระราชามิได้รับสั่งประการใดเพราะไม่โปรดการยอ แต่ถ้าจำเป็นใครจะต้องยอใครแล้ว พระวิกรมาทิตย์โปรดให้ยอพระองค์เอง ไม่ต้องให้ยอผ่านคนอื่น พระหฤทัยในข้อนี้เนาวรัตนกวีย่อมทราบ แลใช้เป็นหลักในการยอพระเกียรติ แลใช้การยอพระเกียรติเป็นหลักแห่งความมั่งคั่งของเจ้าบทเจ้ากลอนทั้งเก้านั้น



เวตาลเล่าต่อไปว่า พระราชกุมารองค์นั้นทรงนาม พระรามเสน เป็นพระราชบุตรของพระราชาธิบดี ซึ่งข้าพเจ้าจำต้องกล่าวว่าผิดกับพระองค์มาก เพราะพระราชาองค์นั้นโปรดเข้าป่าล่าเนื้อ โปรดเล่นสกา โปรดบรรทมกลางวัน เสวยน้ำจัณฑ์กลางคืน โปรดความสำราญซึ่งเป็นไปในทางกาม ประกอบด้วยคุณชั่วหลายอย่าง คุณดีหายากแต่เป็นที่รักที่นับถือของพระราชบุตรแลธิดา เพราะเธอทรงเอาใจใส่ที่จะให้เป็นเช่นนั้น เธอไม่วางลงเป็นบัญญัติมาแต่สวรรค์ว่าจะมีเหตุอันควรก็ดี มิมีก็ดี ลูกจำเป็นต้องรักพ่อให้เต็มความรักซึ่งมีในใจ มิฉะนั้นก็ต้องตกนรก ไม่เหมือนพ่อแม่บางคนซึ่งถือตัวว่าทรงคุณธรรมอันดี แต่ใช้ลูกวิ่งตามหลังประหนึ่ง...

เวตาลพูดไม่ทันขาดคำ พระวิกรมาทิตย์ทรงพิโรธเป็นกำลังก็เอื้อมพระหัตถ์ไปข้างหลัง จับแขนเวตาลเต็มกำกระชากด้วยกำลังแรง เวตาลร้องโอยๆ เหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แต่ถ้าจะสังเกตก็เหมือนแกล้งร้องเป็นเชิงเยาะเย้ย ไม่ใช่ร้องด้วยเจ็บ เพราะเมื่อพระราชาหยุดกระชาก เวตาลก็กล่าวต่อไปด้วยสำเนียงแจ่มใสว่า



พ่อทั้งหลายแบ่งเป็นสามประเภท แลถ้าจะกล่าวการจำแนกประเภทแห่งแม่ก็ฉันเดียวกัน พ่อประเภทที่หนึ่ง เป็นคนชนิดที่กล่าวได้โดยอุปมาว่า มีอกกว้างสามศอก มีใจกว้างตามขนาดแห่งอก พ่อชนิดนี้เป็นคนใจดี ชอบสนุก เอาใจลูก มักจะจน แต่ลูกรักเหมือนเทวดา พ่อประเภทที่สองอกกว้างเพียงศอกคืบ มีใจแคบเข้ามาตามส่วนแห่งอก พ่อชนิดนี้ถ้าได้ยินข้าพเจ้าพูดดังที่พระองค์ได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ก็คงคิดในใจว่าอ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง คิดดังนั้นแล้วก็กลับไปบ้าน ปฏิบัติการเอาใจลูกเป็นขนานใหญ่ แต่ไม่ช้าก็กลับเป็นอย่างเก่าเพราะความเที่ยงในใจไม่มี พ่อประเภทที่สามเป็นคนอกกว้างศอกเดียวไม่มีเศษ สมมุติเป็นที่สุดแห่งความแคบ แลใจก็ได้ขนาดกับอก

พระองค์ผู้เป็นพระราชาธิบดีอันสูงสุด เป็นตัวอย่างพ่ออกศอกเดียวคือประเภทที่สามนี้ เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเรียนวิชาซึ่งมีผู้สั่งสอนถวาย เช่น ความรู้ที่ว่าไม้เรียวเป็นต้นไม้ซึ่งคนอาจปีนขึ้นไปได้ถึงสวรรค์เป็นต้น ครั้นพระองค์ทรงชนมายุถึงมัชฌิมวัย ก็ทรงใช้ความรู้ที่เรียนมาในเบื้องต้น ทรงปลูกไม้เรียวสำหรับให้พระราชบุตรปีนขึ้นไปสู่ทิพยโลก พระองค์จะสอนอะไรตนเองก็สอนไม่ได้ ก่อนที่หนวดแห่งพระองค์งอกงามเป็นช่อ ครั้นเมื่องอกงามแล้วใครจะสอนอะไรพระองค์ก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าใครเพียรจะทำให้พระองค์เปลี่ยนความเห็น พระองค์ก็กล่าวคำที่กวีโง่ๆ กล่าวไว้ว่า



o อะไรใหม่มิใช่ความจริงแน่ ความจริงแท้เกิดใหม่เกิดได้หรือ

อะไรใหม่ไม่จริงทุกสิ่งคือ อะไรจริงใช่ชื่อว่าใหม่เอย ฯ



แต่พระองค์ก็เป็นประโยชน์แก่โลกเหมือนสิ่งอื่นๆ ในแผ่นดิน เมื่อทรงชนมายุก็อยู่เหมือนอูฐซึ่งรับใช้การ เมื่อสิ้นชนมายุแล้ว เถ้าแลถ่านอัฐิแห่งพระองค์ก็ประสมธาตุอย่างเดียวกับเถ้าแลถ่านอัฐิแห่งผู้มีปัญญา

พระราชาทรงจับย่ามกระชาก เวตาลร้องเหมือนเจ็บ ครั้นพระราชาทรงหยุดกระชาก มันก็หัวเราะแล้วทูลต่อไปว่า ข้าพเจ้ากล่าวตรงไปตรงมามิได้อ้อมค้อม เพราะถ้าไม่พูดตรง จะต้องพูดยืดยาวจึงจะได้ความเท่าที่พูดนี้ บัดนี้จะทูลเล่าเรื่องต่อไปว่า



ครั้นพระราชากรุงโภควดีเป็นอากาศปนกับอากาศไปแล้ว พระรามเสนก็ได้รับราชสมบัติเป็นมรดกสืบไป พระรามเสนมีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งได้รับเป็นมรดกจากพระราชบิดา นกแก้วตัวนี้เป็นมรดกมีค่ายิ่งทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย มีชื่อว่า จุรามัน พูดสันสกฤตคล่องราวกับบัณฑิต รู้ศาสตร์ทั้งหลาย แลมีความคิดราวกับเทวดา เว้นแต่ถ้าเทวดาจะไม่มีความคิดแล้วก็จนใจอยู่ นกจุรามันนี้เป็นที่ปรึกษาของพระราชาองค์ใหม่ในกิจส่วนพระองค์แลราชการบ้านเมืองทั่วไป



วันหนึ่งพระราชาตรัสแก่นกจุรามันว่า "เจ้ามีความรู้ทุกอย่าง เจ้าจงบอกแก่ข้าว่าข้าจะหานางได้ที่ไหนผู้จะเป็นคู่สมควรแก่ข้าทุกประการ คัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า ชายจะมีเมียไม่ควรเลือกหญิง ในสกุลซึ่งกล่าวต่อไปนี้ แม้สกุลจะมั่งคั่งด้วยโค ด้วยแพะ ด้วยแกะ ด้วยทองแลด้วยธัญญาหารก็ต้องห้าม ถ้าเป็นสกุลซึ่งไม่กระทำการบูชาตามบัญญัติ ในคัมภีรศาสตร์ หรือเป็นสกุลซึ่งไม่มีลูกชาย หรือเป็นสกุลซึ่งไม่มีใครเคยเรียนพระเวท หรือเป็นสกุลซึ่งคนมีขนขึ้นมากตามกาย หรือเป็นสกุลซึ่งมีโรคติดต่อกันมาแต่ปู่แลบิดา ชายจะเลือกภริยาควรเลือกนางซึ่งมีกายไม่มีตำหนิ ซึ่งมีนามไพเราะ ซึ่งเดินงามเหมือนช้างอ่อนอายุ ซึ่งมีฟันแลผมพอดีทั้งขนาดแลปริมาณ ซึ่งมีกายอันอ่อนนุ่ม คัมภีรศาสตร์กล่าวเช่นนี้ เจ้าจะเห็นนางที่ไหนสมควรแก่ข้าบ้าง"



นกจุรามันทูลตอบว่า "ข้าแต่พระราชา ในเมืองมคธมีพระราชาทรงนาม ท้าวมคเธศวร มีพระราชธิดาทรงนาม จันทราวดี นางนี้จะได้กับพระองค์เป็นแน่ นางประกอบด้วยความรู้แลงดงามนัก มีฉวีเหลืองแลนาสิกเหมือนดอกงา ชงฆ์เรียวเหมือนต้นกล้วย เนตรใหญ่เหมือนใบบัว คิ้วจดกรรณทั้งสองข้าง ริมพระโอษฐ์เหมือนใบมะม่วงอ่อน พักตร์เหมือนจันทร์เพ็ญ สำเนียงเหมือนนกกาเหว่า กร ยาวถึงเข่า ศอเหมือนคอนกเขา เอวเหมือนเอวสิงห์ เกศาห้อยยาวถึงเอว ทนต์เหมือนเมล็ดแห่งผลทับทิม ดำเนินเหมือนช้างเมามัน"

พระรามเสนได้ทรงฟังนกจุรามันชมโฉมนางดังนั้นก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย เราท่านทั้งหลายจะต้องคิดว่าพระรามเสนเป็นแขก อาจเห็นงามในทางซึ่งเราท่านเห็นน่าเกลียดเป็นที่สุด อนึ่งนกจุรามันเป็นนกแขกแล้วมิหนำซ้ำพูดสันสกฤตคล่องด้วย เหตุดังนั้นความเปรียบของนกคงจะผิดกับความเปรียบของท่านแลข้าพเจ้า ซึ่งไม่ใช่นกแลพูดสันสกฤตไม่เป็น



จะอย่างไรก็ตามคำชมโฉมของนกนั้น กระทำให้พระรามเสนคิดใคร่จะได้นางเป็นชายาแต่ยังไม่แน่ในพระหฤทัยทีเดียว จึงตรัสเรียกพระราชครูไทวะจินตกะเข้าไปเฝ้าตรัสถามว่า "ข้าจะได้ใครเป็นเมีย" พระราชครูตรวจตำราแม่นยำแล้วทูลว่า "นางที่จะเป็นพระราชชายาทรงพระนาม นางจันทราวดี ไม่ช้าคงจะได้มีการวิวาหะพระองค์กับนางองค์นั้น" พระราชาได้ทรงฟังก็ยินดี แม้ไม่เคยทรงเห็นนางก็เกิดรักแลใคร่เป็นกำลัง จึงทรงจัดให้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นทูตไปเฝ้าท้าวมคเธศวร ขอพระราชธิดา ทรงสัญญาแก่พราหมณ์นั้นว่า ถ้าจัดการสำเร็จจะประทานรางวัลให้สมกับความชอบ คำที่ทรงสัญญานี้เสมอกับทำให้ปีกงอกบนหลังพราหมณ์ มีคำกล่าวว่าไม่เคยมีใครเดินทางเร็วเท่าพราหมณ์คนนั้น



ฝ่ายพระราชธิดาท้าวมคเธศวรมีนกขุนทองตัวหนึ่งพูดสันสกฤตคล่องไม่หย่อนกว่านกแก้วของพระรามเสน นกขุนทองนั้นเป็นนางนกชื่อโสมิกา มีความรู้อยู่ในใจหลายร้อยเล่มสมุด จะหานกไหนทรงความรู้เช่นนั้นไม่มี ถ้าจะเว้นก็มีแต่นกแก้วของพระรามเสนกระมัง พระองค์ทรงทราบว่าในกาลโบราณ คนมีความรู้ทำสัตว์พูดได้แลเข้าใจภาษามนุษย์ แม้ภาษาสันสกฤตซึ่งใช้ไวยากรณ์ยากที่สุด นกก็พูดได้ไม่พลาดพลั้ง ดังนกชื่อจุรามัน แลนางนกชื่อโสมิกานี้เป็นตัวอย่าง

การทำให้นกพูดได้นี้ กล่าวกันว่าเป็นความคิดของนักปราชญ์คนหนึ่งซึ่งผ่าลิ้นนกออกให้เป็นสองภาค แล้วเปลี่ยนรูปสมองด้วยวิธีผูกรัดหัวกะโหลกเบื้องหลัง จนหัวกะโหลกเบื้องหลังยื่นออกมา ทำให้เกิดมันสมอง จนถึงรู้คิดแลพูดได้เป็นภาษาคน การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มีคุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมาก เหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหล ปราศจากสัตย์ นกก็พูดติเตียนจนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที่ ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึงเสื่อมด้วยประการเช่นนี้ ในปัจจุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ ก็พูดเหลวๆ เพราะความจำอย่างเดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป



วันหนึ่งนางจันทราวดีพระราชกุมารี ทรงนั่งตรัสกับนางนกในที่รโหฐาน ข้อความที่ตรัสนั้นไม่เป็นข้อความแปลก เพราะหญิงสาวในยุคทั้งหลายเมื่อพูดกับผู้ที่ไว้ใจสนิท จะเป็นเรื่องให้ช่วยพยากรณ์การภายหน้าก็ตาม ให้ทำนายฝันก็ตาม จะหารือความในใจก็ตาม ใจความที่พูดนั้นอย่าง เดียวกันหมด จะพูดเรื่องอื่นเป็นไม่มี เรื่องที่พูดนั้น เรื่องที่พูดนั้นพระองค์ควรทราบได้ด้วยไม่ต้องถามว่าอะไร พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอยู่ เวตาลก็กล่าวต่อไปว่า

นางจันทราวดีตรัสวนเวียนสักครู่หนึ่ง ก็ไปถึงปัญหาซึ่งได้ตรัสถามแล้วในเดือนนั้นประมาณร้อยครั้งว่า ชายที่สมควรเป็นสามีแห่งนางมีหรือไม่ นางนกทูลว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบได้ในวันนี้ อันที่จริงความมิดเมี้ยนในใจแห่งเราผู้เป็นหญิง..." นกทูลยังไม่ทันขาดคำ นางจันทราวดีชิงตรัสว่า "เจ้าจงหยุดแสดงธรรมในทันที มิฉะนั้นเจ้าจะต้องกินข้าวกับเกลือแทนข้าวกับไข่"



เวตาลกล่าวต่อไปว่า พระองค์ย่อมทราบว่านกขุนทองชอบกินข้าวกับไข่ ไม่ชอบข้าวกับเกลือ เมื่อนางจันทราวดีตรัสขู่ดังนั้นนกก็งดการสำแดงปัญญา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่ได้สดับต่อๆ กันมา นกทูลว่า "ข้าพเจ้าเห็นการภายหน้าได้ถนัด พระรามเสนพระราชาธิบดีครองกรุงโภควดี จะเป็นพระราชสามีแห่งนาง นางจะเป็นความสุขแก่พระรามเสน ดังซึ่งพระรามเสนจะเป็นความสุขแก่นาง เธอเป็นชายหนุ่มงดงาม มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ มีหฤทัยเผื่อแผ่แก่คนอื่น สนุกง่าย ไม่ฉลาดเกิน แลไม่มีโอกาสจะเป็นคนเจ็บได้เลย"

พระราชธิดาได้ฟังดังนั้น แม้ไม่เคยได้เห็นพระรามเสนก็บังเกิดความรักใคร่ กล่าวสั้นๆ พระราชาหนุ่มและพระนารีสาวต่างก็เป็นปฏิพัทธ์กันอยู่ไกลๆ แต่เพราะเหตุที่พระแลนางอยู่ในตำแหน่ง สูงสมควรกัน ความรักอยู่ห่างๆ จึงสำเร็จได้ดังประสงค์



เมื่อพราหมณ์ซึ่งพระรามเสนให้เป็นทูตไปกล่าวขอนางนั้น ไปถึงกรุงมคธ ท้าวมคเธศวรก็ทรงรับรองเป็นอันดี แลตรัสอวยพระราชธิดาแก่พระรามเสน ทรงแต่งให้พราหมณ์ในกรุงมคธไปกรุงโภควดีเป็นทางจำเริญไมตรี แล้วตรัสให้เตรียม การมงคล ฝ่ายพระรามเสนเมื่อทรงทราบข่าวดี ก็แช่มชื่นในพระหฤทัย ประทานรางวัลแก่พราหมณ์กรุงมคธเป็นอันมาก ครั้นถึงวันฤกษ์ดีก็ออกจากกรุงโภควดี แวดล้อมด้วยพหลแสนยากร รอนแรมไปในป่าจนถึงกรุงมคธ ก็เข้าเฝ้าท้าวมคเธศวร กระทำการเคารพแลแสดงไมตรีอันดี

ครั้นถึงฤกษ์งามยามบุญ ท้าวมคเธศวรก็จัดการวิวาหะพระราชธิดา มีการเลี้ยงดูอย่างใหญ่ มีการตกแต่งด้วยโคมไฟแลจุดดอกไม้เพลิง มีการสวดร้องตามซึ่งบัญญัติไว้ในพระเวท มีการแห่แลการดนตรี มีเสียงดังเอ็ดไปทั้งพระนคร ครั้นพิธีวิวาหะสำเร็จแล้ว นางจันทราวดีล้างขมิ้นจากพระหัตถ์แทบจะยังไม่ทันหายเหลือง พระรามเสนก็ทูลลาท้าวมคเธศวรพานางกลับกรุงโภควดี



นางจันทราวดีจะจากพระราชบิดาแลบ้านเมืองไปก็มีความสร้อยเศร้าจึงต้องพาโสมิกา คือนางนกขุนทองไปด้วย ไปตามทาง นางเล่าถึงนกแลความฉลาดของนกถวายพระสามี แลทั้งทูลว่านกเป็นผู้กล่าวพระนามพระราชาให้นางทราบก่อนที่ได้ยินทางอื่น

ฝ่ายพระรามเสนได้ทรงฟังก็เล่าถึงจุรามันนกแก้วของพระองค์ ทรงชี้แจงความฉลาดแลความรู้ของนกนั้น รวมทั้งข้อที่พูดสันสกฤตคล่องนั้นด้วย

พระราชินีได้ฟังดังนั้นก็ทูลพระราชาว่า "เมื่อนกสองตัวของเราวิเศษถึงปานนี้ก็ควรจะเลี้ยงในกรงเดียวกันแลให้วิวาหะกันโดยคนธรรพ์ลักษณะ นกทั้งสองจะได้เป็นสุข" พระราชินีได้วิวาหะใหม่ๆ ก็ใคร่จะจัดการวิวาหะให้คู่อื่นบ้าง ตามซึ่งมักจะเป็นไปโดยมากในหมู่หญิงสาวซึ่งได้ผัวใหม่ๆ

พระราชาตรัสว่า นางตรัสถูกแล้ว ถ้านกทั้งสองไม่มีคู่จะมีสุขอย่างไรได้ การที่ตรัสอย่างนี้เพราะพระองค์กำลังเพลินในการมีคู่ ย่อมจะนึกตามอารมณ์ของผู้มีเมียใหม่ว่านอกจากคนมีเมียแล้ว ไม่มีใครมีความสุขเป็นอันขาด ความทุกข์จะเกิดแก่ผู้มีเมียนั้นไม่อาจมีได้ในโลก



ครั้นสององค์เสด็จถึงกรุงโภควดีแล้ว ก็ตรัสให้เจ้าพนักงานยกกรงใหญ่มาตั้งจำเพาะพระพักตร์ ทรงจับนกปล่อยเข้าไปในกรงทั้งสองตัว ฝ่ายนกจุรามันเกาะอยู่บนคอนเอียงคอดูนกขุนทอง นางโสมิกานกขุนทองจับอยู่อีกคอนหนึ่ง ยกหน้าชูปากขึ้นไปบนฟ้าโดยกิริยาดูหมิ่นแล้วกระโดดไปเกาะคอนอื่นที่ห่างออกไป

นกแก้วนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็พูดภาษาสันสกฤตว่า "นางนกขุนทอง เจ้าคงจะกล่าวดอกกระมังว่า เจ้าไม่อยากได้คู่" นางนกขุนทองตอบในภาษาเดียวกันว่า "ท่านเดาเห็นจะไม่ผิด" นกแก้ว "เพราะเหตุไรเจ้าจึงไม่อยากมีคู่" นกขุนทอง "เพราะใจของข้าเป็นอย่างนั้น" นกแก้ว "นี่พูดอย่างผู้หญิงทีเดียว ข้าจะขอยืมคำพระราชาของข้ามากล่าวว่า ที่อธิบายเช่นนี้เป็นปัญญาหญิง คือไม่ใช่ปัญญาแลไม่ใช่อธิบายเลย เจ้าจะพูดให้แจ่มแจ้งกว่านี้สักหน่อยจะได้หรือไม่ หรือรังเกียจที่จะพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ"

นกขุนทองโกรธจนแทบจะลืมไวยากรณ์สันสกฤต ตอบว่า "ข้าไม่รังเกียจเลย ข้าจะบอกให้แจ่มแจ้งที่สุด บางทีจะแจ่มแจ้งเกินความพอใจของเจ้า พวกเจ้าซึ่งเป็นเพศชายย่อมประกอบขึ้นด้วยความบาป ความโกง ความล่อหลอก ความเห็นแก่ตัว ความปราศจากธรรมในใจ คล่องในการทำลายพวกเราซึ่งมีเพศเป็นหญิง เพื่อความสำราญของพวกเจ้า"



พระราชาตรัสแก่พระราชินีว่า "นางนกตัวนี้กล้าหาญ พูดจาไม่เกรงใจใครเลย" นกแก้วทูลพระราชาว่า "พระองค์จงถือว่าคำที่นางนกกล่าวนั้นเหมือนหนึ่งลมซึ่งเข้ากรรณนี้ไปออกกรรณโน้นเถิด (แล้วเหลียวไปพูดกับนกขุนทองว่า) นางนกขุนทอง พวกเจ้านั้นถ้าไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยความล่อหลอก แลความคดในใจแลความไม่รู้ ก็ประกอบขึ้นด้วยอันใดเล่า พวกเจ้ามีปรารถนาอยู่อย่างเดียวแต่จะไม่ให้มีชีวิตเป็นเครื่องสำราญได้ในโลกนี้เป็นอันขาด"



พระราชินีทูลพระราชาว่า "นกของพระองค์ตัวนี้ พูดจาก้าวร้าว ไม่ยำเกรงใครเลย" นกขุนทองทูลพระราชินีว่า "คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นอาจนำพยานมาสำแดงได้" นกแก้วทูลพระราชาว่า ข้าพเจ้าอาจนำนิทานมาเล่าให้ผู้หญิงเห็นจริงได้"

พระราชาแลพระราชินีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตกลงกันให้นกทั้งสองนำหลักฐานมาสำแดง เป็นพยานคำที่กล่าว พระราชินีขอให้นกขุนทองแสดงก่อน พระราชายอมตกลง นางนกขุนทองกล่าวดังนี้



นิทานของนกขุนทอง



เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ามาเป็นข้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าเคยอยู่กับ นางรัตนาวดี ธิดาพ่อค้าผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ นางรัตนาวดีเป็นหญิงน่ารักน่าชมทุกประการ (นกขุนทองกล่าวเท่านั้นก็ร้องไห้ พระราชินีทรงสงสารก็รับสั่งปลอบโยนเป็นอันดี นกก็เล่าต่อไปว่า)



ใน เมืองอิลาบุรี มีพ่อค้ามั่งมีคนหนึ่ง ได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีบุตร พ่อค้าจึงทำโยคะคืออดข้าวเป็นต้น แลทั้งเที่ยวไปในบุณยสถานต่างๆ เพื่อจะขอลูก เมื่ออยู่บ้านก็อ่านปุราณะแลให้ทานแก่พราหมณ์ ด้วยประสงค์อันนั้น

ต่อมาพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้มีบุตรชายมาเกิดคนหนึ่ง พ่อค้ายินดีก็มีงานสมโภชลูกชายใหญ่โต ให้ทานแก่พราหมณ์ผู้สวดกลอนยอ แลพราหมณ์อื่นๆ เป็นอันมาก ผู้ที่จนก็ได้รับเงินแจกแลเสื้อผ้า ผู้ที่หิวก็ได้รับแจกอาหารแลของอื่นๆ เป็นอันมาก

พ่อค้าทำนุบำรุงเลี้ยงบุตรชายมาจนอายุได้ห้าขวบก็หาผู้มาสอนให้อ่านหนังสือ ครั้นโตขึ้นอีกก็ส่งให้ไปอยู่กับครูผู้มีชื่อว่ามีความรู้แลสั่งสอนดี บุตรชายโตขึ้นมีรูปสมบัติดูไม่ได้ เค้าหน้าเหมือนลิง ขาเหมือนขานกกระเรียน หลังโกงเหมือนหลังอูฐ พระองค์คงจะทราบภาษิตโบราณว่า ถ้าพบคนขาเขยกให้เชื่อใจได้ว่าพบความคด ๓๒ ข้อ ถ้าพบคนตาบอดข้างหนึ่ง พบความคด ๘๐ ข้อ ถ้าพบคนหลังกุ้งให้สวดมนต์อ้อนวอนพระมเหศวรให้คุ้มครองตน

บุตรชายพ่อค้านั้น เมื่อไปเรียนหนังสือกับครูก็มิได้ไปถึงครู ไปเที่ยวแวะเล่นเบี้ยกับเพื่อนที่เป็นพาลด้วยกัน ต่างคนมีใจชั่วและประพฤติทุจริตต่างๆ เมื่อพบผู้หญิงก็เข้าเกี้ยวชักชวนในเชิงกาม และกระทำการลามกจนบิดาเสียใจเป็นโรคหนักอยู่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่ความตาย



ครั้นบิดาสิ้นชีวิตแล้ว บุตรชายได้รับมรดกก็จ่ายทรัพย์เปลืองไปในการพนันแลบำรุงความชั่ว ไม่ช้าทรัพย์มรดกซึ่งได้รับเป็นอันมากนั้นก็สิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือ ครั้นทรัพย์ของตนหมดก็ทำลายทรัพย์เพื่อนบ้านจนในที่สุดเขาจับได้ว่าเป็นขโมย เผอิญหลบหลีกได้ไม่ถูกประหารชีวิตตามอาญาเมือง จนในที่สุดกล่าวลบหลู่เทวดาว่าให้แต่โชคร้าย แล้วหนีออกจากเมืองไปเดินป่าอยู่พักหนึ่ง ถึงเมืองซึ่งเป็นที่อยู่แห่ง เหมคุปต์ เศรษฐีผู้บิดานางรัตนาวดี ได้ยินชื่อเหมคุปต์ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อบิดาของตนยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้ทำการค้าขายติดต่อ จึงเข้าไปหาเหมคุปต์ แจ้งความว่าตนเป็นบุตรแห่งพ่อค้าที่ได้เคยค้าขายติดต่อกัน บัดนี้บิดาสิ้นชีวิตเสียแล้ว พูดเท่านั้นก็ร้องไห้ร่ำไรไปเป็นอันมาก



ฝ่ายเหมคุปต์ ครั้นได้ยินแลเห็นชายหนุ่มแต่งกายทรุดโทรมดังนั้น ก็ประหลาดใจแลคิดสงสาร จึงปลอบโยนซักถามว่าเหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ ชายหนุ่มหลังโกงเหมือนอูฐตอบว่า ข้าพเจ้าจัดสินค้าบรรทุกเรือไปค้าขายในเมืองอื่น ครั้นขายของหมดแล้ว ข้าพเจ้าซื้อสินค้าเมืองนั้น บรรทุกเรือจะกลับไปขายในเมืองของข้าพเจ้า แล่นใบไปในกลางทะเล ถูกพายุใหญ่เป็นอันตรายในทะเลทั้งเรือแลสินค้า ข้าพเจ้าเกาะกระดานลอยไปคนเดียว เผอิญยังไม่ถึงเวลาสิ้นชีวิต จึงรอดขึ้นฝั่งได้แลเดินทางมา จนถึงเมืองนี้ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าจะกลับไปเมืองของตนได้ เพราะสิ้นทรัพย์แล้วก็ไม่มีใครนับถือ ผู้ที่เป็นศัตรูก็มีแต่จะด่าว่าข่มขี่ต่างๆ บิดามารดาของข้าพเจ้าก็สิ้นชีวิตเสียนานแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ทั้งนี้ก็เป็นผลแห่งกรรมซึ่งกระทำไว้แต่ปางก่อน พูดเท่านั้นแล้วก็ร้องไห้ร่ำไรไป



ฝ่ายเหมคุปต์เศรษฐีได้ยินชายหลังอูฐร้องไห้เล่าเรื่องให้ฟังดังนั้นก็เกิดสงสารเป็นกำลัง จึงต้อนรับเลี้ยงดูให้ชายหลังอูฐอาศัยอยู่ในบ้านของตน ชายชั่วเห็นทางจะได้ดีด้วยทำดีก็ขืนใจปฏิบัติเป็นคนดี จนเหมคุปต์ไว้ใจให้มีส่วนในการค้าขาย ชายหนุ่มก็ยิ่งแสร้งทำดีจนเหมคุปต์ไว้ใจแลเอ็นดูยิ่งขึ้น



วันหนึ่งเหมคุปต์ตรึกตรองในใจว่า เรานี้มีความร้อนใจมาหลายปีแล้วเพราะบกพร่องในครอบครัว เพื่อนบ้านของเราก็ซุบซิบนินทาเรามาช้านาน บ้างก็พูดอ้อมค้อม บ้างก็พูดตรงๆ ว่า ธรรมดาคนมีลูกสาว เมื่อลูกอายุถึง ๗ ขวบ ๘ ขวบ พ่อก็ต้องจัดการให้มีผัว เพราะธรรมศาสตร์บัญญัติอย่างนั้น แต่บุตรสาวเหมคุปต์เศรษฐีนี้พ้นอายุที่ควรแต่งงานมาหลายปี จนบัดนี้อายุถึง ๑๓ หรือ ๑๔ ปี นางเป็นคนร่างใหญ่รูปอวบ ดูเหมือนหญิงอายุ ๓๐ ปีที่มีผัวแล้ว แต่บิดาก็ยังหาจัดการให้มีผัวไม่ บิดาจะกินแลนอนเป็นสุขอย่างไร การที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่ครหา เป็นโทษโดยคดีโลกแลคดีธรรม แม้ญาติวงศ์ที่สิ้นชีวิตไปแล้วย่อมได้ทุกข์เพราะเหตุที่ญาติในมนุษยโลกปล่อยลูกสาวไว้มิให้มีผัวจนป่านนี้ ข้อติเตียนข้อนี้ก็ทำให้เราเดือดร้อนมาช้านานแล้วแต่เรามิรู้จะแก้ไขอย่างไรได้ บัดนี้พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้เราสิ้นทุกข์ จึงบันดาลให้ชายหนุ่มนี้มาถึงบ้านเรา เขาก็เป็นคนดี ปฏิบัติอยู่ในคลองธรรมเป็นที่ชอบใจเรา จำเราจะยกลูกสาวให้แก่ชายหนุ่มนี้ตามโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา เราจะชักช้าต่อไปไม่ควร เพราะสิ่งใดที่จะทำได้ในวันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้



เหมคุปต์ตรึกตรองตกลงใจดังนี้แล้ว ก็ไปพูดกับภริยาว่า ความเกิด ๑ การวิวาหะ ๑ ความตาย ๑ ทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมเป็นไปแล้วแต่เทวดาจะบัญญัต ิ เราต้องการให้ลูกหญิงของเราได้ผัวที่เกิดในสกุลดี เป็นผู้มั่งมี เป็นผู้มีรูปงาม เป็นคนฉลาด แลเป็นผู้มีความสัตย์ แต่เราจะหาชายหนุ่มเช่นนั้นไม่ได้ เจ้ากล่าวว่าถ้าเจ้าบ่าวขาดคุณดีเหล่านี้ การวิวาหะก็จะไม่เป็นผลดังประสงค์ แต่ถ้าจะไม่ให้ลูกมีผัวไซร้ เราจะเอาเชือกผูกคอลูกเราถ่วงลงในคูนี้ก็ไม่ได้ เหตุดังนั้น ถ้าเจ้าเห็นว่าบุตรพ่อค้าซึ่งข้าได้รับเข้าไว้เป็นสหายในการค้าขายของข้านี้ เป็นคนดี ควรจะให้ลูกสาวเราได้ เราจะรีบจัดการวิวาหะโดยเร็ว



ภริยาเหมคุปต์ได้ยินสามีพูดดังนั้นก็ดีใจ เพราะชายหนุ่มหลังอูฐได้ล่อลวงให้ลุ่มหลงอยู่แล้ว นางจึงตอบสามีว่า เมื่อพระผู้เป็นเจ้าชี้ทางให้เห็นชัดอยู่เช่นนี้ ถ้าเราไม่ทำตามก็คือขืนคำเทพยดา เรามิได้ไปเที่ยวแสวงหาที่ไหน เจ้าบ่าวก็มีมาเอง เหตุดังนั้นเราไม่ควรจะชักช้าไปเลย ท่านจงรีบจัดการเถิด



สามีภริยาปรึกษากันเช่นนี้แล้วก็เรียกบุตรสาวเข้าไปหา นางนั้นงามสมควรเป็นที่รักของคนธรรพ์ นางมีเกศายาวอันเป็นสีม่วงอ่อน เพราะแสงแห่งความเป็นสาว เป็นมันเหมือนปีกแมลงภู่ ขนงบริสุทธิ์แลใสเหมือนโมรา แก้วประพาฬอันเกิดแต่ทะเลนั้น เมื่อเทียบกับริมฝีปากแห่งนาง แก้วประพาฬก็มีสีเผือดไป ทนต์ของนางเสมอกับไข่มุก ภาคต่างๆ ในกายนางล้วนประกอบขึ้นสำหรับเป็น ที่รักทั้งนั้น เมื่อใครได้เห็นเนตรแห่งนาง ก็ใคร่จะเห็นอีก แลเห็นอยู่เสมอไป ใครได้ยินเสียงนางก็ใคร่จะได้ยินดนตรีนั้นอยู่เสมอ ความดีของนางเสมอกับความงาม เป็นที่รักของบิดามารดาแลญาติพี่น้องทั่วไป เพื่อนฝูงของนางจะหาที่ตินางก็มิได้ ถ้าข้าพเจ้าจะเล่าคุณความดีของนางก็คงไม่มีเวลาสิ้นสุดได้ นกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ก็ร้องไห้ร่ำไรอยู่ครู่หนึ่งจึงเล่าต่อไป



เมื่อบิดามารดาเรียกนางรัตนาวดีมาบอกความประสงค์ให้ทราบ นางก็ตอบว่าแล้วแต่บิดามารดา เพราะนางไม่ใช่หญิงชนิดที่เกลียดอะไรไม่เกลียดเท่าชายที่พ่อแม่บัญชาให้รัก อันที่จริงข้าพเจ้าทราบว่านางจะดูชายหนุ่มที่จะเป็นเจ้าบ่าวก็ดูไม่ได้เต็มตา เพราะความขี้ริ้วของชายนั้น แต่ไม่ช้าความช่างพูดของเจ้าบ่าวก็ทำให้นางเกิดความนิยมขึ้นทีละน้อย แลทั้งนางรู้สึกคุณชายหนุ่มที่อุตส่าห์เอาใจใส่เอื้อเฟื้อต่อบิดามารดา นับถือความประพฤติของชายหนุ่มซึ่งแสร้งทำดี สงสารด้วยตกยาก จนในที่สุดก็ลืมความขี้ริ้วของชายนั้น

เมื่อก่อนการวิวาหะ นางได้สัญญาในใจไว้ว่า เมื่อแต่งงานแล้ว แม้หน้าที่แห่งภริยาจะไม่เป็นที่ชอบใจเพียงไร นางก็จะอุตส่าห์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ ครั้นแต่งงานแล้ว ความไม่พอใจในหน้าที่นั้นหามีไม่ นางกลับรักสามีเสียอีก ส่วนความขี้ริ้วของสามีนั้นไม่เป็นเหตุให้นางเกลียดชัง อันที่จริงกลับจะรักยิ่งขึ้นเพราะความขี้ริ้วนั้น



ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงฟ้าฉายความสุขลงมายังแผ่นดินอันมืดแลเต็มไปด้วยความซึมเซา เป็นมนตร์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติที่สูงกว่านี้ เป็นความสุขในขณะนี้แลเป็นทางพาให้คิดถึงสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่กลายเป็นความฉลาด ทำให้ความแก่เป็นความหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจแคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก ชักให้ความตรงกันข้ามมาเดินลงรอยเดียวกัน



นกขุนทองกล่าวดังนี้ พลางแลดูนกแก้ว นกแก้วกล่าวว่า ถ้าเอาคำโบราณมาพูดน้อยกว่านี้จะเป็นการสำแดงความคิดตนเองมากขึ้น การที่จำเอาคำเก่าๆ มากล่าวเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามทำนองผู้มีปัญญาเลย นกขุนทองกล่าวต่อไปว่า คำโบราณกล่าวว่า เสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี เหตุดังนั้นถึงชายหนุ่มหลังอูฐจะได้แสร้งประพฤติเป็นคนดีอยู่คราวหนึ่งก็หาดีได้จริงไม่



อยู่มาวันหนึ่ง ชายหนุ่มรำลึกในใจว่า ผู้มีปัญญาย่อมเอาตัวออกห่างจากความเหนี่ยวรั้งแห่งครอบครัว แลปลดตัวจากความรักลูกรักเมียแลรักบ้าน คิดดังนี้ชายหนุ่มจึงกล่าวแก่ภริยาว่า ข้าได้จากเมืองมาอยู่ในเมืองเจ้านี้ก็หลายปีแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวญาติพี่น้องในเมืองข้าเลย ใจข้าจึงเศร้า เจ้าจงกล่าวแก่แม่ของเจ้า ขออนุญาตให้ข้ากลับไปบ้านเมือง แลถ้าเจ้าจะใคร่ไปด้วยก็ได้ นางรัตนาวดีได้ยินสามีว่าดังนั้น ก็รีบไปบอกมารดาตามคำซึ่งสามีกล่าว มารดาได้ทราบก็ไปแจ้งแก่เหมคุปต์ เหมคุปต์ตอบอนุญาต ให้บุตรเขยกลับบ้านเมืองได้ตามใจ แลถ้าบุตรีจะยอมไปกับสามีก็อนุญาต ครั้นตกลงกันดังนี้แล้ว เหมคุปต์เศรษฐีก็ให้ทรัพย์สินแก่บุตรเขยเป็นอันมาก ทั้งให้แก่บุตรสาวอีกส่วนหนึ่ง แลจัดทาสีให้ไปด้วยคนหนึ่ง บุตรเขยแลบุตรสาวก็ลาออกเดินทางเข้าป่าไป



ฝ่ายชายหนุ่มหลังอูฐ พาภริยาเดินทางไปหลายวัน นิ่งตรึกตรองไม่ใคร่จะตกลงในใจว่าจะทำวิธีใดจึงจะทิ้งภริยาเสียได้ การที่จะพาไปยังเมืองของตนนั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเมื่อไปถึงเมืองเข้า นางก็จะจับเท็จทั้งปวงได้ อนึ่งชายหลังอูฐอยากได้นางเป็นภริยาก็เพราะอยากได้ทรัพย์สมบัติ ไม่อยากได้ตัวนางเอง ครั้นเมื่อพ้นตาพ่อแม่มาเช่นนี้ก็คิดหาทางจะทิ้งนางเสียแต่ตรึกตรองอยู่หลายวัน จนไปถึงป่าเปลี่ยวก็หยุดพักแล้วบอกแก่นางว่าตำบลนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม นางจงปลดเครื่องประดับกายทั้งปวงซึ่งมีค่าเป็นอันมากออกให้สามีซ่อนไว้ในไถ้ ครั้นนางทำตามแล้วชายสามีก็ล่อทาสีไปห่างที่ซึ่งภริยานั่งคอยอยู่ แล้วเอามีดเชือดคอทาสี ทิ้งศพไว้เป็นอาหารสัตว์ในป่า แล้วกลับไปหาภริยา ล่อให้เดินไปใกล้เหว แล้วผลักตกลงไปในเหว เผอิญก้นเหวนั้นมีกิ่งไม้แลใบไม้รองอยู่มากนางจึงไม่สิ้นชีวิต



ฝ่ายชายหลังอูฐครั้นผลักภริยาลงเหวแล้วก็รวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งปวงออกเดินทางไปสู่เมืองของตน ไม่ช้ามีชายอีกคนหนึ่งเดินมาในป่าเปลี่ยว ได้ยินเสียงคนร้องไห้ก็หยุดยืนฟังแลนึกในใจว่า ป่านี้เปลี่ยวนักหนา เหตุใดมีคนมาร้องไห้อยู่ในดงชัฏ ครั้นยืนฟังอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เดินไปในทางซึ่งได้ยินเสียงร้องไห้ ครั้นไปถึงเหวก็หยุดชะโงกดูเห็นผู้หญิงร้องไห้อยู่ก้นเหว ชายนั้นก็ปลดผ้าโพกแลสายรัดตัวออกต่อกันเป็นสายยาวหย่อนลงไปในเหว ร้องให้นางเอาปลายผ้าผูกตัวเข้าแล้วฉุดขึ้นมาได้ แลถามนางว่าเกิดเหตุอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้



นางรัตนาวดีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นบุตรีเหมคุปต์พ่อค้าเศรษฐีใหญ่ในกรุงจันทปุระ ข้าพเจ้าเดินทางมากับสามี พบโจรมีกำลังช่วยกันฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสียแล้วมัดสามีข้าพเจ้าพาตัวไป แลเมื่อได้ปลดเครื่องประดับกายของข้าพเจ้าออกหมดแล้วก็ผลักข้าพเจ้าตกอยู่ในเหวนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าสามีจะเป็นตายประการใด แลสามีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า ข้าพเจ้ายังอยู่หรือสิ้นชีวิตแล้ว

ชายเดินป่าได้ฟังนางเล่าดังนั้นก็เชื่อแลพานางไปเมืองจันทปุระส่งยังบ้านบิดา เมื่อนางไปถึงบ้านบิดาก็เล่าเรื่องอย่างเดียวกับที่เล่าให้ชายเดินทางฟัง



เหมคุปต์เศรษฐีได้ยินเรื่องก็สงสารบุตรี จึงกล่าวปลอบโยนว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าร้อนใจไปเลย ผัวของเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่เป็นแน่ ธรรมดาโจรย่อมจะแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ไม่แย่งชิงชีวิตผู้ไม่มีทรัพย์เหลือ เหตุดังนี้เมื่อไรพระผู้เป็นเจ้าโปรด ผัวของเจ้าก็จะกลับมาเมื่อนั้น จงตั้งใจคอยไปเถิด"

เหมคุปต์กล่าวปลอบบุตรีฉะนี้พลางจัดเครื่องประดับกายอันหาค่ามิได้ให้แก่บุตรีเป็นอันมาก ทั้งบอกกล่าวญาติพี่น้องแลมิตรทั้งปวงให้มาเยี่ยม แลปลอบโยนชี้แจงแก่นางรัตนาวดีโดยนัยเดียวกัน แต่นางก็มิได้วายเศร้า เพราะเรื่องในใจผิดกับเรื่องที่เล่าบอกแก่บิดาแลญาติมิตรทั้งนั้น



จะกล่าวถึงชายหลังอูฐ เมื่อผลักภริยาตกแหวแล้ว ก็รวบรวมของมีราคาทั้งหลายรีบไปยังเมืองของตน เพื่อนฝูงทั้งปวงก็ช่วยกันต้อนรับเป็นอันดี เพราะเหตุที่มีทรัพย์เป็นอันมาก เพื่อนนักเลงก็พากันมากลุ้มรุม ชวนเล่นชวนกินอย่างแต่ก่อน การพนันแลการเสพย์เครื่องมึนเมาต่างๆ ก็กลับทำ ตามเดิม โทษทั้งหลายก็กลับเกิด ทรัพย์สินทั้งหลายก็เปลืองไป ในที่สุดก็หมดลงอีกครั้งหนึ่ง ชนทั้งหลายที่เป็นสหายในการทำชั่วแลเป็นมิตรในการช่วยกันกินกันเล่นต่างก็ชักห่างออกไป



ในที่สุดเมื่อชายหลังอูฐสิ้นทรัพย์แน่แล้วก็ไม่มีใครคบค้าสมาคม เมื่อไปถึงบ้านผู้ที่เคยเป็นมิตรเขาก็ปิดประตูเสีย หรือมิฉะนั้นขับไล่ไม่ให้เข้าเรือน ชายหลังอูฐสิ้นปัญญาก็กระทำโจรกรรม จนเขาจับได้ก็ถูกเฆี่ยนตีลงโทษเป็นสาหัส ครั้นจะอยู่ในเมืองของตนต่อไปไม่ได้ ก็หนีออกจากเมืองอีกครั้งหนึ่ง เดินไปในป่า พลางคิดในใจว่า เราจะต้องกลับไปหาพ่อตาเล่านิทานให้ฟังว่า บัดนี้นางรัตนาวดีคลอดบุตรเป็นชายคนหนึ่งแล้ว เราจึงไปหาพ่อตาเพื่อจะบอกข่าวอันควรยินดีนี้ให้พ่อตาทราบ เราอาจจะได้ทรัพย์สมบัติอีกเพราะการไปบอกข่าวนี้



ชายหลังอูฐคิดดังนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าเดินไปเมืองจันทปุระ ตรงไปบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นไปถึงประตูบ้านก็ตกใจเป็นกำลัง เพราะเห็นนางรัตนาวดีภริยาลงจากเรือนวิ่งออกมารับ ในชั้นต้นคิดว่าผี เพราะนึกว่านางคงจะตายอยู่ในเหวนั้นเอง เมื่อคิดดังนี้ก็กลัวจึงหันหลังจะวิ่งหนี ต่อนางตะโกนเรียก จึงหยุดยืนลังเลด้วยเข้าใจว่านางคงจะกลับไปเล่าเรื่องให้บิดาฟังตลอด เมื่อเหมคุปต์มาพบเข้าก็จะคงจับตัวลงโทษเป็นแน่

ฝ่ายรัตนาวดีเห็นสามียืนลังเล มีสีหน้าอันซีดด้วยความกลัวเช่นนั้น ก็กล่าวแก่สามีว่า "ท่านอย่าสะดุ้งตกใจไปเลย ข้าพเจ้ามิได้เล่าความจริงแก่บิดาดอก ข้าพเจ้าได้เล่าว่าเราเดินทางไปกลางป่า พบโจรหมู่หนึ่งมีกำลังมาก โจรฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสีย แย่งเครื่องประดับจากกายข้าพเจ้าหมด แล้วผลักข้าพเจ้าตกลงในเหวแลทั้งมัดท่านพาตัวไป เมื่อท่านพบกับบิดาข้าพเจ้า ท่านจงเล่าเรื่องให้ตรงกัน เราทั้งสองก็จะกลับได้ความสุขเหมือนเดิม ท่านจงระงับความร้อนใจเสียเถิด ข้าพเจ้าดูอาการแห่งท่านเห็นว่าท่านจะได้ทุกข์มานักหนา เสื้อผ้าแลร่างกายจึงขะมุกขะมอมเหมือนเช่นที่เห็นอยู่นี้ ท่านจงตามข้าพเจ้าขึ้นมาบนเรือนแลผลัดเสื้อผ้าโสมมนี้ สวมเสื้อผ้าที่ดีแลกินอาหารซึ่งประกอบด้วยรสทั้งหก ท่านจงถือว่าเหย้าเรือนแลสมบัติเหล่านี้เป็นท่าน แลตัวข้าพเจ้าคือทาสีผู้จะปฏิบัติท่านให้ได้ความสุขทุกประการ"



ชายหลังอูฐได้ฟังภริยากล่าวดังนั้น แม้ตัวจะเป็นผู้มีใจบึกบึน ก็บังเกิดใจอ่อนแทบจะร้องไห้ จึงตามภริยาขึ้นไปบนเรือน ครั้นถึงห้องนางก็ล้างเท้าให้ แลจัดให้อาบน้ำชำระกาย แต่งเครื่องนุ่งห่มอย่างดีมีค่าแล้วนำเอาอาหารมาให้กิน

ครั้นเหมคุปต์เศรษฐีและภริยากลับมาถึงบ้าน นางรัตนาวดีก็พาสามีไปหาแลเล่านิทานให้ฟังว่า ฝูงโจรได้ปล่อยชายสามีกลับมาแล้ว เหมคุปต์แลภริยาได้ฟังก็ดีใจ จัดการให้บุตรเขยอยู่กินมีตำแหน่งในครอบครัวอย่างแต่ก่อน



ชายหนุ่มหลังอูฐได้กินอยู่มีความสุข ก็พักอยู่กับพ่อตา ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้นประพฤติตัวเป็นคนดี มีใจโอบอ้อมอารีต่อภริยา ผู้ที่ไม่รู้เรื่องไม่มีใครสงสัยว่าจะเป็นคนชั่วร้าย แต่การกระทำดีนั้นเป็นการขืนนิสัย จะทำได้อย่างมากก็พักหนึ่งเท่านั้น ไม่ช้าก็คบกับโจรในเมืองนั้น นัดหมายกันเข้า ปล้นบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นถึงวันนัดเวลาเที่ยงคืน นางรัตนาวดีกำลังหลับสนิท ชายหลังอูฐก็เอามีดแทงนางตาย แล้วเปิดประตูรับพวกโจรเข้าไปในเรือน ช่วยกันฆ่าเหมคุปต์แลภริยาตาย แล้วช่วยกันขนทรัพย์สมบัติล้วนแต่ที่มีราคาออกจากเรือนไป



นางนกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อไปว่า



เมื่อชายหลังอูฐเดินผ่านกรงข้าพเจ้า เวลาจะออกจากบ้านหนีไปนั้น มันแลดูข้าพเจ้าแลหยุดยืนจับประตูกรง จะ เปิดจับข้าพเจ้าออกมาหักคอ เผอิญหมาเห่าขึ้นมันตกใจก็รีบหนีไป ข้าพเจ้าจึงรอดชีวิตอยู่ได้ นางนกขุนทองร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่อีกครู่หนึ่งจึงทูลพระมเหสีว่า เรื่องนี้ข้าพเจ้ายินด้วยหู รู้ด้วยตามาเอง แลเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ ในเวลายังอ่อนอายุ จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารังเกียจชายทั้งหลาย จะขออยู่ไม่มีคู่ไปจนสิ้นชีวิต พระองค์จงทรงดำริว่า นางรัตนาวดีไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย ยังเป็นได้ถึงเพียงนั้นเพราะผู้ชายย่อมมีน้ำใจเป็นโจรทั้งหมด แลผู้หญิงซึ่งยอมเป็นมิตรกับชายนั้นเสมอกับเอางูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก





นางนกขุนทองทูลพระมเหสีเช่นนี้แล้วก็หันไปพูดกับนกแก้วว่า นี่แน่ะเจ้านกแก้ว ข้าได้เล่าเรื่องเป็นพยานคำของข้าแล้ว ข้าไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากจะกล่าวว่าผู้ชายทั้งปวงเป็นจำพวกคดโกงล่อลวงผู้อื่น เห็นแก่ตัวแลมีใจบาปหยาบร้ายหาที่สุดมิได้



นกแก้วทูลพระราชาว่า พระองค์จงฟังเถิด เมื่อหญิงกล่าวว่าไม่มีอะไรจะพูดที่เป็นข้อสำคัญจะอยู่ในคำแถมทั้งนั้น แลคำแถมย่อมจะยาวกว่าคำพูดที่พูดมาแล้วหลายสิบเท่า นางนกตัวนี้ก็ได้พูดมาจนน่าจะเบื่อเต็มทีอยู่แล้ว แต่อย่างนั้นยังนับว่าพึ่งจะขึ้นต้นเท่านั้น พระราชาตรัสว่าเจ้ามีเรื่องอะไรจะนำมากล่าวเป็นพยานคำติเตียนหญิง เจ้าก็จงเล่าไปเถิด นกแก้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องซึ่งเกิดแต่เมื่อข้าพเจ้ายังอ่อนอายุ แลทำให้ข้าพเจ้าทำความตกลงในใจว่าจะอยู่ไม่มีคู่ไปตราบจนวันตาย



นิทานของนกแก้ว



เมื่อข้าพเจ้าเป็นลูกนก ยังไม่ทันได้ร่ำเรียนอันใดก็ติดกรงหับ แล้วมีผู้นำไปขายพ่อค้าเศรษฐีชื่อ สาครทัต ซึ่งเป็นพ่อหม้าย มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางชัยศิริ สาครทัตกระทำการค้าขายกว้างขวาง มีธุระอยู่ที่ร้านตลอดวันแลครึ่งคืน ใช้เวลาในการก้มมองดูตัวเลขในบัญชี แลดุด่าเสมียนรับใช้ ไม่มีเวลาดูแลบุตรสาว นางชัยศิริประพฤติตนตามอำเภอใจแลอำเภอใจของนางนั้นไม่มีอำเภออันดีเลย



ชายทั้งปวงที่มีลูกสาว อาจกระทำผิดเป็นข้อใหญ่ได้สองทางคือ ระมัดระวังน้อยไปทางหนึ่ง ระมัดระวังมากไปทางหนึ่ง พ่อแม่บางจำพวกคอยจ้องมองดูลูกสาวมิให้คลาดตาไปเลย คอยสงสัยว่าลูกสาวมีความคิดชั่วร้ายในใจอยู่เป็นนิตย์ พ่อแม่ชนิดนี้มักจะเขลา แลเพราะเขลาจึงแสดงความสงสัยให้ลูกเห็น เมื่อลูกเห็นว่าสงสัยว่าคิดชั่วก็เสมอกับยุ เพราะหญิงสาวย่อมมีมานะโดยความคิด ตื้นๆ ว่า เราจะทำชั่วโดยเร็วให้สมกับโทษที่เราได้รับอยู่แล้ว ในเวลานี้เรายังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย แต่ก็ได้รับโทษเสมอกับว่าได้ทำชั่วมาช้านาน ความสำราญแห่งการทำชั่วนั้นเรายังไม่ได้รับ ได้รับแต่ทุกข์แห่งความทำชั่ว ไหนๆ ก็ได้รับทุกข์แล้ว เราจะทิ้งความสำราญเสียทำไมเล่า เราต้องรีบทำชั่วทันที เพราะเราได้ทุกข์มานานแล้ว เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ประพฤติการเป็นโทษต่างๆ ที่พ่อแม่ไม่อาจรู้เห็น เพราะพ่อแม่นั้นถึงจะระมัดระวังอย่างไร ลูกสาวก็คงหลบหลีกได้เสมอ พ่อแม่จะนั่งจ้องอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่ได้ ต้องมีเวลาหลับตาลงบ้าง

พ่อแม่อีกประเภทหนึ่ง ทำผิดในทางที่ระมัดระวังลูกสาวน้อยไป คือไม่ระมัดระวังเสียเลย ปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่เปล่าๆ ไม่มีอะไรทำเสมอกับฝึกหัดให้ขี้เกียจ แลเพาะพืชความชั่ว ปล่อยให้คบกับคนซึ่งมีความคิดบาป คือให้โอกาสให้ปฏิบัติเป็นโทษ หญิงสาวซึ่งบิดามารดาปล่อยตามอำเภอใจเช่นนี้ มักจะเดินเข้าสู่บ่วงซึ่งผู้มีเจตนาชั่ววางดักไว้แลประพฤติตัวเป็นโทษด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่ระมัดระวังตัวแล เพราะความล่อลวงของพวกมีเจตนาชั่ว อันเป็นชนจำพวกซึ่งมีความเพียรยิ่งกว่าผู้มีเจตนาดี ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้นควรทำอย่างไรเล่าจึงจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้



ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสัยบุตรของตน แลดำเนินการระมัดระวังตามนิสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนินความประพฤติตามใจในเขตอันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยาประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ



นกแก้วแสดงวิธีเลี้ยงลูกสาวถวายพระราชารามเสนเช่นนี้ต่อไปอีกครู่หนึ่งจึงเล่าถึงนางศิริชัยว่า นางนั้นเป็นคนสูง ค่อนข้างจะอ้วน รูปทรงดี ครอบงำน้ำใจตนเองไม่ใคร่ได้ นางมีเนตรใหญ่แลหลังตากว้าง มือมีรูปอันดีแต่ไม่เล็ก ฝ่ามือมีไอร้อนแลเป็นเหงื่ออยู่เสมอๆ เสียงค่อนข้างแหลมแลบางทีฟังเหมือนเสียงผู้ชาย ผมดำเป็นมันเหมือนขนนกกาเหว่า ผิวเหมือนดอกพุทธชาด ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะซึ่งคนโดยมากมักจะแลดู แต่นางจะเป็นคนงามก็ไม่เชิง ไม่งามก็ไม่เชิง กล่าวได้ว่าอยู่ ในระหว่างคนสวยแลคนขี้ริ้วอันเป็นความดีแก่ตัวหญิง เพราะความอยู่กลางๆ นี้สำคัญอยู่ หญิงที่งามนักอย่าว่าแต่ใครแม้นางสีดายังถูกทศกัณฐ์ลักพาไป



นกแก้วกล่าวต่อไปว่า แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็จำต้องกล่าวว่า หญิงงามมักจะมีธรรมในใจมากกว่าหญิงขี้ริ้ว หญิงงามได้รับชักชวนจูงใจไปในทางชั่วแต่มีความหยิ่งเป็นเครื่องต่อสู้ป้องกันตัวได้ เพราะความหยิ่งนั้นทำให้หญิงงามสัญญาในใจตัวเองว่า จะได้รับชักโยงไปในทางเดียวกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ยอมไป ในคราวนี้ก็ไม่สิ้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อเชิญต่อไป

กล่าวอีกนัยหนึ่งหญิงงามไม่เดินทางชั่วเพราะมีความหยิ่งในใจว่า จะเดินเมื่อไหร่ก็เดินได้ ส่วนหญิงขี้ริ้วนั้นจำเป็นต้องชักโยงคนอื่น ไม่ใช่มีคนอื่นมาชักโยง เมื่อตนโยงแล้วตนก็ต้องตามและเมื่อความโยงสำเร็จด้วยความตาม ฉะนี้ ความหยิ่งแลความมุ่งหมายของหญิงขี้ริ้ว ก็ย่อมสมหวังด้วยความตาม ไม่ใช่ด้วยต่อสู้ความชักโยง



เราท่านอ่านถ้อยคำของนกจุรามันมาเพียงนี้ก็ต้องพิศวง ว่านกแก้วพูดดังนั้นหมายความว่าอย่างไร ถ้าตรึกตรองดูสัก ๕ นาที ก็คงจะเห็นพร้อมกันหมดว่า นกแก้วหมายความว่าอย่างไรเหลือที่จะรู้ได้ ที่เป็นดังนี้เห็นจะเป็นเพราะเวลาผิดกันประมาณ ๒๐๐ ปี อย่างหนึ่ง เพราะจุรามันเป็นนกท่านแลข้าพเจ้าเป็นคนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะนกจุรามันเป็นนกพูดสันสกฤตจึงเหลือที่ท่านแลข้าพเจ้าจะเข้าใจได้



นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า หญิงขี้ริ้วมักมีใจเหี้ยมโหดกว่าหญิงงาม เหตุดังนั้นเมื่อหมายอย่างไรก็ย่อมจะสมหมายบ่อยกว่ากัน ผู้มีปัญญาในโลกธรรมกล่าวภาษิตที่เป็นความจริงไว้ว่า "ชายรักหญิงงาม บูชาหญิงขี้ริ้ว" แลเมื่อถามว่าเหตุใดจึงบูชาหญิงขี้ริ้ว ก็มีคำตอบว่า เพราะหญิงขี้ริ้วไม่ช่วยแสดงท่าทางว่าคิดถึงตัวเองยิ่งกว่าคิดถึงเรา

ส่วนนางศิริชัยนั้น ก็ใช้ความงามซึ่งมีส่วนน้อยนั้นเป็นเครื่องล่อให้ชายตามตอมได้มาก แต่ใช้ความไม่สงบเสงี่ยมเป็นเครื่องล่อได้มากกว่า แลใช้ความมีทรัพย์ของบิดาเป็นเครื่องล่อได้มากที่สุด นางชัยศิริไม่มีความเขินขวยเสียเลย ไม่ยอมให้มีชายตามน้อยกว่าคราวละครึ่งโหลเป็นอันขาด นางรื่นรมย์ในการรับแขกชายหนุ่มๆ เหล่านั้นติดต่อกันไปตามเวลานัด บางคราวกำหนดเวลาให้สั้น สำหรับจะได้ไล่คนเก่า ให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่ ถ้าชายคนไหนบังอาจแสดงกิริยาวาจาหวงหึงหรือติเตียนวิธีของนางก็ตาม ชายนั้นจะถูกเชิญให้ทราบประตูทางออกโดยเร็ว



ครั้นนางชัยศิริมีอายุ ๑๓ ปี มีชายหนุ่มคนหนึ่งกลับจากเมืองไกล ชายหนุ่มคนนี้เป็นลูกพ่อค้าซึ่งมีเคหสถานอยู่ในที่ใกล้ แลบิดาเป็นเพื่อนกับสาครทัตบิดานางชัยศิริ ชายหนุ่มนั้นชื่อ ศรีทัต ไปค้าขายเมืองไกลหลายปี แลได้เคยรักนางชัยศิริมาแต่นางยังเป็นเด็ก ครั้นกลับมาถึงเมืองของตนก็เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นที่แช่มชื่นไปหมด ตั้งแต่ลุงขี้เหนียวโทโสร้ายไปจนหมาแก่ที่เห่าอยู่ในลานบ้านก็เห็นน่ารัก คนที่จากบ้านเมืองไปช้านาน เมื่อแรกกลับมาถึง ใจคอมักเป็นเช่นนี้

ส่วนนางชัยศิรินั้น ศรีทัตแลไม่เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก แลมิได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเลย จมูกนางโตออกไปก็ไม่เห็น หลังตากว้างออกไปแลหนาขึ้นก็ไม่เห็น กิริยากระด้างขึ้นก็ไม่เห็น เสียงแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้สังเกตว่านางชำนาญการติแลชมเครื่องแต่งตัวชาย ไม่สังเกตว่านางชอบคนชำนาญเพลงดาบ แลชอบคนรบเก่งบนหลังม้าแลช้าง



ข้อความเหล่านี้ศรีทัตไม่เห็น จึงไปกล่าวแก่บิดาของตน ในเรื่องที่จะใคร่ได้นางชัยศิริเป็นภริยา ครั้นบิดาอนุญาตแล้วไม่ทันได้กล่าวแก่สาครทัต ก็ตรงไปกล่าวแก่ตัวนางทีเดียว แต่นางชัยศิริเป็นหญิงชนิดใหม่ ที่ไม่ต้องการความเห็นบิดาในเรื่องที่จะเลือกผัว ครั้นศรีทัตไปกล่าวดังนั้น นางก็ทำทีเหมือนหนึ่งตกลง ทำให้ชายหนุ่มคนนั้นยินดีโลดโผนอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็บอกให้รู้ว่า นางชอบใจศรีทัตในทางเป็นเพื่อน แต่ถ้าเป็นผัวจะเกลียดที่สุด

นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกซึ่งหญิงมีต่อชายนั้นมีสามอย่าง อย่างที่ ๑ คือความรัก อย่างที่ ๒ คือความเกลียด อย่างที่ ๓ คือความเฉยๆ ไม่รักไม่เกลียด ความรู้สึกประเภทที่ ๑ คือ ความรักนั้นอ่อนที่สุดแลเคลื่อนง่ายที่สุด หญิงอาจจะตกสู่ความรักง่ายเท่าตกจากความรัก อธิบายว่าประเดี๋ยวอย่างนั้น ประเดี๋ยวอย่างนี้ จะเอาแน่ไม่ได้ ส่วนความเกลียดนั้นเป็นของคู่กันกับความรัก ชายมีปัญญาอาจเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรักได้เสมอ แล ความรักซึ่งเกิดแต่ความเกลียดนั้นมักจะอยู่ทนกว่าความรักล้วน ส่วนความเฉยๆ คือความไม่เกลียดไม่รักนั้น ชายผู้ชำนาญในลีลาศาสตร์ย่อมเปลี่ยนความเฉยๆ ให้เป็นความเกลียดได้เสมอ แลเมื่อเปลี่ยนเป็นความเกลียดแล้ว ก็อาจเปลี่ยนเป็นความรักได้อีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ประเภทความรู้สึกทั้ง ๓ ก็ลงรอยเดียวกัน



เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็ทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ตามที่ข้าพเจ้าเล่าถึงนกขุนทองแลนกแก้วมาเช่นนี้ พระองค์ทรงเห็นว่านกตัวไหนกล่าวความจริงในสันดานมนุษย์ลึกซึ้งกว่ากัน

แต่อุบายของเวตาลที่จะทำให้พระราชาตรัสตอบปัญหานั้นไม่สำเร็จ พระวิกรมาทิตย์ทรงรู้ทีก็นิ่ง รีบทรงดำเนินไป เวตาลเห็นไม่สมประสงค์ก็เล่านิทานต่อไปว่า



ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ทราบว่านางชัยศิริไม่ยอมเป็นภริยาก็เดือดร้อนในใจเป็นกำลัง กำหนดใจจะกระโดดน้ำตาย จะกระโดดจากยอดเขาแลทำอะไรต่างๆ ที่แปลกแลโง่ รวมทั้งการออกป่าเป็นโยคีด้วย ครั้นตรึกตรองอยู่ช้านานว่าจะทำอย่างไหนจึงจะดีที่สุดก็เห็นว่าจะทำสิ่งโง่ๆเหล่านั้นก็ล้วนแต่ไม่ดีทั้งนั้น เพราะการกระโดดน้ำตายก็ดี การกระโดดจากยอดเขาก็ดี การออกป่าเป็นฤาษีก็ดี ไม่เป็นวิธีที่จะได้นางชัยศิริมาเป็นภริยาทั้งนั้น ครั้นมีเวลาตรึกตรองมากๆ เข้าก็ได้ความคิดซึ่งใครๆ เขารู้กันมาช้านานแล้วว่า ขันติเป็นธรรมะประเสริฐ จึงบังคับตัวเองให้ตั้งอยู่ในขันติ ไม่ช้านานก็สำเร็จประสงค์ แต่ความสำเร็จประสงค์นั้นเป็นโทษแก่ศรีทัตเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ภายหลัง



ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อตกลงใจแน่นอนแล้วว่า จะไม่รับศรีทัตเป็นสามี ก็ยั่งยืนในใจอยู่พักหนึ่งไม่สู้ช้าก็เปลี่ยนใจใหม่ตามเคย ศรีทัตได้ทราบว่านางยินยอมก็ดีใจโลดโผน เรียกตัวเองว่าบุรุษผู้มีความสุขที่สุดในโลก แลทั้งกระทำบูชาแก้สินบนเทวดาที่โปรดบันดาลให้นางเปลี่ยนใจมายอมเป็นภริยาตน แลทั้งทำอะไรที่แปลกอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่ไม่บ้าหรือไม่ดีใจเหลือเกินคงไม่ทำเป็นอันขาด ต่อมาไม่ช้าศรีทัตแลนางชัยศิริก็แต่งงานกันตามธรรมเนียม



ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้วไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามีเพราะเป็นนิสัยของนางที่จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรักนางเลย ศรีทัตผู้สามียิ่งสำแดงเสน่หาต่อนาง นางก็ยิ่งสำแดงความขึ้งโกรธ เมื่อสามีหยอกเย้าก็ทำให้เกิดหมั่นไส้ เมื่อพูดล้อก็เห็นไม่ขัน ครั้นหญิงสหายช่วยกันว่ากล่าวทัดทานมิให้นางสำแดงกิริยาเป็นอริต่อสามี นางก็กลับแสดงกิริยาขุ่นเคือง เมื่อสามีนำเครื่องประดับกายมาให้เป็นของกำนัลนางก็ปัดเสีย หันหนีพลางกล่าวว่าบ้า นางออกจากเรือนไปเที่ยวอยู่ที่อื่นวันยังค่ำ แล้วพูดแก่เพื่อนหญิงซึ่งอายุรุ่น ราวคราวกันว่า ความเป็นสาวของข้านี้ผ่านพ้นไปทุกๆ วัน ข้าไม่ได้รับความสำราญอันควรจะได้รับตามวัยของข้านี้เลย ความสนุกในโลกนี้มีอย่างไรข้าก็หารู้รสไม่

ครั้นกลับไปถึงบ้าน นางก็ขึ้นไปแอบมองอยู่บนช่องหน้าต่าง เมื่อเห็นชายเสเพลซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันเดินมาตามถนน นางก็เรียกหญิงสหายให้ไปเชื้อเชิญขึ้นมาบนเรือน ครั้นหญิงสหายไม่ทำตามด้วยความกลัวภัยจากศรีทัตผู้สามี นางก็โกรธแลมีอาการกระสับกระส่าย บอกตัวเองว่าไม่รู้จะพูดว่ากระไร ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปไหนจึงจะถูกใจตัว จะกินก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่หลับ จะร้อนก็ไม่สบาย จะหนาวก็ไม่สบาย อะไรๆ ก็ไม่ถูกใจทั้งนั้น



นางชัยศิริกระสับกระส่ายอยู่เช่นนี้หลายวันจึงตกลงในใจว่าถ้าขืนอยู่ห่างชายเสเพลซึ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีความสุขได้เป็นอันขาด คืนหนึ่งครั้นสามีหลับสนิท นางก็ลุกจากที่นอนย่องออกจากเรือนเดินไปตามถนนมุ่งหน้าไปยังเรือนชายเสเพล ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งเดินมาตามทางเห็นนางชัยศิริเดินไปก็นึกในใจว่า หญิงคนนี้ประดับกายด้วยเครื่องทองคำแลเพชรพลอย จะเดินไปไหนในเวลาเที่ยงคืน จำเราจะสะกดรอยไป เมื่อได้ทีจะได้แย่งเอาของเหล่านั้น คิดดังนี้โจรก็เดินตามมิให้นางรู้ตัว



ฝ่ายนางชัยศิริครั้นไปถึงเรือนชายเสเพลก็ขึ้นบันไดไปพบชายเจ้าของเรือนนอนอยู่หน้าประตู นางคิดว่าชายคนนั้นนอนหลับด้วยความเมา แต่อันที่จริงชายคนนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว เพราะได้ถูกขโมยแทงก่อนที่นางไปถึงไม่สู้ช้านัก

ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ดังนั้น นางก็นั่งลงข้างตัว จับสั่นจะให้ตื่นก็ไม่ตื่น นางเชื่อแน่ว่าเป็นโดยพิษความเมา นางก็เอามือช้อนศีรษะขึ้นกอดรัดสำแดงเสน่หาต่างๆ

ขณะนั้น ปิศาจตนหนึ่งนั่งอยู่บนต้นไม้หน้าบันไดเรือนชายหนุ่ม ครั้นเห็นนางไปนั่งกอดรัดสำแดงเสน่หาต่อศพดังนั้น ปิศาจก็เห็นสนุก จึงโดดลงจากต้นไม้ตรงเข้าสิงในศพชายหนุ่ม ศพนั้นก็ตื่นขึ้นจากความตายเหมือนคนตื่นจากความหลับ แล้วกระหวัดรัดกายนางเหมือนหนึ่งเสน่หา นางชัยศิริยินดีในความเล้าโลมของปิศาจก็ก้มหน้าเข้าไปหาหน้าศพ ปิศาจได้ทีก็กัดจมูกนางแหว่งไปทั้งชิ้น แล้วออกจากศพกลับขึ้นไปนั่งหัวเราะอยู่บนต้นไม้ตามเดิม



ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อจมูกแหว่งไปเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่สิ้นสติ นางจึงนั่งตรึกตรองอยู่กับที่ครู่หนึ่ง แล้วรีบออกเดินกลับไปบ้าน ครั้นถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องซึ่งสามีนอนอยู่ ปิดประตูห้องแล้วก็เอามือกุมจมูกร้องครวญคราง ได้ยินไปตลอดจนถึงเพื่อนบ้าน

ญาติพี่น้อง แลเพื่อนบ้านได้ยินเสียงโวยวาย คิดว่าเกิดเหตุใหญ่โตก็พากันมาช่วยเป็นอันมาก ครั้นไปถึงเรือนศรีทัตแลภริยาก็เข้าไปถึงประตูห้อง เสียงนางร้องอยู่ในห้อง แต่ประตูห้องนั้นปิด คนทั้งหลายก็พังประตูเข้าไปเห็นนางชัยศิริเอามือกุมจมูกเลือดไหล ศรีทัตทำกิริยางุ่มง่ามไม่ปรากฏว่าจะทำอะไรแน่

ครั้นญาติแลเพื่อนบ้านไปถึงพร้อมกัน แลเห็นนางชัยศิริจมูกแหว่งดังนั้นก็กล่าวแก่ศรีทัตว่า เจ้านี้เป็นคนชั่วร้ายนักหนา ไม่มียางอาย ไม่มีกรุณาแลไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองเลย เจ้ากัดจมูกนางเสียเช่นนี้ด้วยเหตุไร



ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ยินดังนั้น ก็รู้สึกว่าถูกกลภริยาจึงกล่าวแก่ตนเองว่า บุรุษไม่ควรวางความเชื่อในคนซึ่งเปลี่ยนใจหนึ่ง งูดำหนึ่ง ศัตรูซึ่งถืออาวุธหนึ่ง แลควรระวังภัยอันเกิดแต่ความประพฤติแห่งหญิง ในโลกนี้ไม่มีอะไรซึ่งกวีปริยายไม่ได้ ไม่มีอะไรซึ่งโยคีไม่รู้ ไม่มีคำพล่ามคำใดซึ่งคนเมาไม่พูด ไม่มีเขตตรงไหนซึ่งเป็นที่สุดแห่งมารยาหญิง เทวดานั้นมีความรู้มากก็จริงอยู่ แต่ไม่รู้ลักษณะชั่วแห่งม้า ไม่รู้ลักษณะแห่งอัสนีในหมู่เมฆ ไม่รู้ความประพฤติแห่งหญิง ไม่รู้โชคของชายในภายหน้า ก็เมื่อเทวดายังไม่รู้เช่นนี้ เราผู้เป็นคนจะรู้ได้อย่างไรเล่า

ศรีทัตกล่าวเช่นนี้แล้วก็ร้องไห้แลสาบานต่อหน้าต้นแมงลัก(ตุลสิ) แลสิ่งซึ่งเป็นที่นับถือทั้งปวง ว่ามิได้ทำผิดเช่นที่ถูกกล่าวหานั้นเลย ถ้าพูดไม่จริงขอให้เสียโค แลข้าวสาลีแลทองจนสิ้นไปเถิด คำที่ศรีทัตกล่าวเช่นนี้หามีใครเชื่อไม่



ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบิดานางชัยศิริ ครั้นเห็นเหตุเกิดแก่ลูกสาวดังนั้น ก็รีบไปฟ้องต่อผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจก็ใช้คนไปจับศรีทัต ส่งไปให้ตุลาการชำระ ตุลาการก็ชำระไต่สวนเสร็จแล้วก็พาตัวโจทก์จำเลยไปยังที่เฝ้าพระราชา เผอิญเป็นเวลาซึ่งพระราชามีพระราชประสงค์จะลงโทษแก่ใครสักคนหนึ่งให้เป็นตัวอย่างแก่คนทำผิดซึ่งเผอิญมีมากในเวลานั้น พระราชาทรงทราบเรื่อง จึงตรัสให้นางชัยศิริทูลให้การตามที่เกิดโดยสัตย์จริง นางก็ชี้ที่จมูกแหว่งแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา เรื่องสัตย์จริงปรากฏอยู่ในที่ซึ่งควรมีจมูกติดอยู่นี้



พระราชาได้ฟังคำให้การซึ่งทรงเห็นแจ่มแจ้งดังนั้น ก็ตรัสให้จำเลยให้การ จำเลยทูลว่า จมูกนางจะขาดไปด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าไม่ทราบเลย ข้าพเจ้านอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นในเวลาเที่ยงคืนก็เห็นนางเป็นอยู่เช่นนี้ พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า ถ้าจำเลยไม่รับเป็นสัตย์จะตัดแขนขวาเสีย ครั้นยังไม่รับก็ตรัสว่าจะตัดแขนซ้ายด้วย ครั้นศรีทัตไม่รับทั้งไม่ขอประทานโทษ ก็ทรงพิโรธเป็นกำลัง ตรัสถามศรีทัตว่า คนใจเหี้ยมโหดอย่างเจ้านี้จะทำอย่างไรจึงจะสมแก่โทษ ศรีทัตทูลว่า พระองค์ทรงดำริอย่างไร ก็โปรดอย่างนั้นเถิด พระราชายิ่งทรงกริ้ว ก็ตรัสให้พาศรีทัตไปเสียบไว้ทั้งเป็น ราชบุรุษได้ฟังก็เข้าจับตัวศรีทัตจะพาไปลงโทษตามรับสั่ง



ฝ่ายขโมยซึ่งทราบเหตุแต่ต้นจนปลายนั้น ตามเข้าไปฟังชำระอยู่ด้วย ครั้นได้ยินคำตัดสินลงโทษคนไม่มีความผิด ก็เกิดยุติธรรมขึ้นในใจ จึงวิ่งแหวกคนเข้าไปร้องทูลพระราชาว่า พระมหากษัตริย์จงทรงฟังข้าพเจ้าก่อน พระองค์เป็นพระราชาธิบดี มีหน้าที่ยกย่องคนดีแลลงโทษคนชั่ว อย่าเพิ่งประหารชีวิตชายคนนี้ พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสให้ขโมยเล่าเรื่องถวายแต่ตามสัตย์จริง ขโมยทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นขโมย แลชายคนนี้ไม่มีความผิด พระองค์จะลงโทษคนผิดตัวอยู่แล้ว ขโมยก็เล่าเรื่องถวายแต่ต้นจนปลายเว้นแต่ข้อที่ตนไปแทงชายเสเพลตายนั้นหาได้ทูลไม่



พระราชาได้ทรงฟังตลอด ก็ตรัสสั่งราชบุรุษว่าเจ้าจงไปตรวจศพชายซึ่งเป็นที่รักของหญิงนี้ ถ้าพบจมูกหญิงในปากคนตาย คำของขโมยผู้มาเป็นพยานนี้ก็เป็นความจริง แลชายผู้ผัวนี้ก็เป็นคนไม่มีโทษ ราชบุรุษได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็ไปตรวจศพชายหนุ่มตามรับสั่ง ไม่ช้าได้จมูกนางกลับมาทูลว่า ได้ค้นจมูกพบในปากแห่งศพสมดังคำซึ่งขโมยทูล พระราชาทรงทราบดังนั้นก็ตรัสให้ศรีทัตพ้นโทษ แลรับสั่งให้เอาดินหม้อประสมน้ำมันทาหน้านางชัยศิริ ทั้งโกนผมแลคิ้วจนเกลี้ยงแล้วให้เอาตัวขึ้นขี่ลาหันหน้าไปข้างหาง ให้จูงลาเที่ยวประจานรอบพระนครแล้วให้ขับนางไปสู่ป่า เมื่อทรงตัดสินลงโทษดังนี้แล้ว ก็ประทานหมากพลูแลสิ่งอื่นๆ แก่ศรีทัตแลขโมย รวมทั้งพระราโชวาทยืดยาว ซึ่งคนทั้งสองไม่ต้องการนั้นด้วย



นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า หญิงประกอบขึ้นด้วยคุณชนิดที่ข้าพเจ้าเล่านิทานเป็นตัวอย่างมานี้ คำโบราณกล่าวว่า ผ้าเปียกย่อมจะดับไฟ อาหารชั่วย่อมจะทำลายกำลัง ลูกชายชั่วย่อมจะทำลายสกุล แลเพื่อนที่โกรธย่อมจะทำลายชีวิต แต่หญิงนั้นย่อมจะทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่นทั้งในคราวรักแลคราวเกลียด จะทำอะไรๆ ก็คงจะเป็นไปในทางที่ทำความเดือดร้อนให้แก่เราทั้งนั้น อนึ่ง ความงามของนกปรอดอยู่ในสำเนียง ความงามของชายขี้ริ้วอยู่ในวิชา ความงามของโยคีอยู่ในความไม่โกรธ ความงามของหญิงอยู่ในสัตย์ แต่หญิงมีความงามจะหาที่ไหนจึงจะพบได้เล่า อนึ่งพระนารทเป็นผู้ฉลาดโดยมายาในหมู่ฤาษี หมาจิ้งจอกในหมู่สัตว์ กาในหมู่นก ช่างตัดผมในหมู่คน หญิงในโลก นกแก้วกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าทูลมานี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ายินด้วยหูรู้ด้วยตามาเอง ในเวลานั้นข้าพเจ้ายังเป็นนกอ่อน แม้กระนั้นยังทำให้ข้าพเจ้ากำหนดใจมาจนบัดนี้ว่า หญิงทั้งหลายเกิดมาสำหรับทำลายความสุขแห่งเราเท่านั้น



เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อนกขุนทองแลนกแก้วเล่านิทานมาแล้วเช่นนี้ ก็เกิดทุ่มเถียงกันเป็นขนานใหญ่ นกขุนทองก็กล่าวติเตียนชายแลยกยอหญิง นกแก้วก็กล่าวยกยอชายแลติเตียนหญิงอย่างร้ายแรงจนนางจันทราวดีพระมเหสีทรงพิโรธนกแก้วตรัสว่า ผู้ที่ดูหมิ่นหญิงมีแต่พวกที่สมาคมกับพวกต่ำช้า หาความเที่ยงธรรมในใจมิได้ อนึ่งนกจุรามันควรละอายคำตนเองที่กล่าวติเตียนหญิง เพราะแม่ของนกจุรามันก็เป็นนกตัวเมียเหมือนกัน



ฝ่ายพระราชารามเสน เมื่อได้ยินนกขุนทองก็กริ้ว แลตรัสสำแดงพิโรธจนนกขุนทองเกาะคอนร้องไห้ ประกาศว่าชีวิตไม่พึงสงวนเสียแล้ว เวตาลกล่าวต่อไปว่า พูดสั้นๆ เจ้าสององค์แลนกสองตัวก็ทุ่มเถียงคัดค้านขัดคอกัน หญิงจะชั่วกว่าชาย หรือชายจะชั่วกว่าหญิงก็ไม่ตกลงกันได้ ถ้าหากพระองค์เสด็จอยู่ในที่นั้นด้วย ปัญหาก็คงจะได้รับคำตัดสินที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงปัญญารอบรู้ อาจชี้แจงข้อความชนิดนี้ให้แจ่มแจ้งได้ อันที่จริงตามเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายเป็นปัญหาเช่นนี้ พระองค์คงจะได้ทรงดำริแน่นอนในพระหฤทัยแล้วว่า ใครจะชั่วกว่าใคร ข้าพเจ้าเองตรึกตรองในใจมาช้านาน ก็ยังไม่ทราบได้แน่นอนจนบัดนี้

พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า หญิงย่อมจะชั่วกว่าชายอยู่เอง ชายนั้นถึงจะชั่วปานใดก็ยังรู้ผิดรู้ถูกอยู่บ้าง หญิงนั้นไม่รู้เสียเลยทีเดียว



เวตาลหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วตอบว่า พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นเพราะเป็นชายดอกกระมัง ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ฟังดำริแห่งพระองค์ เพราะพระดำรินั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าจะได้กลับไปอยู่ต้นอโศกเดี๋ยวนี้ เวตาลพูดเท่านั้น แล้วก็ลอยออกจากย่ามหัวเราะก้องฟ้ากลับไปห้อยหัวอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม