02 สิงหาคม 2551

อิฑา

อิฑา (อิลา) พระมนูไววัสวัต กัษตริย์องค์แรกของโลก เป็นผู้ไร้โอรสและธิดา ท้าวเธอมีความร้อนรนในเรื่องนี้มาก จึงขอความอนุเคราะห์จากพระ ฤษีอคัสตยะ ผู้เป็นอาจารย์ พระมหามุนีเป็นโอรสของพระวรุณเทพเจ้าและนางอัปสรอุรวศี ดังนั้นจึงทำมหายัชญพิธีบูชาพระวรุณและพระมิตรผู้เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่คู่กับพระวรุณผู้เป็นบิดา การทำพิธีขอบุตรดำเนินไปได้หนึ่งเดือน บังเอิญคืนหนึ่ง พระอคัสตยมุนี เผลอไผลเข้าสู่นิทราไปชั่วขณะหนึ่งในขณะร่ายพระเวท ทำให้พิธีนั้นบกพร่อง เมื่อสิ้นสุดพิธีปรากฎว่าได้เด็กหญิงคนหนึ่งจากกองไฟ พระมนูรับเด็กหญิงผู้นั้นเป็นราชธิดานามว่า อิฑา หรือ อิลา พระราชามีความเศร้าใจเป็นยิ่งนัก แม้จะได้ราชธิดาองค์หนึ่งแต่ยังไม่สมความตั้งใจ เพราะอยากได้โอรสไว้สืบตระกูลมากกว่า จึงปรึกษากับพระวสิษฐ์พรหมฤษี ผู้เป็นโอรสของพระมิตรกับนางอุรวศีว่าจะทำฉันใดดี พระฤษีวสิษฐ์ผู้เป็นน้องร่วมมารดาเดียวกับพระอคัสตยมุนีจึงทำพิธีบูชาพระมิตรและพระวรุณอีกครั้ง เปลี่ยนเพศอิฑากุมารีให้เป็นเพศชาย และให้ชื่อว่า สุทยุมน์ สุทยุมน์ราชกุมารเจริญวัยเป็นเจ้าชายหนุ่มผู้ทรงโฉมงดงาม หาบุรุษใดในแผ่นดินเสมอเหมือนได้ พระสุทยุมน์โฉมงามชอบการล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ พาบริวารออกไล่ล่าสัตว์ป่าเป็นกิจวัตร ครั้งหนึ่ง เสด็จตามกวางไปไกลกว่าทุกคราว ในที่สุดหลงเข้าไปสู่สวนขวัญของพระอุมาเทวีที่ตั้งอยู่เชิงเขาไกรลาส และพระอุทยานนั้นเป็นที่หวงห้ามมิให้ผู้ใดกล้ำกรายเข้าไป เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพระศิวะเป็นเจ้าและพระมหาเทวีใช้เป็นที่พักผ่อนสำเริงสำราญพระทัยด้วยกัน มิต้องการให้ผู้ใดเข้าไปรบกวน ครั้งหนึ่ง พระฤษีสุนกะพร้อมด้วยบริวารหลงเดินผ่านเข้าไปเพื่อหวังเฝ้าพระเป็นเจ้าตามปกติ บังเอิญเป็นวเลาที่พระมเหศวรและพระมเหศวรีทรงสำราญพระทัยอยู่ด้วยกันในพระตำหนักรโหฐาน พระเป็นเจ้าทรงขัดเคืองเป็นอันมาก ตรัสสาปสรรไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาว่า บุรุษใดบังอาจล่วงล้ำเข้าไปในเขตสวนขวัญนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะต้องกลายเป็นนารีไปทันที พระสุทยุมน์พร้อมด้วยบริพารหลงเข้าสู่สวนขวัญโดนไม่รู้ตัว พลันร่างก็กลับกลายเป็นนารีรูปงาม และข้าราชบริพารก็กลายร่างเป็นหญิงเช่นเดียวกัน เจ้าชายหนุ่มตกใจมาก เมื่อพระองค์ต้องกลายเป็นนางอิฑา ไปอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความเศร้าเสียใจในเคราะห์กรรมเป็นล้นพ้น พระองค์ก็เสด็จระเหระหนซมซานเตลิดไปในป่ามิรู้เหนือรู้ใต้ จนในที่สุดมาถึงทะเลสาบน้อยแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในระหว่างขุนเขาอันโอบล้อมไว้โดยรอบ เป็นที่งามประหลาดชวนพิศวง บรรยากาศโดยรอบมีแต่ความงามและความสงบราวกับอยู่อีกโลกหนึ่งที่เป็นความฝันอันวิจิตร อิฑาพร้อมด้วยบริวารซึ่งบัดนี้แปรสภาพเป็นสาวสรรกำนัลนางไปแล้ว เดินทางมาถึงฝั่งทะเลสาบเมื่อเวลาบ่ายคล้อย ดวงสูรยะใกล้จะลับเหลี่ยมเขา ทอแสงสู่ผืนน้ำระยิบระยับเป็นสีทองแกมแสด บัวโกกนุท (๑) สีแดงสะพรั่งกำลังจะหุบกลีบอีกครั้งหนึ่งด้วยใกล้จะถึงเวลาราตรี อิฑาทรุดลงนั่งบนหาดทรายสีขาวนวลริมฝั่งทะเลสาบด้วยความเหนื่อยอ่อน นางพักเหนื่อยชั่วครู่แล้วก็ลุกขึ้นยืน พนักหน้ากล่าวแก่บริวารว่า “ลงอาบน้ำกันเถอะ น้ำใสสะอาดน่าเล่นดีนัก” นางเปลื้องผ้าอาภรณ์แล้วก็โผลงสู่ผืนน้ำ แหวกว่ายไปมาอย่างสำราญใจ นางทั้งหลายผู้เป็นบริวารก็เริ่งเล่นไล่จับกัน เสียงกรี๊ดกร๊าดของสาวน้อยทั้งหลายดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ณ ภายใต้สายน้ำสีเขียวปานมรกต อันลึกสุดหยั่งแห่งทะเลสาบนั้นเอง เป็นที่ตั้งปราสาททองคำอันเพริศพรายของ พระพุธ ผู้เป็นโอรสของพระจันทร์ และนางดารา พระพุธเทพมุนีใช้ปราสาทใต้น้ำนี้เป็นที่บำเพ็ญพรตภาวนาเข้าฌานสมาธิมิได้ขาด และในวาระนั้นเอง พระพุธเทพฤษีกำลังนั่งสงบสำรวมจิตเป็นสมาธิอยู่ ก็พลันสะดุ้งหวั่นไหวทันทีเพราะเสียงสรวลเสและแรงกระทุ่มน้ำจากกลุ่มบริวารของอิฑา พระพุธลืมตาขึ้นทันที เหลือบแลไปเบื้องบนก็ประสบภาพสาวน้อยกำลังเล่นระเริงรื่นอยู่ และในท่ามกลางเหล่ากัญญาพวกนั้น พระองค์ก็จับทิพยเนตรแน่วแน่อยู่ที่นางหนึ่งซึ่งสุดโสภากว่าใคร คือนางอิฑา และบังเกิดความรักลุ่มหลงในตัวนางทันที พระเทพมุนีออกจากปราสาท โผขึ้นสู่ผิวน้ำและโอบอุ้มนางอิฑาไว้ในอ้อมกอด พานางลงไปสู่ทิพยวิมานใต้น้ำ ด้วยความเร็วราวสายฟ้าแลบ ไม่ทันที่นางบริวารทั้งหลายจะปกป้องได้ทัน นางเหล่านั้นเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้ารวดเร็วเกิดกว่าจะคาดถึงก็ตกตะลึงพรึงเพริด พอได้สติก็ชุลมุนกันหนีขึ้นฝั่งเผ่นไปคนละทิศละทาง นางอิฑาตกเป็นชายาของพระพุธเทพบุตรในวาระนั้นและครองสุขอยู่ด้วยพระพุธฉันภริยาที่ดี กาลเวลาผ่านไปถึงหนึ่งปีเต็ม บัดนี้นางมีครรภ์แก่ใกล้คลอดบุตรถึงคราวที่จะต้องกลับคืนเมืองและจากกัน พระพุธมีความอาลัยในนางยิ่งนัก พานางขึ้นมาส่งบนฝั่งบึง โอมอ่านมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์เนรมิตเรือทองขึ้นลำหนึ่ง พระองค์อุ้มนางลงนั่งในสุวรรณนาวาและกล่าวว่า “อิฑาเอ๋ย เราจะจากกัน ณ ที่นี้และคงจะไม่ได้พบกันอีก เจ้าจงกลับไปบ้านเมืองของเจ้า เมื่อคลอดบุตรแล้วจงให้นามลูกของเราว่า ปุรูรวัส เขาจะเป็นปฐมกัษตริย์ราชสกุล จันทรวงศ์ อันสืบสายมาจากพระจันทร์เป็นที่หนึ่ง และตัวเราเป็นที่สอง ราชวงศ์ของเราจะปกครองแผ่นดินลุ่มแม่น้ำยมุนาตลอดจนถึงฟากฝั่งสินธุมหาสาครเป็นเขตแดน และตัวเจ้าเองสืบไปภายหน้า จะได้กลับเป็นชายอีกครั้งและจะมีโอรสกับนางผู้เป็นมหิษี เขาจะได้นามว่า อิษวากุ โอรสของเจ้าผู้นี้แลจะเป็นปฐมกัษตริย์แห่งราชสกุล สูรยวงศ์ ครองอาณาจักร อโยธยาทางลุ่มแม่น้ำสรยุ และอจิรวดี กษัตริย์จันทรวงศ์เกิดจากเจ้าในฐานะเป็นแม่ และกัษตริย์สูรยวงศ์เกิดจากเจ้าในฐานะเป็นพ่อ เจ้าจงจำคำเราไว้ให้ดี ผู้ที่จะช่วยให้เจ้าได้กลับเป็นชายอีกครั้งหนึ่งคือ พระฤษีนารทะ โอรสแห่พระพรหม จงคอยโอกาสของเจ้าเถิด อย่าลืมพระนารทมุนีเป็นอันขาด” ตรัสจบ พระเทพฤษีก็ยกหัตถ์ขึ้นชี้ไปทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นของนาง เรือทิพย์ก็ลอยเลื่อนไปในท้องฟ้าและลับหายไป (๑) โกกนุท = จากศัพท์ โกก (สุนัข) + นท (เสียง) เป็นชื่อดอกบัวแดงชนิดหนึ่ง ซึ่งบานเวลาสุนัขหอนตอนใกล้รุ่งจาก

อิฑากลับคืนสู่บ้านเมืองด้วยความปลอดภัย และคลอดบุตรเป็นชาย ให้ชื่อว่า ปุรูรวัส จำเนียรกาลสืบมามินาน พระนารทพรหมฤษีผู้เป็นเจ้าแห่งวิชาการดนตรี เดินทางมาเยี่ยมพระมนูไววัสวัต ได้ทราบเรื่องที่เกิดแก่พระสุทยุมน์ หรือนางอิฑาก็มีความสงสาร เรียกอิฑาเข้ามาใกล้และแนะนำว่า “ดูก่อนอิฑา เจ้าประสบเคราะห์กรรมทั้งนี้ ก็เพราะล่วงล้ำเข้าไปในเขตสวนอันเป็นที่หวงห้ามขององค์พระมเหศวรี และเป็นเขตที่พระมเหศวรทรงสาปสรรเอาไว้ กรรมของเจ้าจะลดน้อยลงได้ก็ด้วยการสวดมนตร์ถวายอวค์พระแม่เจ้าเท่านั้น เจ้าจงรู้ไว้เถิด” อิฑาเรียนมหามนตร์ นวากษร จากพระนารทมุนีแล้วไปสู่ป่าพร่ำสวดอ้อนวอนต่อพระอุมาไหมวตี พระเทวีสะดับถ้อยสดุดีแล้วมีความพอพระทัย จึงทูลขอต่อพระศิวะให้ทรงลดคำสาปให้ พระมหาเทพจึงเสด็จมาปรากฎพระองค์ต่อหน้าและตรัสว่า “ดูก่อนอิฑา พระมเหศวรีขอร้องข้าให้ช่วยเหลือเจ้า ข้าเห็นแก่นางจึงจะลดคำสาปลงให้เจ้าตามความประสงค์ของนาง ตั้งแต่นี้ไปเจ้าจงเป็นหญิงหนึ่งเดือนและชายหนึ่งเดือน สลับกันดังนี้เรื่อยไปจงถึงที่สุดแห่งชีวิตของเจ้า เราช่วยเจ้าได้เท่านี้แหละ” ตรัสเสร็จ องค์พระเป็นเจ้าก็อันตรธานไป นางอิฑา หรือพระสุทยุมน์มีชีวิตเป็นชายและหญิงสลับกันไปครั้งละหนึ่งเดือนตามเทวประกาศิต เมื่อเป็นชาย พระองค์ก็ออกว่าราชการแผ่นดินทำหน้าที่พระราชาตามปกติ และเมื่อถึงระยะอีกหนึ่งเดือนที่กลายร่างเป็นหญิง ก็ประทับอยู่วังใน ไม่ปรากฎตนต่อสาธารณชนและให้พระโอรส ออกว่าราชการแทน กาลเวลาผ่านไปหลายสิบปี เมื่อพระโอรสทั้งสอง มีอายุเหมาะสม ควรจะได้ราไชศวรรย์ พระสุทยุมน์ หรือ อิฑาก็มอบราชสมบัติให้เจ้าชายปุรูรวัสปกครองแว่นแคว้นภาคตะวันตก และเจ้าชายอิกษวากุครองแว่นแคว้นตะวันออก สถาปนาราชสกุลจันทรวงศ์และสูรยวงศ์ขึ้นในโลก เมื่อมอบราไชศวรรค์แล้วท้าวเธอก็สละราชสมบัติ ออกบวชเป็นฤษีกระทำความเพียรอันยิ่งยวดสร้างตบะอันอุตกฤษมุ่งเจตจำนงเฉพาะพระวิษณุเป็นเจ้า ทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยอย่างสูงสุด พระวิษณุเสด็จประทับหลังพญาเวนไตยมาปรากฎพระองค์เฉพาะหน้าตรัสถามว่า “สุทยุมน์เอ๋ย เจ้าปรารถนาอะไรจากข้า” “โอ้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เป็นพระเจ้าผู้ทรงความเมตตาสูงสุด น้ำพระทัยของพระองค์กว้างขวางและลึกซึ้งสุดหยั่ง ข้าพระบาทผู้ต่ำต้อยขอเพียงให้มีโอกาสกลับเป็นชายตลอดไปชั่วชีวิต โดยไม่มีวันกลับมาเป็นหญิงอีก และด้วยประการฉะนี้ข้าพระบาทก็จะไม่ทูลขอสิ่งใดอีกแล้ว ขอเพียงพระองค์ผู้เดียวเป็นที่พึ่งของข้าพระบาท ขอให้ข้าพระบาทบรรลุโมกษะคือความหลุดพ้นในพระองค์นั้นแล พระเจ้าข้า” “ จงเป็นดั่งปรารถนาเถิด” พระวิษณุเป็นเจ้าตรัสแล้วเสด็จขึ้นประทับหลังพญาเทพปักษิณ ทรงหันพระพักตร์มาแย้มพระสรวลด้วยความเมตตา ทอดสายพระเนตรอันอ่อนโยนจับที่ใบหน้าของชายผู้เคราะห์ร้ายมาตลอดชีวิต ก่อนที่จะลับพระองค์ไปจากสายตา จากหนังสือ หริศจันทร์ รวบรวมและเขียนโดย อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๓

อหลยา

อหลยา อหลยาเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดคนหนึ่ง เป็นสตรีคนแรกที่พระธาดาพรหมสร้างขึ้น และประทานให้แก่ฤษีเคาตมะด้วยความเมตตา เพื่อให้นางปรนนิบัติรับใช้พระมุนีให้มีความสุข เคาตมะเป็นพรหมฤษีผู้หนึ่งในกลุ่มฤษีทั้งเจ็ด อันมีชื่อเรียกว่า สัปตฤษี (ปัจจุบันหมายถึงดาวจระเข้ เจ็ดดวงบนท้องฟ้า) เป็นผู้ได้รับการยกย่องเรียกขานว่า ตริกาลัชญะ คือผู้รู้กาลเวลาทั้งสาม อันได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต พระเคาตมมุนีสร้างวนาศรมอยู่ใกล้ภูเขาวินธัยมีความสงบสุขสันโดษอยู่ด้วยนางอหลยาเป็นเวลาช้านาน หาความเดือดร้อนใจมิได้ แต่ความสุขของพระมุนีเฒ่าก็พลันหยุดชะงักลงด้วยการแทรกแซงของพระอินทร์ผู้มัวเมาด้วยกามกิเลศไม่มีที่สิ้นสุดในสมัยหนึ่ง เรื่องก็คือท้าววัชรินทร์นั่งรถแก้วแววฟ้าแล่นไปในอากาศผ่านมาทางป่าใหญ่เชิงเขาวินธัย ท้าวเธอแลลงไปข้างล่างโดยบังเอิญ ก็พลันประสบภาพสาวงามกำลังอาบน้ำอยู่ในลำธารใกล้อาศรมแห่งหนึ่ง ความงามตามธรรมชาติของนางเป็นที่จับอกจับใจของพระจอมเทพยิ่งนัก ถึงกับมองตามจนเหลียวหลัง จนกระทั่งมาตลีขับรถคล้อยลับสายตาไป “นางเป็นใครกันหนอ มาตลีรู้บ้างไหม” จอมสรวงตรัสถามมาตลีสารถี “ดูเหมือนนางจะอยู่ที่กระท่อมหลังน้อยนั่นเอง” “ถูกแล้วพระเจ้าข้า นางอยู่ที่กระท่อมหลังนั้น” มาตลีเทพสารถีกราบทูล “นางที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนั้นมิใช่อื่นไกล คืออหลยา นางเป็นภรรยาของพระเคาตมมหามุนี เจ้าของวนาศรมหลังน้อยนั้น ทรงสนพระทัยหรือพระเจ้าข้า” ท้าวศักรินทร์ไม่ตรัสตอบ ในพระทัยมีแต่ความหมกมุ่นถึงภาพนางอย่างเดียว ทำให้ไม่สนพระทัยต่อคำถามของสารถี ทรงพึมพำแผ่วเบาเหมือนตกอยู่ในมนตร์สะกดอันลึกซึ้ง “อหลยา อหลยา ชื่อแปลก มีความหมายว่า ยังไม่ได้หว่านไถ นางมีเจ้าของเสียแล้ว น่าเสียดายยิ่งนัก” มาตลีไม่ได้ยินคำรำพึง คงกล่าวต่อไป “อหลยาสวยนะพระเจ้าข้า เมื่อพระพรหมแรกสร้างนางขึ้นนั้น ใครๆก็อยากได้นาง แต่พระปิตามหะกลับมองนางให้แก่พระฤษีเคาตมะ เพราะทรงโปรดความมักน้อย และความถ่อมตนของพระฤษีตนนั้น ก็เลยเป็นมหาลาภของพระมุนีไป ไม่มีใครกล้าหมายปองนางอีก” “เราอยากพบนางอีก” ท้าวศจีบดีเผลอไผลตรัสด้วยความหลง “นางช่างงามถูกใจเราไปเสียหมดทุกอย่าง เราจะต้องพบนางอีก หาไม่แล้วเราคงไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต” “ไม่ทรงกลัวเกรงพระมหามุนีเลยหรือพระเจ้าข้า” มาตลีถามยิ้มๆ ท้าววัชรินทร์ทรงนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ ตรัสอย่างชั่งพระทัยว่า “นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่เราคิดไม่ตก แต่จะทำกระไรได้ นางมีค่าควรแก่การเสี่ยงมิใช่น้อย มิใช่หรือ” “พระเจ้าข้า สมควร แต่โปรดระวังพระองค์ไว้บ้าง ถึงพระเคาตมมุนีจะไม่ปรากฏชื่อเสียงว่าเคยสาปใครเพราะโดยปรกติเป็นผู้ถ่อมตนนักหนาก็จริงแล แต่พระมุนีเป็นผู้ที่มีความคิดลึกซึ้งสุดหยั่ง ยากที่ใครๆจะคาดคะเนได้ บุคคลไม่พึงวัดความลึกของเกษียรสาครได้ฉันใด อารมณ์ร้ายดีของพระมหาฤษีก็วัดไม่ได้ฉันนั้น” “จริงแล้ว” ท้าวมัฆวานรำพึงในพระทัย “แต่เรารักนาง แม้ไม่พยายามไฉนจะได้ดังใฝ่ฝัน” พระองค์มิได้บรรทมหลับเลยแม้สักชั่วครู่ยาม นอนกระสับกระส่ายอยู่บนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แม้กลิ่นปาริชาติอันหอมชื่นใจจะระรวยมาตามสายลมรำเพย ก็มิอาจสะกดพระทัยอันรุ่มร้อนของจอมเทพให้คลายลงได้ พอสิ้นราตรี แสงสีชมพูของอุษาเทวีฉายจับของฟ้า ท้าวเธอก็เร่งรีบมาสู่ป่า ทรงแฝงพระองค์อยู่บนเหลี่ยมภูผาอันสลับซับซ้อนเบื้องหลังวนาศรม ลำดับนั้นได้เวลาที่พระอาทิตย์ปรากฏ ดวงแจ่มจรัสพ้นหมู่เมฆ พระเคาตมหามุนีผู้เคร่งครัดต่อวัตรปฎบัติของตนก็เปิดประตูอาศรมก้าวออกมา มือหนึ่งถือไม้เท้าพรหมทัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ อีกมือหนึ่งถือตะกร้าสำหรับใส่ผลไม้และตะขอสำหรับเกาะเกี่ยว พระฤษีเฒ่ารีบเดินดุ่มมุ่งสู่ลำธาร เมื่อถึงก็วางสิ่งของไว้บนฝั่ง ค่อยก้าวลงไปยืนท่ามกลางกระแสน้ำอันไหลเอื่อย ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นพนมเหนือศีรษะ รำลึกถึงองค์พระอาทิตย์อันมีนามว่า สวิตฤ (สะ-วิ-ตรึ) อันประทับเหนืออาสน์บนราชรถทองคำลอยล่องในโค้งฟ้า พลางสำรวมจิตร่ายมหามนตราคายตรี (คา-ยะ-ตรี) อันศักดิ์สิทธิ์ จบแล้วก้มตัวลงกอบน้ำในลำธารขึ้นถวายเป็นเทวพลี จากนั้นจึงเอาน้ำลูบหน้าและเนื้อตัวเป็นอันเสร็จกิจวัตรยามเช้า พระมุนีค่อยๆก้าวขึ้นตลิ่ง หยิบไม้เท้าและตะกร้าตะขอขึ้นถือเดินลัดเลาะเสาะแสวงหาผลาผลตามทางในป่าไม่รีบเร่ง ท้าววัชรินทร์แอบดูเห็นพระฤษีเดินไปจนสุดสายตาห่างไกลจากวนาศรม กะเวลาว่าคงอีกนานจะกลับมา ท้าวเธอก็รีบรุดเข้าไปในอาศรมทันที ขณะนั้นอหลยาโฉมงามกำลังปัดกวาดพื้นห้องในอาศรมอยู่ ไม่ทันรู้สึกตัวว่ามีผู้ลอบเข้ามาในห้อง พอเงยหน้าขึ้นเห็นองค์อมรินทร์ยืนอยู่มีความสง่างาม และความองอาจผิดมนุษย์ธรรมดา นางก็เดาได้ในใจว่าบุรุษผู้นี้ต้องเป็นเทพมเหสักข์องค์ใดองค์หนึ่งเป็นแน่ นางก็รู้สึกตกใจและขวยเขินยิ่งนัก แข็งใจถามว่า “ท่านคือใคร เหตุใดจึงบุกรุกเข้ามาถึงที่นี่” “อย่าตกใจไปเลย” ท้าวมัฆวานตรัสปลอบ “เรามิใช่ชายอันธพาล หรือภูตผีปีศาจตนใด เราคือท้าววัชรินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ มีอำนาจเหนือทวยเทพทั้งปวง เราผ่านมาทางนี้เมื่อเย็นวาน เห็นเจ้าที่ลำธารก็เกิดความรักอย่างฝังใจไม่อาจจะเลือนลืมได้ เราจึงต้องตามมาหาเจ้า หวังแต่เพียงจะให้เจ้าเมตตารับไมตรีของเรา เจ้าอย่าได้ปฏิเสธเราเลย” “พระองค์ตรัสไม่สมควร” นางพยายามบ่ายเบี่ยง “โปรดทรงทราบเถิดว่าหม่อมฉันมีสามีแล้ว พระพรหมประทานหม่อมฉันให้แก่พระฤษีเคาตมะ เพื่อทำหน้าที่ภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อสามี หม่อมฉันมิใช่คนตัวเปล่า อย่าทรงข้องเกี่ยวกับหม่อมฉันเลย เสด็จกลับไปเสียเถิด ถ้าพระมุนีกลับมาเห็นเข้าจะเกิดเรื่อง” “เจ้าอย่ากลัวเรื่องนั้นเลยเรารับรอง” อัมรินทร์ตรัสอย่างดื้อดึง “เรามิให้เจ้าต้องเดือดร้อนหรอก อีกอย่างหนึ่ง จะกลัวไปไย องค์พระมุนีก็ไปหาผลไม้ในป่าโน้น ไกลลิบลับ อีกนานนักหนากว่าจะกลับมา เจ้าอย่าขัดขืนเบี่ยงบ่ายต่อไปเลย เวลานี้ควรจะเป็นเวลาแห่งความสุขของเราโดยแท้” “เหตุไฉนพระองค์จึงหักหาญเอาแต่พระทัยเช่นนี้ หม่อมฉันเป็นหญิงที่อ่อนแอ จะต่อสู้ปกป้องตนเองได้อย่างไร ได้โปรดเถิด อย่ารุกรานหม่อมฉันให้อัปยศต่อไปอีกเลย เสด็จกลับไปเสียเถิด หม่อมฉันขอร้อง” “ถ้าข้าไม่ได้เจ้าสมความปรารถนา ข้าก็ไม่กลับ” ท้าวศจีบดีดึงดันไม่ฟังเหตุผล ทรงใช้กำลังคุกคามนาง จนนางมิอาจขัดขืนต่อไปได้ ก็จำต้องยอมตามพระทัยในที่สุด ขณะนั้นเองพระเคาตมพรหมฤษีก็กลับจากการหาผลไม้ก้าวเข้าสู่เขตวนาศรม ยังมิทันจะถึงประตู พระโยคีเฒ่าก็พลันทราบเหตุทั้งปวงที่เกิดขึ้นด้วยญาณอันเร้นลับ พระมุนีก็วางตะกร้าผลไม้ลง ถือไม้เท้าพรหมทัณฑ์ก้าวเข้ามาในประตูอาศรมทันที
พระอินทร์และนางอหลยาประสบเหตุการณ์เฉพาะหน้าอันไม่คาดฝันก็ตกใจแทบหมดสติ พระอินทร์นั้นได้สติก่อนรีบแปลงองค์เป็นแมวขาวปลอดตัวหนึ่งนอนอยู่หน้าเตียง ส่วนนางอหลยายืนก้มหน้าตัวสั่นมีความหวาดกลัวสุดขีด พระเคาตมมุนีแลไปเห็นแมวนอนอยู่ก็ทราบด้วยทิพยญาณว่าเป็นใคร แต่แกล้งถามนางอหลยาว่า “นี่อะไร” นางค่อยเงยหน้าขึ้นสบตาสามี และตอบด้วยความสะทกสะท้านว่า “ มัชชาโอ” (คำนี้เป็นภาษาปรากฤต ถ้านับเป็นศัพท์คำเดียว มัชชาโอ แปลว่า แมว แต่ถ้าแยกเป็นสองคำต่อกัน คือ มัช+ ชาโอ จะแปลว่า ชู้ของฉัน เพราะ มัช แปลว่า ของฉัน และ ชาโอ แปลว่า ชู้) พระมุนีได้ฟังคำตอบสองง่ามสองแง่อันชาญฉลาด เล่นเงื่อนงำเล่นความหมายอย่างพิสดารเช่นนั้น ก็อดนึกชมความเฉียบแหลมของนางแต่ในใจไม่ได้ กล่าวยิ้มๆว่า “ช่างหลักแหลมจริงหนอ เจ้าจะให้ข้าเข้าใจว่าอะไรเล่า อย่างไรก็ดี แม้เจ้าจะให้มีความหมายว่า แมว แต่ก็ยังมีความหมายอื่นซ้อนอยู่ เจ้าไม่ได้โกหกเสียทีเดียว ยังแฝงความจริงอยู่บ้าง ถือว่าเจ้าสารภาพกึ่งหนึ่งเพราะฉะนั้นข้าจะลดโทษของเจ้าลงกึ่งหนึ่งด้วย อหลยา จงฟังข้า เจ้ามีความผิดในการกระทำครั้งนี้ในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำด้วยแม้ไม่เต็มใจก็ตาม ความจริงถ้าจะว่าไป หากเจ้าจะไม่ไยดีในอินทรเทพจริงๆ และประกาศสัตยกริยา คืออ้างความจงรักภักดีที่เจ้ามีต่อข้าโดยแท้จริง อำนาจแห่งความสัตย์จะช่วยคุ้มครองเจ้าให้ปลอดภัยทุกประการ ศจีบดีจะทำอะไรเจ้าได้ เพราะอำนาจแห่งความสัตย์ย่อมอยู่เหนืออำนาจอธรรมทั้งปวง แต่นี่เจ้าก็มิได้อ้างสัตยกริยา จิตใจของเจ้าอ่อนแอเกินไป พลอยเผลอไผลอารมณ์ไปด้วยวูบหนึ่ง จึงกลายเป็นตราบาปที่ประทับชีวิตของเจ้าไปชั่วกาลนาน อหลยาเอ๋ย ข้าสงสารเจ้า แต่ข้าช่วยอะไรเจ้าไม่ได้หรอก พระเป็นเจ้าเท่านั่นที่จะช่วยลบล้างมลทินของเจ้าได้ เจ้าจงกลายเป็นตุ๊กตาหินไปหมื่นปี จนถึงกาลเวลาที่พระวิษณุเสด็จอวตารลงมาในโลกเพื่อปราบท้าวราพณาสูร (ทศกัณฐ์) พระองค์จะทรงนามว่า รามจันทร์ เมื่อใดที่พระรามจันทร์พร้อมด้วยพระลักษมณ์อนุชา เสด็จติดตามหาพระนางชานกี (ชา-นะ-กี นางสีดา) ผ่านมาทางนี้ พระรามจันทร์จะทอดพระเนตรเห็นเจ้า และด้วยสายพระเนตรอันทรงไว้ซึ่งความเมตตาอย่างลึกซึ้งของพระเป็นเจ้าที่ทรงเพ่งดูเจ้านั้นแล อหลยา เจ้าจะได้กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง บัดนี้ข้ากับเข้าจะต้องอำลาจากกันแล้ว เราคงจะไม่ได้พบกันอีกนับหมื่นปี แต่เอาเถอะ ถึงเวลาที่เจ้าได้รับการชำระมลทินด้วยพระมตตาจากพระพิษณุเป็นเจ้าเรียบร้อยแล้ว ข้าจะกลับมารับเจ้า ณ ที่นี้ เมื่อนั้นเราจะได้พบกันอีก” สิ้นคำสาปสรร นางอหลยาผู้เคราะห์ร้ายก็กลายร่างเป็นศิลาไปทันที ท้าวศจีบดีแลเห็นเหตุการณ์อันน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเช่นนั้นก็ตกใจ รีบคืนร่างเป็นอมรินทร์ตามเดิม ยืนก้มหน้ารับผิดด้วยใจระทึก พระฤษีเฒ่าเหลือบดูจอมเทพแวบหนึ่งด้วยสายตาที่แสดงความลึกลับสุดหยั่ง ใบหน้าเฉยเมยเหมือนไร้ความรู้สึก แต่เสียงที่เปล่งออกมานั้นเป็นประกาศิตที่เปรียบประดุจคมศรอันแหลมคม บาดลึกในหฤทัยของราชาแห่งเทพอย่างลึกซึ้ง เป็นประกาศิตที่ยังให้เกิดความเจ็บและอายไปชั่วนิรันดร “ดูก่อนท้าววาสพ “ พระมหามุนีกล่าวอย่างเยือกเย็น “ท่านนี้เป็นถึงจอมเทพ แต่ความประพฤติของท่านนั้นย่อหย่อนหาได้สมควรแก่ฐานะอันสูงส่งไม่ การขาดสติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทำให้ท่านประพฤติผิดคลองธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า การที่ท่านหลงมัวเมาในลาภยศและหวาดเกรงตบะเดชะของพระมหาฤษี ถึงกับใช้อุบายสกปรกส่งนางอัปสรไปลวงล่อด้วยอิตถีมายา ทำให้พระฤษีเหล่านั้นต้องสูญเสียตบะ และกุศลผลบุญที่บำเพ็ญมาจนหมดสิ้น โดยที่ท่านมิได้เมตตาปรานีแม้แต่น้อย จิตใจของท่านมีแต่ความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ท่านส่งเมนกาไปทำลายตบะของพระวิศวามิตรจนมีลูกด้วยกันคือ ศกุนตลา แล้วก็เลิกรากันไป พระวิศวามิตรต้องไปเริ่มต้นบำเพ็ญตบะใหม่ พอท้าวเธอเริ่มก้าวหน้าในฌานวิถี ท่านก็ส่งรัมภาไปก่อกวนอีก ทำให้รัมภาถูกพระฤษีสาปเป็นหินไปพันปี ครั้งนี้ท่านก็ลุแก่อำนาจกามตัณหามาก่อความอดสูให้แก่เราจนนางถูกเราสาปให้เป็นหินเพื่อชดใช้ความผิดที่ร่วมก่อกับท่าน ท่านเคยนึกสงสารหญิงเคราะห์ร้ายพวกนี้บ้างหรือไม่ ท่านนึกถึงรัมภาก็แต่ในฐานะที่นางเป็นคนรับใช้ เป็นทาสของท่าน ครั้งนี้ท่านก็นึกถึงอหลยาเพียงฐานะเหยื่อตัณหาของท่านเท่านั้น ใช่หรือไม่” พระอินทร์ยืนก้มหน้าดุษณี ไม่อาจจะโต้ตอบแม้คำหนึ่ง เหมือนเด็กยืนสงบเสงี่ยมต่อหน้าครูของตน พระเคาตมะจึงกล่าวต่อไป “ดูก่อนเทวินทร์ ท่านจงฟังเรา และฟังให้ดี ท่านจงรู้เถิดว่า อาชญากรรม คือการทำผิดย่อมควบคู่กับ ทัณฑะ คือการลงโทษ เมื่อมีการทำผิดครั้งใดก็ต้องมีการลงโทษทุกครั้ง เป็นระบอบแบบแผนที่ยอมรับกันมาตั้งแต่สร้างสวรรค์ สร้างแผ่นดินโลก ท่านควรจะรู้ดีกว่าใครๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎสากล คือ ฤตะ หรือ กฎหมาย ธรรมสูตร ธรรมศาสตร์ใดๆ อันมีมาแต่บรมสมกัลป์ ถ้ามีแต่อาชญากรรมและปราศจากทัณฑะ ก็จะมีแต่คนพาลสันดานหยาบเป็นใหญ่ในสังคม โลกนี้จะดำรงต่อไปได้ไฉน แม้เรามิลงทัณฑ์แก่ท่าน ทั้งสามโลกก็จะติฉินเราว่าไม่มีธรรมะ เห็นผิดเป็นชอบ ลำเอียงเพราะ ภยาคติ ฉะนั้นเราจะต้องลงทัณฑ์แก่ท่านมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ทำผิดทั้งหลาย แต่เราจะไม่รุนแรงแก่ท่านนักหนาเหมือนเมื่อครั้งที่พระฤษีทุรวาสสาปแช่งท่านเพียงให้รู้จักหลาบจำเท่านั้น นี่แน่ท้าว วชิรปาณี ท่านหลงใหลใฝ่ฝันอะไร ท่านติดอกติดใจอะไรนักหนา สิ่งนั้นจงสัมฤทธิผลสมความปรารถนาของท่านเถิด” “ขอให้เครื่องหมายแห่งสตรีเพศจงปรากฎทั่วไปบนร่างของท่าน เราสาปท่านเพียงนี้ก็นับว่าเบานักหนาแล้ว จริงอยู่ ท่านอาจจะต้องทนต่อความอับอายขายหน้าไปช้านาน แต่อย่ากลัวไปเลย เมื่อเวลาผ่านไปหลายพันปี ท่านจะได้รับความช่วยเหลือจากบุพพเปตบุรุษอันเป็นเทวดาชั้นต่ำพวกหนึ่ง เขาจักช่วยดัดแปลงเครื่องหมายแห่งความอัปยศบนกายท่านให้มัลักษณะดังนัยน์ตาเรียวงาม เมื่อนั้นท่านจะแลดูประหนึ่งมีนัยน์ประดับอยู่ทั่วตัว คนทั้งหลายจะพากันเรียกท่านว่า ท้าวสหัสนัยน์ คือผู้มีนัยน์ตาตั้งพัน และเข้าใจว่าที่ท่านมีนัยน์ตารอบตัวเช่นนั้นก็เพื่อคอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของมนุษย์และทวยเทพ จะกลับเป็นเกียรติยศเสียอีกในอนาคต จะวิตกไปใย สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรจะยั่งยืนนาน ทุกสิ่งจะล่วงไปตามกาลเวลา กาลเวลานั้นแลย่อมกลืนกินทุกสิ่งรวมทั้งตัวมันเอง” พระมุนีเฒ่าหยุดพูด หันหลังกลับ มือถือไม้เท้าพรหมทัณฑ์ ค่อยก้าวย่างออกจากประตูอาศรมโดยมิสนใจที่จะหันไปดูผลของการสาปสรรว่าจะบังเกิดแก่องค์อมรินทร์เป็นที่น่าอดสูเพียงใด เพียงแต่พึมพำเบาๆเป็นการอำลาแก่รูปศิลานารีที่สถิตอยู่เบื้องหลังว่า “ข้าสงสารเจ้า อหลยา จงคอยโอกาสของเจ้าเถิด คงอีกนาน กว่าพระเป็นเจ้าจักเสด็จมา… กว่าพระองค์จักเสด็จมา” จากหนังสือ ประภาวดี รวบรวมและเขียนโดย อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๒

อสุรินทรราหู

อสุรินทรราหู ราหูเป็นพญาอสูรที่ทรงฤทธิ์ร้ายกาจ และมีความเป็นอมตะชั่วนิรันดรแต่ผู้เดียวในบรรดาหมู่อสูร ยักษ์ และแทตย์ ทั้งปวง ยิ่งกว่านั้นยังได้รับการเคารพกราบไหว้ของคนทั้งหลายราวกับเป็นเทพ ในเทวาลัยหลายแห่งมีรูปสลักและรูปหล่อของราหูสถิตอยู่บนแท่น และมีรูปพระจันทร์เสี้ยวประดับอยู่บนศรีษะ รางกับเทวรูปของพระอิศวรผู้ทรงได้ฉายาว่าพระจันทรเศขร หรือ “พระผู้ทัดจันทร์เป็นปิ่น” นั่นเทียว พญาอสูรร้ายเป็นบุตรของพระกัศยปเทพบิดรกับนางสิงหิกา ดังนั้นบางทีจึงมีผู้เรียกว่า ไสงหิเกยะ (แปลว่าลูกของนางสิงหิกา) เมื่อเกิดสงครามระหว่างทวยเทพกับเหล่าอสูรครั้งใด ราหูก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำทัพอสูรเข้าบุกแดนอมราวดีของพระอินทร์ทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะท้าววัชรินทร์ได้ ต้องถอยกลับมาทุกที การสงครามระหว่างทวยเทพกับอสูรอันมีชื่อว่าเทวาสุรสงครามนั้น ก็ยืดเยื้อติดต่อกันมาหลายพันหลายหมื่นปี วันหนึ่งพระศจีบดี (พระอินทร์) ทรงช้างเป็นเทพพาหนะท่องเที่ยวไปในท้องฟ้า ได้สวนทางกับพระทุรวาสมหาฤษี ซึ่งได้พวงมาลัยทิพย์จากอัปสรผู้หนึ่งและกำลังมึนเมาเพราะกลิ่นหอมของดอกไม้ทิพย์นั้น เมื่อพระมุนีแลเห็นท้าววัชรินทร์ผ่านมา ก็ถวายพวงมาลัยแด่ท้าวเธอทันที พระศักรินทร์รับพวงมาลัยแล้ววางไว้บนตระพองช้าง กลิ่นหอมประหลาดของมาลัยทิพย์ทำให้พญาช้างเกิดความมึนเมาบ้าคลั่ง และเอางวงจับมาลัยนั้นมาขยี้ทิ้งเสียด้วยเท้า ยังความขุ่นเคืองแก่พระมหามุนีเป็นอันมาก จึงสาปแช่งให้พระอินทร์และทวยเทพแพ้แก่อสูรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเกิดสงครามกับอสูรอีก พระอินทร์ก็พ่ายแพ้ทุกครั้งและทวยเทพทั้งหลายก็ถูกฆ่าตายจนมีจำนวนลดลงอย่างมากมาย เมื่อสิ้นปัญญาจะสู้อีกต่อไป ท้าววัชรินทร์ก็พาทวยเทพที่เหลือเหาะหนีไปเฝ้าพระไวกูณฐนาถ เมื่อทรงทราบเรื่องแล้วจึงแนะแก่ทวยเทพว่า “ดูก่อนเทวะทั้งหลาย หนทางแก้ไขยังพอมีอยู่แต่ก็ลำบากยิ่งนัก ท่านจะมีกำลังกายกำลังใจกล้าแข็งสักปานใดจึงจะทำงานนี้ได้เล่า ท่านจะทำไหวหรือ” “ทำอะไรพระเจ้าข้า” “ก็กวนน้ำทิพย์มากินไงเล่า” พระเป็นเจ้าตรัสยิ้มๆ “เมื่อได้กินน้ำทิพย์แล้วก็จักไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย จะมีชีวิตยืนยงชั่วฟ้าดิน แต่งานนี้มิใช่ของง่าย พวกท่านทำไม่ไหวหรอก จงทำดีต่อพวกอสูรเสียก่อนแล้วขอแรงอสูรมาช่วยกวนน้ำทิพย์จึงจะสำเร็จในที่สุด ท่านจงสัญญาแก่พวกนั้นว่าท่านจะแบ่งน้ำทิพย์ให้กึ่งหนึ่ง มันคงเต็มใจที่จะช่วยออกแรง แต่พอได้น้ำทิพย์แล้วเราค่อยหาทางหลีกเลี่ยงทีหลัง อย่ายอมให้มันกิน เอาเถิด เรื่องนี้ไว้เป็นภาระของเรา เราจะจัดการกับพวกมันเอง” เมื่อทวยเทพไปทำสัญญาตกลงกับอสูรเป็นผลสำเร็จแล้วพระวิษณุเป็นเจ้าก็ตรัสสั่งให้อสูรช่วยกันยกภูเขามันทรอันเป็นต้นกำเนิดแห่งมณีนพรัตน์มาตั้งลงในท่ามกลางแห่งทะเลน้ำนมในสวรรค์ไวกูณฐ์นั้น และให้บรรดาเทพทั้งหลายช่วยกันเก็บสมุนไพรนานาชนิดจำนวนมหาศาลมาทุ่มลงในเกษียรสาคร แล้วเอาพญานาควาสุกรี (วาสุกิ) มาพันรอบเขามันทรต่างสายเชือกสำหรับชักโยงให้เทวดาและอสูรช่วยกันดึงไปมาปั่นภูเขาให้หมุนติ้วเพื่อกวนน้ำนมในเกษียรสมุทรกับสมุนไพรอันทรงคุณวิเศษให้เจ้าด้วยกัน จักได้เป็นปัจจัยให้บังเกิดทิพยวารีในที่สุด เมื่อการดึงเชือกคือพญานาควาสุกรีเริ่มต้น เหล่าเทวดาก็หลบไปดึงทางหางนาค หลอกให้อสูรโง่เขลาทั้งหลายไปดึงทางหัวนาค ปั่นภูเขามันทรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี พญาวาสุกรีนาคราชซึ่งร่างกายถูกเสียดสีรอบภูเขาอยู่ตลอดเวลาก็ปวดแสบปวดร้อนจนหนังถลอกปอกเปิกทนไม่ไหว ต้องอ้าปากคายพิษเป็นไฟแรงร้อนออกมาทีละน้อย ยังผลให้เหล่าอสูรร้อนรุ่มเหงื่อตกอ่อนแรงไปตามกัน ตรงข้ามกับฝ่ายทวยเทพที่ฉุดข้างหางของพญานาค นอกจากจะไม่โดนไอร้อนแล้ว ยังมีฝนโปรยปรายให้ชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ราหูเป็นผู้หนึ่งที่ต้องออกแรงฉุดทางหัวนาค ความเหนื่อยอ่อนและร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลาเหมือนตกนรกทั้งเป็น ทำให้ราหูต้องอดทนอย่างแสนสาหัสจะเลิกล้มเสียกลางคันก็นึกเสียดายเพราะไหนๆก็สู้ทนมาตั้งหลายร้อยปีแล้ว ความหวังใกล้จะสัมฤทธิผล เมื่อได้น้ำทิพย์แล้วค่อยคิดบัญชีกับเทวดาผู้มากด้วยกลโกลทีหลังดีกว่า ราหูจึงเป็นอสูรผู้เดียวที่มุ่งมั่นในใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเป็นอมรให้ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะคิดการใหญ่ต่อไป บางทีการจะยึดอำนาจเข้าปกครองสามโลกก็คงจะไม่เป็นความฝัน อย่างไรก็ดี ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดและต้องเจ็บปวดแสนสาหัสยิ่งกว่าอสูรทั้งหลายก็ยังมีอยู่ พญานาควาสุกรีนั้นทนทุกข์ทรมานยิ่งกว่าใครทั้งหมด ร่างที่ผูกพันอยู่ด้วยเขามันทรอันหมุนติ้วดังลูกข่างนั้นชอกช้ำสะบักสะบอมเหลือประมาณ เมื่อกาลเวลาล่วงไปพันปีไม่อาจจะทนทานต่อไปได้อีก พญานาคผู้มีร่างใหญ่มหึมาก็พ่นพิษร้ายเป็นไฟกรดออกมา ควันพิษมหาศาลอันพลุ่งออกมาไม่ขาดระยะนั้น มีลักษณะดังภูเขาไฟระเบิดมืดคลุ้มไปทั้งจักรวาลและความแรงร้อนสุดประมาณนั้นก็แผดเผาจะทำลายสวรรค์และโลกให้พินาศย่อยยับเป็นภัสมธุลีลง ทวยเทพและอสูรเห็นดังนั้นก็ตกใจลนลานแตกตื่นหนีเอาชีวิตรอด แต่ก็สิ้นหนทางเพราะควันพิษนั้นปกคลุมมืดมิดไปทุกที่ ทันใดนั้นเองพระอิศวรมหาเทพก็เสด็จมาปรากฎพระองค์ ณ ที่นั้น และด้วยพระทัยอันเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกและชีวิตทั้งหลายในพิภพ พระผู้เป็นเจ้าก็ตัดสินพระทัยอ้าพระโอษฐ์ออกดูดกลืนพิษร้ายเข้าสู่พระกายทันทีก่อนที่โลกและสวรรค์จะแตกทำลาย ไฟกรดอันเป็นพิษแรงร้ายก็เผาผลาญพระศอจนไหม้เกรียมเป็นสีดำดังนิล พระเป็นเจ้าจึงได้รับพระนามใหม่ว่า พระนิลกัณฐ์ (ผู้มีพระศอเป็นสีดำ) และพระนามนี้ก็กลายเป็นชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เพียงแต่จะติดอยู่ที่ริมฝีปากของมนุษย์และทวยเทพทั้งมวล แต่ยังจารึกอยู่ในหัวใจของทุกผู้ทุกนามตลอดไป เพราะนามนี้เป็นสัญลักษณ์ของความรักอันสูงสุด ความรักที่อดทนต่อความเจ็บปวดแสนสาหัสเพราะการเสียสละอย่างใหญ่หลวง และถึงแม้นกระนั้นก็ไม่เคยเรียกร้องขอความเห็นใจจากใครและไม่ทวงบุญคุณ
ทันใดที่ความมืดมิดผ่านไปและดวงสุริยะแผ่รังสีเจิดจรัสในท้องฟ้าทะเลน้ำนมอันปั่นป่วนมานับพันปีก็หยุดนิ่งสงบ ใความสงบนิ่งอันเป็นที่สุดแห่งความบากบั่นพยายามและเป็นการยุติความเหนื่อยยากที่ทรมานมาช้านานนี้เอง ของวิเศษสุด ๑๔ อย่างก็ทยอยกันผุดขึ้นจากเกษียรสาครตามลำดับ มีดวงจันทร์ ดวงแก้วเกาสตุภะ พระลักษมีเทวี นางวารุณี(เทวีแห่งเหล้า) ช้างไอราวัต (เอราวัณ) ม้าอุจไจศรพ ต้นปาริชาติ และอื่นๆ รวมทั้งนางอัปสรผู้งามเลิศอีก ๓๕ ล้านตน เมื่อถึงอันดับสุดท้ายแล้ว ธันวันตริ (ทัน-วัน-ตะ-ริ) แพทย์สวรรค์ก็ผุดขึ้นมาพร้อมกับทูนหม้อน้ำทิพย์ไว้ค่อยประคองวางลงบนแท่นบัวทองอันงามวิจิตรที่สถิตอยู่บนฝั่งเกษียรสมุทร ขณะนั้นทวยเทพและอสูรกำลังวุ่นวายยื้อแย่งของวิเศษและฉุดนางอัปสรไปเชยชม ไม่มีใครทันสังเกต สุรินทรราหูผู้มีใจอันมั่นคงหมายมุ่งในน้ำทิพย์เพียงอย่างเดียว ก็ลอบเข้าไปหยิบหม้อน้ำทิพย์แล้วหลบสู่พิภพบาดาลทันที การกระทำของพญาอสูรร้ายหาได้รอดพ้นจากสายพระเนตรของพระวิษณุไม่ พระองค์รีบแปลงกายเป็นนางงามออกติดตามไปทันที ด้วยความงามอันจับจิตและมหามนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเป็นเจ้า ทำให้ราหูเกิดความเคลิบเคลิ้มเหมือนถูกสะกด จ้องมองดูนางด้วยความหลงใหล เมื่อเห็นพญายักษ์เผลอ พระวิษณุนางแปลงก็รีบฉวยหม้อน้ำทิพย์พากลับมายังฝั่งเกษียรสาครตามเดิม และพระเป็นเจ้าก็ประกาศให้ทวยเทพทั้งหลายมากินน้ำทิพย์โดยทั่วกัน ในขณะที่นางอัปสรพากันล่อบรรดาอสูรไปเสียอีกทางหนึ่ง ราหูได้สติเมื่อนางแปลงจากไปแล้ว แสนเสียดายน้ำทิพย์ที่ตกมาถึงมือแล้วกลับเสียทีถูกชิงเอาไปได้ ด้วยความแค้นและเสียใจ พญายักษ์ร้ายรีบออกติดตามทันที เมื่อมาถึงสวรรค์แลเห็นทวยเทพกำลังตักตวงน้ำทิพย์ดื่มกันวุ่นวาย พญาอสูรก็ร่ายมนตร์แปลงเป็นพราหมณ์ชราเข้าไปขอแบ่งน้ำทิพย์บ้างเทพทั้งหลายเห็นเป็นพราหมณ์ก็ไม่ระแวงตักน้ำทิพย์ส่งให้ด้วยใจยินดี พราหมณ์แปลงก็ดื่มอมฤตรสซาบซ่านทั่วสรีรกายหายเหนื่อยเมื่อยล้ามีเรี่ยวแรงอุดมสมบูรณ์กลายภาวะเป็นทิพยบุคคลไปทันที ฝ่ายพระจันทร์และพระอาทิตย์ลอยอยู่ในที่สูงแลเห็นการแปลงร่างของพญาราหูโดยตลอด ก็รีบกราบทูลพระวิษณุให้ทรงทราบทันที พระวิษณุจึงขว้างจักรชื่อ สุทรรศน์อันเป็นเทพศาตรามีฤทธิ์ร้ายกาจไปตัดร่างราหูขาดเป็นสองท่อนในขณะที่กำลังสาละวนดื่มน้ำทิพย์อยู่ เลือดของราหูหยดลงบนพื้นแดงฉาน แต่พญายักษ์หาได้สิ้นชีวิตไม่เพราะกลายเป็นอมรไปแล้ว ขณะเดียวกันน้ำทิพย์ที่กลืนเข้าไปบางส่วนก็หยดลงบนพื้นด้วย หยดเลือดนั้นหลายเป็นหอมแดงและหยดน้ำทิพย์กลายเป็นหอมขาว พระวิษณุจึงมีเทวประกาศิตแด่ธันวันตริแพทย์สวรรค์ว่า “ ธันวันตริ เจ้าจงจดไว้ในคัมภีร์อายุรศาสตร์ (คัมภีร์แพทย์) ของเจ้าเพื่อสั่งสอนมนุษย์สืบไปภายหน้าว่า หอมแดงนั้นเป็นโทษเพราะมีกำเนิดจากโลหิตของอสุรินทรราหู ผู้ใดบริโภคหอมแดงจะมีโรคภัยเบียดเบียนหาคุณประโยชน์มิได้ แต่ผู้ใดบริโภคหอมขาวจะมีพลานามันอันสมบูรณ์ จะปราศจากโรคาพาธและชีวิตจะยืนยาวเพราะหอมขาวเกิดจากอมฤตรสอันทรงคุณวิเศษหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้” ตรัสแล้วพระเป็นเจ้าก็มอบหม้อน้ำทิพย์ที่ยังมีเหลืออยู่ให้พระอินทร์รับไปเก็บไว้ในสวรรค์ มิให้ผู้ใดมีโอกาสแตะต้องอีก เสร็จภารกิจอันวุ่นวายนับพันปีแล้ว พระเป็นเจ้าก็เอนพระองค์ลงไสยาศน์เหนือทิพยอาสน์อันแวดล้อมอยู่ด้วยวงขนดแห่งพญานาคราชเศษะกลางเกษียรสาคร มีพระภัทราลักษมีนั่งเฝ้าอยู่แทบปลายพระบาท ปรนนิบัติพัดวีด้วยความรักและภักดี พระเป็นเจ้าทอดพระเนตรดูด้วยความชื่นชมและพระเนตรอันเรียวยาวปานกลีบนีโลตบลก็ค่อยหรี่ลงทีละน้อยจนปิดสนิท เป็นการแสดงว่าได้เข้าสู่มหานิทราอันยาวนานอีกครั้งหนึ่ง และคงอีนานนับหมื่นแสนปีกว่าจะบรรทมตื่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออธรรมเข้าครอบครองโลกและพระเป็นเจ้าต้องปราบปรามให้สิ้นไป พระเป็นเจ้าได้เข้าสู่ภาวะนารายณ์บรรทมสิทธุ์ไปแล้ว โลกและสวรรค์ก็อยู่ในความสงบร่มเย็นเช่นเดิมแล้ว แต่ไฟแค้นของอสุรินทรราหูยังลุกโพลงอยู่ ความแค้นแสนสาหัสที่ร่างกายถูกตัดเป็นสองท่อน (ท่อนบนเรียกว่า ราหู ท่อนล่างเรียกพระเกตุ) เป็นเพราะความปากบอนของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ซึ่งกราบทูลพระเป็นเจ้าให้ทรงทราบโดยแท้ ก็การขอดื่มน้ำทิพย์นั้นเป็นความผิดไฉน ราหูมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งตามสัญญา หาได้เป็นอาชญากรรมแต่ประการใดไม่ พระอาทิตย์และพระจันทร์จะต้องชดใช้บาปกรรมของตนด้วยการถูกลงโทษเสียบ้างจึงจะยุติธรรมและสาสม ด้วยเหตุนี้พญายักษ์จึงคอยหาโอกาสจับสูรยเทพและจันทรเทพมากลืนกินเสียด้วยความพยาบาท แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์ก็หลุดล่วงพ้นไปได้ชั่วเวลาไม่นานเพราะราหูมีร่างกายเพียงครื่งท่อน เทพทั้งสองจึงหลุดไปได้ การจองเวรของอสุรินทรราหูทำให้เกิดสุริยคราสและจันทรคราสเรื่อยมา พระจันทร์นั้นอยู่ใกล้หน่อยจึงถูกจับกินลบ่อยครั้งแต่พระอาทิตย์นั้นอยู่สูงกว่าถึงหมื่นโยชน์จับลำบาก นานๆจึงจะได้โอกาสกลืนกินสักครั้ง ราหูมิได้ก่อการกำเริบเสิบสานคิดทำสงครามแย่งสวรรค์จากเทวดาเหมือนดังที่ปณิธานไว้แต่เดิมเพราะร่างกายของตนเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ราหูก็เป็นทิพยบุคคลมีสภาพเหมือนเทพไปแล้ว พระธาดาพรหมจึงประทานเกียรติยศให้ราหูได้เป็นสมาชิกของเทวสภาด้วยผู้หนึ่ง นับว่าเป็นอสูรพิเศษเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติสูงส่งนี้และเป็นอสูรผู้เดียวอีกเช่นกันที่มีรูปบูชาอยู่ในเทวาลัยร่วมกับเทวรูปอื่นๆ

อโศกสุนทรี

อโศกสุนทรี
อโศกสุนทรี ครั้งหนึ่ง ในอดีตกาลนานนับประมาณมิได้ พระศิวะเป็นเจ้าประทับสำราญด้วยพระโลกมาตาอุมาไหมวตี ในพระวิมานบนยอดเขาไกรลาส พระเทวีตรัสปรารภความปรารถนาต่อองค์พระสวามีว่า “ข้าแต่จอมบดี หม่อมฉันเบื่อที่จะอยู่ในวิมานมาศนี้เต็มทีแล้ว เวลานี้ก็เข้าฤดูวสันต์ ดอกไม้ป่าบานสะพรั่งทุกหนทุกแห่ง น่าดูน่าชมนัก เราไปเที่ยวเล่นกันให้เพลินใจดีกว่า” พระมหาเทพทรงโอบอุ้มพระมหาเทวีขึ้นวางบนพระเพลา ตรัสเอาใจว่า “จะเป็นไรไปเล่า ถ้าเจ้าปรารถนา เราจะพาเจ้าไปทุกหนทุกแห่งในสากลกพิภพตามที่เจ้าต้องการ” พระปารวตีทรงแย้มยิ้มด้วยถูกพระทัย ตรัสอย่างรื่นเริงว่า “ดีละ หม่อมฉันอยากจะไปเที่ยวในที่ซึ่งสวยงามที่สุด ซึ่งพระองค์ยังไม่เคยพาหม่อมฉันไป ทรงทราบหรือไม่ว่ายังมีวนาลีแห่งใดที่งามยิ่งกว่าสวนสวรรค์ของวัชรินทร์ เพริศพรายยิ่งกว่าสวนขวัญของท้าวกุเวรที่นครอลกา และตรึงใจให้ฝันหาเหมือนอุทยานแห่งเหมกูฏคีรีขององค์กัศยปเทพบิดร ยังจะมีสถานที่ใดในสามภพที่จะงามประเสริฐยิ่งไปกว่านี้อีกเพคะ” “มีสิ” พระจอมไกรลาสทรงแย้มพระสรวล “เท่าที่เรารู้แก่ใจ ยังมีที่อีกแห่งหนึ่งที่เจ้าไม่เคยรู้จัก ที่นั่นคือสวนขวัญอันพระพรหมธาดาทรงสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งปฐมบรมกัปป์ เป็นที่อันหวงห้ามแม้เทพยดาทั้งหลายก็มิอาจกล้ำกราย เราจะพาเจ้าไปที่นั่น ไปกันเถอะ” ตรัสเสร็จ พระไตรศุลีอุ้มพระมรเมศวรีแนบพระอุระ เสด็จประทับบนหลังพญาโคเผือกอันเป็นพาหนะ ลอยลิ่วไปในอากาศชั่วพริบตา เพียงชั่วอึดใจเดียวก็มาถึงนันทนวัน อันงามวิจิตรสุดพรรณนาประหนึ่งดินแดนแห่งความฝัน พระศิวะเป็นเจ้าทรงพาพระเคารีเที่ยวชมสถานถิ่นโดยรอบด้วยความเพลิดเพลิน จนในที่สุดมาถึงเนินเตี้ยเชิงเขาใหญ่ มีต้นไม้ต้นหนึ่ง ลำต้นสูงระหงแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปโดยรอบเป็นช่อชั้นลดหลั่นดังคันฉัตร มีใบเขียวสะพรั่งทุกกิ่งก้านเลื่อมพรรณรายดังแววหางนกยูง และผลิดอกขาวอร่ามสดใดดังแก้วมุกดา พระอุมาเทวีทรงประหลาดพระทัยต่อภาพที่เห็นจนอดปรารภมิได้ “ต้นอะไรกันนี่ งามประหลาดดี ไม่เคยเห็น” “นี่คือต้นกัลปพฤกษ์ เป็นพฤกษาสวรรค์ที่ทรงความมหัศจรรย์เป็นยอดยิ่ง” พระปรเมศวรทรงอธิบาย “เป็นอย่างไรเพคะ” “ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้สารพัดนึก ย่อมอำนวยทุกสิ่งแก่ผู้ขอตามใจปรารถนา” “จริงหรือเพคะ ถ้ากระนั้นหม่อมฉันจะลองตั้งความปรารถนาดู” พระเทวีทรงยิ้มแย้มด้วยความพอพระทัย และตรัสลองเชิง “ดีละหม่อมฉันต้องการได้ลูกสาวคนหนึ่ง พระองค์ก็ทรงทราบดีว่าหม่อมฉันมีแต่ลูกชายคือ พระคเณศ กับสันทกุมารเท่านั้น ถ้าต้นไม้นี้มีคุณพิเศษ ดังที่ตรัสจริงก็ขอให้อำนวยพรแก่หม่อมฉัน ให้หม่อมฉันได้ลูกสาวตามปรารถนาสิเพคะ” ทันใดที่สิ้นดำรัส กุมารีน้อยน่ารักผู้หนึ่งก็ปรากฏขึ้นในอ้อมพระกร พระโลกมาตาสุดแสนโสมนัส ตระกองกอดธิดาแนบพระอุระ และตรัสอย่างดีพระทัยว่า “สำเร็จแล้ว หม่อมฉันได้ลูกหญิงสมใจคราวนี้เอง ไม่นึกเลยว่าจะได้ดังใจปรารถนา” “เจ้าจะตั้งชื่อลูกสาวว่ากระไร” “หม่อมฉันจะตั้งชื่อลูกว่า อโศกสุนทรี “พระเทวีตรัสหนักแน่น “หม่อมฉันจะรักและเลี้ยงดูอโศกสุนทรีอย่างดีที่สุด” กาลเวลาผ่านไป อโศกสุนทรีเติบโตเจริญวัยเป็นสาวรุ่นงดงามดังเทพอัปสร เป็นที่สนิทเสน่หาของพระโลกมาตายิ่งนัก วันหนึ่ง พระเทวีทรงเรียกนางเข้ามาเฝ้าตรัสด้วยความห่วงใยว่า "อโศกสุนทรีลูกรัก ขึ้นชื่อว่าสตรีย่อมจะมีสามีเป็นที่พึ่งเป็นคู่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ลูกของแม่ก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งจะต้องจากแม่ไปอยู่กับสามีแน่นอน เจ้าจงเตรียมตัวเตรียมใจของเจ้าแต่บัดนี้ กาลอนาคตจะต้องมาถึงในไม่ช้า แม่จะแจ้งชีวิตในภายหน้าให้เจ้าทราบ สามีของเจ้าคือ พระราชาองค์ที่สามแห่งจันทรวงศ์นามว่า นหุษ จักได้เป็นพระจักรพรรดิเจ้าโลก เป็นใหญ่ทั้งในแผ่นดินและสวรรค์ ตัวเจ้าเองจะมีบุตรชายทรงอำนาจเกรียงไกรในสากลโลก สืบตระกูลเป็นหลายสาย ล้วนเป็นสกุลอันยิ่งใหญ่ แม้องค์พระวิษณุเจ้าก็จะทรงอวตารลงไปกำเนิดในสกุลของเจ้าใน ทวาปรยุค อันเป็นปางที่แปดของพระองค์ หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่กลียุค ก็จะถึงความเสื่อมสูญไปตามวิสัยของโลก ตัวเจ้าจะมีความสุขกับสามีจนมีลูกด้วยกัน หลังจากนั้นความวิบัติพลัดพรากจะมาสู่เจ้า เพราะสามีเจ้าเป็นต้นเหตุ ความพลัดพรากดังกล่าวนี้จะกินเวลาหลายหมื่นปี กว่าจะได้พบกันอีก แต่ว่าเหตุการณ์ภายหน้ายังอยู่อีกไกล อย่างเพิ่งเป็นกังวลใจเลย ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ มีสุขแล้วก็มีทุกข์ ความความสมหวังก็มีความผิดหวังเป็นของคู่กัน จะยึดถือเป็นจริงจังอะไรนักหนา” หลังจากวันที่เข้าเฝ้าพระโลกมาตาไม่นาน วันหนึ่ง อโศกสุนทรีพร้อมด้วยเทพบริวารพากันไปเที่ยวเล่นในสวนขวัญนันทนพน ขณะที่กำลังเพลินอยู่ก็ได้พบกับอสูรหนุ่มชื่อ หุณฑะ ซึ่งเป็นโอรสของพญาเทตย์วิประจิตติ หุณฑะเห็นความงามพิลาสของนางก็เกิดความรักลุ่มหลงทันที จึงเข้าไปเกี้ยวพาราสี และอ้อนวอนให้นางเป็นภรรยาของตน อโศกสุนทรีตกใจรับกล่าวปฏิเสธและเผลอบอกความลัยอันกำหนดชะตากรรมของนางว่านางมีคู่หมายแล้ว และจะต้องแต่งงานกับกพระราชานหุษตามเทวประกาศิตขององค์พระปารวตี หุณฑะได้ฟังก็หัวเราะด้วยความขบขัน กล่าวว่า “เธอไม่รู้หรอกหรือว่า ชายชื่อนหุษนั้นยังมิได้เกิดมาในโลกนี้เลย กว่าเขาจะเกิดและโตเป็นหนุ่ม เธอก็แก่แล้ว อายุของเธอกับเขาต่างกันมาก เธอจะเสียเวลาคอยเขาทำไม ไปกับเราเถิด เรารักเธอและจะภักดีต่อเธอตลอดไป จงเชื่อใจเราเถิด” อโศกสุนทรีได้ฟังก็โกรธ ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย และขับไล่พญาอสูรไปทันที หุณฑะก็อันตรธานไปจากที่นั้น แล้วแปลงกายกลับมาเป็นนางดาบสินีนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ มีกิริยานอบน้อมเรียบร้อยน่าเชื่อถือเข้ามาหานางและแจ้งว่าเป็นภรรยาของฤษีตนหนึ่ง อาศัยอยู่ป่าริมแม่น้ำคงคา สามีของนางถูกหุณฑะฆ่าตาย และบัดนี้นางกำลังทำพิธีถือศีลอดอาหารบำเพ็ญตบะ เพื่อจะสร้างอำนาจให้แข็งแกร่งจักได้ลงโทษแก้แค้นอสูรร้ายให้สาสม นางโยคินีได้ขอร้องให้อโศกสุนทรีไปเยี่ยมอาศรมของนาง เป็นการแสดงอัธยาศัยไมตรีจิตต่อกัน อโศกสุนทรีหลงเชื่อถ้อยคำก็ตกลงใจไปด้วย ในที่สุด เมื่อเดินมาถึงเขตวนาศรม ภาพที่แลเห็นก็เปลี่ยนไป วนาศรมอันร่มรื่นกลับกลายเป็นวังโอ่อ่าของอสูรหุณฑะ และนางโยคินีก็กลายร่างเป็นเจ้าของวังไปทันที หุณฑะพยายามปลุกปล้ำและลวนลามนาง หวังจะบังคับให้ยอมเป็นภรรยา แต่อโศกสุนทรีต่อสู้ดิ้นรนเต็มที่เอาตัวเองหนีรอดมาได้และด่าว่าด้วยประการต่างๆพร้อมสำทับว่า “ดีละ เจ้าบังอาจข่มเหงข้า ไม่เกรงกลังอาชญาของพระแม่เจ้า ข้าจะไปฟ้องพระแม่เจ้าให้ทรงทราบ ดูทีหรือว่าเจ้าจะได้รับโทษสถานใด”
หุณฑาสูรได้ฟังก็ตกใจ ไม่อาจจะสู้หน้าต่อไปได้อีก เพราะเกรงความพิโรธของพระทุรคาเทวี ซึ่งเป็นทีทราบกันดีว่ามีความร้ายกาจเพียงไรจึงรีบอันตรธานไปจากที่นั่น อโศกสุนทรีพร้อมด้วยบริวารก็รีบกลับเขาไกรลาส แต่ด้วยน้ำใจอันเมตตาปรานีของนาง ไม่ประสงค์จะก่อเวรต่อผู้ใดนางก็เก็บเงียบหาได้กราบทูลองค์ปรเมศวรีให้ทรงทราบไม่ แต่อสูรหุณฑะหาได้หยุดยั้งความปรารถนา ยังคิดถึงนางอยู่เสมอและคอยโอกาสที่จะทำร้ายราชานหุษผู้ที่จะมาเป็นสามีของนางตามเทวประกาศิตอยู่ ฝ่ายพระเจ้าอายุสแห่งจันทรวงศ์ ผู้เป็นโอรสของปุรูรวัสกับนางอัปสรอุรวศี ครองราชสมบัติในกรุงหัสตินาปุระมาช้านาน หาได้มีโอรสและธิดาไม่ พระราชาทรงเดือดร้อนกังวลพระทัยยิ่งนัก วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปสู่วนาศรมแห่งพระมหาฤษีทัตตาไตรย ผู้มีนามบันลือว่าเป็นผู้ทรงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ สามารถอำนวยความปรารถนาของบุคคลต่างๆให้สำเร็จผลได้ทุกผู้ทุกนาม พระราชาทงมุ่งหวังในโอรสทุกขณะจิต เข้าไปกราบนมัสการพระมหามุนี ในขณะที่พระเทพฤษีกำลังมึนเมาด้วยสุรา มีเนตรอันแดงก่ำมีหญิงหนึ่งนั่งอยู่บนตัก และพระมหาฤษีนั้นเล่าก็ตกแต่งร่างกายพิกลกว่าฤษีทั้งหลายกล่าวคือ มีกายอันชะโลมด้วยผงจันทน์แดงอันหอมฟุ้ง มีบุปผามาลัยสรววค์ประดับศรีษะ และแขนทั้งสองสวมสร้อยแก้วมุกดาอันมีแสงมลังเมลืองแวววาว พระฤษีปรือเนตรอันแดงก่ำมองดูพระจักรพรรดิแวบหนึ่ง แล้วก็เมินหน้าหลับตาเข้าสู่ฌานทันทีเหมือนไม่ไยดีต้อนรับ อาสุยราชาก็มิได้ย่อท้อ ทนนั่งเฝ้าอยู่เป็นเวลาถึง ๑๐๐ ปี ในที่สุดพระมุนีออกจากฌานลืมตาขึ้นครั้งหนึ่งถามว่า “อารยบุตร ท่านมาเฝ้าคอยเราอยู่ทำไม ท่านจะปรารถนาอะไรจากเรา ท่านไม่เห็นหรือว่า เราหาใช่พราหมณ์ หาใช่ฤษีไม่เราได้ละความเป็นพราหมณ์ความเป็นโยคีแล้ว เรากำลังเพลิดเพลินด้วยอิสตรี น้ำเมา และอาหารอันปรุงด้วยเนื้อสัตว์ ผิดวิสัยฤษีและพราหมณ์ผู้ใดจะพึงกระทำ เรามิใช่บุคคลอันใครๆจะพึงนอบน้อมกราบไหว้ ท่านจงไปหาพราหมณ์และฤษีอื่นที่พร้อมด้วยศีลเถอะ อย่าเสียเวลาด้วยเราเลย” พระราชาคลานเข้าไปกราบบนเท้าของพระทัตตาไตรยด้วยความเคารพและเกรงกลัว กล่างด้วยความสำรวมว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่าภาพที่เห็นนี้เป็นแต่ภาพมายาเท่านั้นดอก ภาวะอันแท้จริงของพระคุณเจ้าคือพระเทพฤษี อันองค์พระวิษณุเป็นเจ้าอวตารมาเกิด เป็นโอรสของพระอัตริมุนีและอนสูยาเทวี ตามคำมั่นสัญญา ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอได้โปรดอนุเคราะห์แก่ข้าพระบาทด้วยเถิด” “ท่านจะให้เราช่วยเรื่องอะไร” พระทัตตาไตรยถามยิ้มๆ “ข้าพระบาทเป็นผู้ไร้โอรสสืบตระกูลวงศ์ ขอพระองค์ประท่านโอรสอันมีเกียรติรุ่งเรืองแก่ข้าพกระบาทด้วยเถิดพระเจ้าข้า” “เอาเถิด เราจะให้ท่านได้สมปรารถนา อีกไม่นาน พระนางอินทุมตีมเหสีของท่านจักมีครรภ์ และประสูติโอรสผู้มีเดชเกรียงไกรนามว่า นหุษ จงมีความสุขสำราญใจเถิด อย่าได้อาวรณ์ในเรื่องนี้เลย” พระราชาเสด็จกลับคืนพระนคร มีใจอันเอิบอิ่มด้วยปิติ ต่อมาพระนางอินทุมตีทรงมีกพระครรภ์และเมื่อครบกำหนดก็ประสูติพระโอรสรูปงาม เป็นที่รักของพระบิดามารดาดังแก้วตาดวงใจ พระราชาประท่านนามโอรสว่า นหุษ ฝ่ายอสูรหุณฑะ ผู้เฝ้าคอยหาโอกาสจะทำลายล้างนหุษอยู่ทุกขณะจิต ไอ้โอกาสวันหนึ่ง ขณะที่พี่เลี้ยงของพระกุมารออกจากห้องไปทำธุระอื่นครู่หนึ่ง อสูรหุณฑะก็แปลงร่างเป็นพี่เลี้ยงอุ้มพระกุมารออกไปเดินเล่น พอสบช่องก็แอบหนีออกจากวัง ตรงไปยังวังของตนส่งพระกุมารให้นางวิปุลา และสั่งให้เอากุมารไปทำเนื้อตุ๋นให้ตนกิน นางวิปุลาส่งกุมารให้หญิงแม่ครัวแต่หญิงแม่ครัวเห็นนหุษกุมารมีความน่ารักก็เกิดความสงสารไม่อาจจะฆ่าได้ จึงเอากุมารห่อผ้าเล็ดลอดออกจากวังไปวางไว้ที่หน้าประตูอาศรมของพระวสิษฐ์พรหมฤษี แล้วกลับมาทำเนื้อแกะตุ๋นส่งไปให้พญาอสูรแทน เช้าวันรุ่งขึ้น พระฤษีวสิษฐ์เปิดประตูอาศรมจะออกไปสวนมนต์บูชาอุษัส (อุษาเทวี) และพระสูรยาทิตย์ พบเด็กนอนอยู่พระมุนีก็ทราบด้วยญาณอันเร้นลับว่า กุมารนี้คือใคร ก็รับกุมารไว้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ พระพรหมฤษีมีใจเมตตา สั่งสอนพระเวทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงให้จนถึงราวกุมารเป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีรูปร่างงดงามและมีผีมือในยุทธวิทยาอย่างเยี่ยมยอด เป็นที่รักของพระมหามุนียิ่งนัก วันหนึ่ง โยคีหนุ่มออกไปเก็บใบพลูเพื่อเอามาให้พระฤษีได้ยินเสียงพวกเทวจรณะ (นักร้องสวรรค์) กำลังขับลำนำอันไพเราะ มีเนื้อเพลงกล่างถึงประวัติของนหุษราชกุมารอย่างพิสดารก็เกิดความสนใจ จึงนำมาเล่าให้อาจารย์ฟัง พระวสิษฐ์มุนีได้ฟังก็กล่าวว่า “บทลำนำนั้นกล่าวถึงนหุษ ก็นหุษนั้นหาใช่ใครอื่นไม่ คือตัวเจ้านั่นเองแหละ” “ถึงเวลาแล้ว ที่เจ้าจะต้องไปทำหน้าที่กษัตริย์ตามชาติกำเนิดของเจ้า ขอให้เจ้ามีชัยชนะต่อศัตรูทั้งปวง จงจำไว้ว่า ถึงจะมีอำนาจยิ่งใหญ่เพียงไรก็ไม่ควรลืมตัวถือว่าเป็นผู้ประมาท ย่อมถึงความพินาศโดยแท้” นหุษกุมารถือเทพศัตราอันพระวสิษฐ์ประทานให้ ออกติดตามหาตัวหุณฑะ เป็นเวลาเดียวกับที่หุณฑะไปเกลี้ยกล่อมอโศกสุนทรีให้ปลงใจแก่ตน โดยอ้างว่าได้ฆ่านหุษเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นกุมาร อโศกสุนทรีเสียใจจนสลบ พอดีกับนหุษเดินทางมาถึงได้ทราบจากกินนรชื่อวิทยุทธรว่า หุณฑะกำลังจะพาอโศกสุนทรีไปก็เข้าขัดขวางไว้ และต่อสู้กันอย่างดุเดือด ในที่สุด วีรกษัตริย์หนุ่มก็ฆ่าอสูรร้ายได้สำเร็จ การอภิเษกสมรสด้วยพิธีการอันมโหฬารมีขึ้นในท่ามกลางเทพบริษัททั้งปวง เสร็จเทวพิธีแล้วอโศกสุนทรีติดตามสามีไปอยู่กรุงหัสตินาปุระ ส่วนพระราชานหุษทรงปกครองแว่นแคว้นพร้อมด้วยพระนางอโศกสุนทรีด้วยความผาสุกเป็นเวลาช้านานถึงสามหมื่นปี
ในตอนปลายรัชกาลของพระราชานหุษและพระนางอโศกสุนทรี บังเกิดอาเพศขึ้นทั้งในแผ่นดินโลกและพิภพสวรรค์ กล่าวคือ บังเกิดความร้อนรุ่มทั่วไปทุกหนทุกแห่งท้องฟ้าแดงฉานเป็นหมอกเพลิงทั้งกลางวันกลางคืน บนพื้นโลกก็แห้งแล้ง เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาลเป็นเวลาถึงสิบสองปี ยังความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชาวโลกโดยทั่วหน้า พระจักรพรรดินหุษผู้เป็นสหายแห่งท่าวมัฆวานจอมเทพ จึงนำข่าวความทุกข์ยากของประชาชนไปทูลให้ท้าวเธอทราบ และขอความอนุเคราะห์ พระศักรินทร์จอมสรวงไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไรแน่ จึงพาเหล่าทวยเทพไปเฝ้าพระสยมภูกราบทูลถามสาเหตุ พระพรหมธาดาได้ฟังก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง พิเคราะห์เรื่องราวด้วยปรีชาญาณถ่องแท้แล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนอมรินทร์ เหตุวิบัตินี้เกิดขึ้นเพราะมีความผูกพันเกี่ยวกับตัวท่านเองเป็นส่วนตัว หาได้เกี่ยวกับผู้อื่นไม่ แต่ผลของความผูกพันนี้กลับทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของท่านแต่ผู้เดียวที่จะต้องแก้ไขเหตุการณ์นี้ “เรื่องเป็นอย่างไรพระเจ้าข้า” ท้าววัชรินทร์ทูลถามทันควันด้วยความสงสัย “จะว่าไป เจ้าตัวการก่อความเดือดร้อนนี้ก็เป็นน้องชายของท่านนั่นแหละ แต่คนละแม่” พระจตุรพักตร์ตรัสอย่างไตร่ตรอง “เรื่องทั้งหมดเป็นผลของกรรมที่สืบทอดมาแต่อดีต ในอดีตกาลท่านเคยฆ่าบุตรของนางทิติ ผู้เป็นน้องของนางอทิติเทวีแม่ของท่าน เพราะเชื่อในคำทำนายว่า บุตรของนางจะเป็นผู้กำจัดท่านจากบัลลังก์ในอนาคต ท่านจึงชิงกระทำการตัดต้นเหตุเสียก่อน โดยลักลอบฆ่าลูกในท้องของนาง และตัดร่างกุมารออกเป็น ๔๙ ชิ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นเทพมรุตรวม ๔๙ องค์ นางทิติทราบเรื่องนี้มีความแค้นท่านมาก สาปให้ท่านต้องจากสวรรค์กลายเป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัวในโอกาสที่จะมาถึงในไม่ช้า และสาปแม่ของท่านคือ อทิติเทวีให้ลงไปเกิดในโลกมนุษย์ และให้ถูกจองจำในห้องขังทนทุกข์ทรมานช้านาน มีลูกกี่คนก็จะต้องถูกฆ่าตายหมด จงรู้ไว้เถิดว่า ผลของคำสาปนี้ลูกของนางทิติ ได้เกิดขึ้นแล้วคนหนึ่งเป็นอสูรอำมหิตทรงฤทธิ์ร้ายกาจมีรูปร่างเป็นอหิ (งูใหญ่หรือมังกร) น่ากลัวยิ่งนัก เทวดาและมนุษย์ใดๆก็ไม่อาจจะต้านทานกำลังมหาศาลของมันได้ อาวุธใดๆก็ไม่อาจจะปราบมันได้ นอกจากวัชรายุธ (วชิราวุธ) อันเป็นเทพศาสตราพิเศษสุดเท่านั้น ส่วนแม่ของท่านในอนาคตกาลจะต้องลงไปเกิดเป็นนางเทวภีชายาของเจ้าชายสวุเทพแห่งจันทรวงศ์และนางจะต้องถูกจองจำ และลูกของนางจะถูกฆ่าตายหมดด้วยฝีมือพญากงส์แห่งนครมถุรา ว่าแต่เรื่องเฉพาะหน้าของท่านนี่ก่อนเถอะ ท่านจะต้องช่วยตัวของท่านเอง ท่านจะต้องปราบปรามวฤตราสูรผู้นี้ มันกำลังทอดร่างกายยาวเหยียดปานขุนเขาหิมาลัยกางกั้นธารสวรรค์มิให้ตกลงยังแผ่นดินโลก เมื่อธารสวรรค์ถูกกักกันไว้เช่นนี้แล้ว โลกก็จะแห้งแล้งเพราะไม่มีฝนตกความหายนะถึงชีวิตจะมาสู่ชาวโลกในไม่ช้า” “ก็วัชรายุธอันเป็นยอดแห่งศัตราวุธที่ว่านั้น จะหาได้จากไหนเล่าพระเจ้าข้า” ท้าวศจีบดีทูลถามด้วยความร้อนรน “ใครจะทำให้ข้าพระบาทได้เล่า” พระครรไลหงส์ทรงหรี่พระเนตรทั้งแปดลงจนเกือบจะปิดสนิทแสดงว่าจะทรงกลับเข้าสู่ฌาณอันลึกซึ้งอีกครั้งหนึ่ง ทรงโบกพระหัตถ์เป็นเชิงเตือนให้ถอยออกไปใหส้พ้นพระวิมานให้หมดสิ้น ก่อนจะตรัสเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ไปสิ ไปหาฤษีทธยัญจะ ขอกระดูกสันหลังของเขา นั่นแลคือวัชรายุธที่จะปราบวฤตระตามที่ต้องการ” สิ้นพรหมดำรัส พระเนตรก็ปิดสนิท ไม่ทรงรับรู้เรื่องใด ๆอีกต่อไป คณาเทพจึงกราบถวายบังคมลาคลานถอยออกมาจากวิมานกลับไปยังที่อยู่ของตน พระศจีบดีเมื่อแจ้งเหตุโดยตลอด ก็มิได้รอช้า รีบเสด็จมาสู่อาศรมของพระทธยัญจะมหามุนี เล่าเรื่องให้พระฤษีฟังโดยตลอด และอ้อนวอนขอกระดูกสันหลังของพระมุนีไปทำวัชรายุธ พระทธยัญจะได้ฟังแล้วตรึกตรอง เห็นว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนของชาวโลกทั้งหมด ไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ก็ยอมสละชีวิต ถอดกระดูกให้ด้วยการอธิษฐานจิต แล้วละสังขารไปเกิดในสวรรค์ ฝ่ายพระอินทร์เมื่อได้สิ่งสำคัญแล้ว ก็นำไปให้เทพตวัษตฤผู้เป็นนายช่างเอกของสวรรค์ กระทำเทพศัตราขึ้นเป็นอาวุธอันคมกล้า มีแสงแวบวาบเลื่อมพรายดังเพขร เมื่อกวัดแกว่งก็เป็นสายฟ้าแลบโชติช่วยสว่างไปทั้งสามโลก ท้าววัชรินทร์เปิดฉากการต่อสู้อย่างดุเดือดต่อพญามังกรใหญ่ ซึ่งนอนทอดกายขวางธารสวรรค์อยู่สุดขอบฟ้า ร่างนั้นดำทมึนมหึมาดังจอมภูผา เปล่งเสียคำรณคำรามอย่างน่าสะพรึงกลัวมิได้ขาดระยะ พญาอหิตัวร้ายพยายามต่อสู้จนสุดฤิทธิ์แต่ก็อ่อนแรงลงในที่สุดเพราะถูกแรงวัขรายุธฟาดฟันไม่นับแผล จนร่างกายขาดเป็นท่อนค่อยจมลงสู่ก้นทะเลลึกในฟากฟ้า และเปิดทางให้กระแสธารสวรรค์ไหลลงสู่พื้นพิภพ เป็นสายฝนพรั่งพรูให้ความเย็นฉ่ำและความสดชื่นแก่โลกอีกวาระหนึ่ง แต่ท้าววัชรินทร์ผู้พิชิตพญางู หาได้ยินดีต่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ไม่ ตรงกันข้าม พระองค์กลับตกใจสุดขีดเมื่อรำลึกขึ้นมาได้ว่า ผู้ที่พระองค์ประหัตประหารไปแล้วนั้นมิใช่อสูรธรรมดา แท้ที่จริงวฤตระนั้นนับว่าเป็นวรรณะพราหมณ์ เพราะเหตุว่าบิดาของพญาอสูรคือ พระเทพบิดรกัศยปมุนี เป็นหลานโดยตรงของพระพรหม และการฆ่าพราหมณ์นั้นเป็นบาปมหันต์ เรียกว่า พรหมหัตยา เป็นมลทินทั้งกายและใจ เมื่อคิดได้ฉะนี้ พระอินทร์ก็หวาดเกรงต่อบาปยิ่งนัก รีบเหาะหนีเตลิดไปจากที่นั้นโดยเร็วท้าวเธอเหาะข้ามแม่น้ำไปถึง ๙๙ สาย กระเซอะกระเซิงไปไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไปจนถึงหุบเขาลี้ลับแห่งหนึ่งใกล้ทะเลสาบมานสะ ในหุบเขามีบึงบัวอันสงบเงียบ ท้าววัชรินทร์ก็เร้นกายแอบแฝงเข้าซ่อนตัวอยู่ในระหว่างกอบัวและอาศัยเป็นที่พำนักบำเพ็ญพรตไถ่บาป โดยไม่ปรากฏตัวต่อสายตาของผู้ใดให้ได้พบเห็นอีก การหายสาบสูญโดยไม่มีร่องรอยของพระอินทร์ ทำให้เกิดความวุ่นวายในสวรรค์เพราะไร้ผู้ดูแล พวกอสูรก็สิ้นความยำเกรง ทวยเทพจึงต้องหาที่พึ่งใหม่ ซึ่งก็ไม่เห็นผู้ใดที่จะมีพระปรีชาสามารถเสมอด้วยจักรพรรดินหุษ ผู้เรืองเดชแห่งภารตวรรษ จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้านหุษให้เป็นเจ้าสวรรค์ครองนครอมราวดีบนยอดเขาพระสุเมรุอีกแห่งหนึ่ง พระจักรพรรดินหุษผู้เกรียงไกรก็ยินดีรับตำแห่นงเทวาธิป ขึ้นครองพิภพสวรรค์โดยไม่ลังเลพระทัยแม้แต่น้อย
จำเนียรกาลล่วงมาก็ปรากฏว่า พระองค์เป็นผู้นำที่ทรงความสามารถ ปกครองสวรรค์ให้เรียบร้อยเป็นปกติ และทำสงครามมีชัยต่อเหล่าอสูรทุกครั้งจนเป็นที่เข็ดขยาดของอริราชศัตรูทั้งมวล วันหนึ่งท้าวเธอเสด็จประพาสสวนสวรรค์นันทวโนทยานอันงดงามเป็นที่รื่นรมย์ ได้ทอดพระเนตรเห็นองค์อินทราณี ผู้เป็นพระมเหสีของพระอินทร์ ประทับสำราญอยู่ด้วยพระโอรสคือ ชยันต์ และพระธิดานาม ชยันตี ความงามของพระศจี หรือ อินทราณีนั้นวาบเข้าสู่พระทัยในฉับพลัน พระเทวาถึงกับตะลึงลานด้วยความเสน่หา บังเกิดความปรารถนาอย่างรุนแรงใคร่จะได้พระศจีมาเชยชม จึงเสด็จเข้าไปทักทาย และตรัสเล้าโลมด้วยคำหวานเกลี้ยกล่อมให้มีใจยินดีด้วยพระองค์ แต่พระเทวีผู้มีจิตมั่นคงภักดีในสวามีหาได้สนใจไม่ พระราชาเสด็จกลับไปหานางถึง ๗ ครั้งและพร่ำเว้าวอนขอความรักจากนาง ในที่สุดเมื่อพระราชาหมดความอดทนก็แสดงการคุกคามใช้อำนาจบังคับ พระศจีสุดบ่ายเบี่ยงต่อไปอีก ก็จำต้องวางแผนกำจัดพระราชาเพื่อเอาตัวเองรอด ด้วยความฉลาดเฉียบแหลมอย่างยอดยิ่ง พระเทวีแสร้งทำเป็นยิ้มแย้มเอาพระทัยพระราชา ประหนึ่งจะมีท่าโอนอ่อนผ่อนตาม และตรัสว่า “ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันได้ไตร่ตรองแล้วเห็นว่า ไม่ควรจะขัดพระทัยให้เป็นที่ขุ่นเคืองอีกต่อไป หม่อมฉันยินดีคล้อยตามพระประสงค์เพียงแต่หม่อมฉันมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งพระองค์ควรจะพิจารณาเสียก่อน” “อะไรหรือ จงบอกมาเถิด เรายินดีทำตามทุกอย่าง” “พระองค์จะต้องส่งสีวิกามาศ (วอทอง) พร้อมด้วยกระบวนเกียรติยศมารับหม่อมฉัน และข้อสำคัญผู้ที่จะมาทำหน้าที่หามสีวิกา จะต้องเป็นพระมหาฤษี ๑๒ ตนล้วนแต่มีนามเกริกไกรทั้งสิ้น อาทิ พระพรหมฤษีอคัสตยะ พระภัทวาช พระเคาตมะ พระอัตริ พระภฤคุ พระองค์จะปฏิบัติตามคำขอร้องของหม่อมฉันได้หรือไม่” “ได้สิ เรื่องเพียงเท่านี้ เรายินดีทำตามที่เธอต้องการ” พระราชารีบรับคำ แล้วเสด็จออกสู่ท้องพระโรง ตรัสสั่งให้เทพมนตรีแต่งสารไปแจ้งโองการแก่บรรดาพระมหาฤษี ๑๒ ตนโดยทันที เมื่อฤษีมาพร้อมกันแล้ว พระนหุษราชาผู้เป็นเจ้าโลกและเจ้าสวรรค์ก็เสด็จขึ้นวอทอง อันเป็นเทพยานมีฤษีแบกหามเดินทางไปสู่วิมานของพระอินทราณีโดยฉับพลัน พระมหาฤษีทั้ง ๑๒ ตนล้วนแต่เป็นผู้ชรามากแล้ว ไม่มีพละกำลังพอที่จะหามยานุมาศไปโดยรวดเร็วทันใจ พระราชาผู้มีพระทัยเร่าร้อนทรงเห็นว่าฤษีทั้งหลายงุ่มง่ามกวนโทโส โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอคัสตยมุนี ผู้มีร่างกายต่ำเตี้ยกว่าใครๆ จนอาจจะเรียกว่าฤษีแคระนั้นออกจะงุ่มง่ามกว่าเพื่อน พระราชาทนหงุดหงิดพระทัยต่อไปไม่ไหวจึงหยิบธารพระกร(ไม้เท้า) ขึ้นเคาะบนศรีษะของพระมุนีเตี้ยและตรัสบริภาษว่า “เร็วๆเข้าเจ้าเตี้ยเลื้อยไปเร็วๆหน่อย ข้ารำคาญเต็มทนแล้ว” ทันทีที่สิ้นพระดำรัส ความอดทนของพระอคัสตยมุนีฤษีเตี้ยก็ขาดสะบั้นลง พระมหามุนีสลัดหลุดจากคานหาม หันมาชี้พระพักตร์พระราชาด้วยความโกรธสุดขีด ตวาดว่า “ดูดู๋ เจ้าคนถ่อย กำเริบโอหัง ดูหมิ่นเหยียดหยามข้าถึงเพียงนี้ ข้าสู้อดทนยอมเสียเกียรติมาแบกหามวอให้เจ้าด้วยกตัญญู คิดตอบแทนบุญคุณที่เจ้าได้ช่วยปกป้องโลก และสวรรค์ให้พ้นภัยนานา มาโดยสวัสดี แต่แทนที่เจ้าจะเห็นแก่หน้าข้าต่อหน้าที่ชุมนุมทวยเทพเจ้ากลับเห็นข้าเป็นอะไร คงจะลืมตัวไปแล้วกระมัง ในเมื่อจะว่าโดยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ ข้าก็เหนือกว่าเจ้าทุกประการ ผู้ที่หลงมัวเมาในอำนาจเยี่ยงเจ้านี้สมควรจะได้รับบทเรียนอย่างสูงสุดที่เจ้าจะไม่มีวันลืมเลือนไปชั่วชีวิต เจ้าสั่งข้าว่ากระไร เมื่อตะกี้นี้ เจ้าสั่งข้าให้เลื้อยไปราวกับข้าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ดีละ บัดนี้ข้าขอสาปเจ้าให้เป็นสัตว์เลื้อยคลานบ้าง จงกลายร่างเป็นงูใหญ่เลื้อยไปตามแผ่นดิน จงอยู่ในถ้ำโพรงตามฐานะของสัตว์ต่ำช้า ทนทุกข์ไปชั่วกาลนานเถิด” สิ้นคำสาปของพรหมฤษี พระจักรพรรดินหุษก็พลันหกพระเศียรปักลงสู่พื้นดินเบื้องล่าง กลายเป็นงูใหญ่น่าเกลียดน่ากลัวไปทันที ชำแรกแผ่นดินหนีไปด้วยความละอายไปสู่ภูเขาคันทมาทน์หาที่พำนักอยู่ ในถ้ำบริเวณนั้น ข่าวความวิบัติของนหุษราชาแพร่ไปโดยรวดเร็ว ถึงนครหัสตินาปุระ อันเป็นราชธานีในโลกมนุษย์ พระนางอโศกสุนทรีทรงตกพระทัยเพียงชีวิตจะออกจากร่าง มีความเศร้าเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งในวิบากกรรมของสวามี ไม่อาจจะประทับอยู่ต่อไปในพระนครได้ พระนางเองทรงแต่งพระองค์ด้วยภูษาภรณ์ของหญิงม่ายผู้ยากไร้ รีบเสด็จไปสู่เขาไกรลาส เข้าเฝ้าพระอุมาเทวีร่ำไห้ฟูมฟายน้ำตา พลางกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ พระมหาเทวีฟังความโดยตลอดแล้วก็นิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง จึงเสด็จลงจากทิพยอาสน์มีพระพักตร์อันเศร้าหมอง ประคองพระธิดาสุดที่รักให้ขึ้นมานั่งเคียงข้าง ทรงเช็ดน้ำพระเนตรพระธิดาให้ด้วยความเอ็นดู พลางตรัสว่า “อย่าเศร้าโศกไปเลย ลูกของแม่ สามีเจ้าเป็นเพียงมรรตรัยชนคนหนึ่ง ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจชะตากรรมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม่ก็เคยบอกเจ้ามาช้านานแล้วมิใช่หรือว่า ในอนาคตกาลเจ้าจะต้องพลัดพรากจากสามีเพราะกรรมที่เขาก่อขึ้นเอง เหตุที่เกิดครั้งนี้เพราะอินทราณียืมมือฤษีอคัสตยะให้ช่วยกำจัดนหุษ แทนนาง แต่จะโทษนางก็ไม่ได้ ควรจะยกย่องด้วยซ้ำว่านางเป็นหญิงฉลาด รู้รักษาตัวรอดมาได้ด้วยปัญญาโดยแท้ เอาเถิด แม่จะลองไปอ้อนวอนพระมหามุนีดู ท่านคงจะไม่ใจจืดใจดำต่อแม่หรอก” ตรัสเสร็จพระปรเมศวรีก็เรียกทิพยยานเข้ามาเทียบ ลอยเลื่อนสู่วนาศรมของพระอคัสตยมุนี พระอคัสตยมุนีทราบเรื่องโดยญาณอันเร้นลับว่าพระเทวีกำลังเสด็จมา ก็ออกมายืนต้อนรับที่หน้าอาศรม ทันทีที่แลเห็นพระมหามุนีอโศกสุนทรีก็ทรุดกายลงกราบแทบเท้าและกล่าววิงวอนขอโทษแทนสามีผู้ประพฤติผิด พระฤษีก็นิ่งอยู่มิได้กล่าวประการใด พระปรเมศวรีจึงตรัสว่า “ข้าแต่มหามุนี เราขอโทษแทนนหุษผู้โง่เขลา มัวเมาในกิเลสตัณหา และกำเริบโอหังกระทำการล่วงเกินต่อท่าน เราไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วยเรื่องของคนคนนี้เลย แต่เอ็นดูอโศกสุนทรีลูกน้อยผู้มีทุกข์อันเพียบแปล้ไม่อาจดูดายได้ ขอพระมหามุนีจงเห็นแก่เรา ลดหย่อนผ่อนโทษให้นหุษสักครั้งเถิด" พระอคัสตยมุนีได้ฟังเทพดำรัสก็มิอาจจะขัดได้ จึงทูลสนองว่า “โอ พระโลกมาตา ขออย่าทรงวิตกไปเลย ข้าพเจ้าจะลดกำหนดเวลาในการสาปพระชามาดา ของพระองค์ลง นับแต่นี้ไปอีกชั่วห้าสิบรัชกาลแห่งกษัตริย์จันทรวงศ์ เมื่อกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้าคือ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ ถูกเนรเทศออกเดินป่า ๑๒ ปี และเสด็จไปถึงภูเขาคันธมาทน์ในอนาคตกาล เขาจะได้แลเห็นนหุษ และด้วยการแลเห็นนั้นเอง พญางูใหญ่จักพ้นคำสาป อโศกสุนทรีจงรอคอยเวลานั้นเถิด อย่าได้เป็นทุกข์เลย พระนหุษผู้สำนึกผิดแล้วจักกลับมาพบเธออีกครั้งหนึ่ง” พระมหาเทวีพร้อมด้วยอโศกสุนทรีอำลาพระมุนีกลับคืนเขาไกรลาส อโศกสุนทรีมีความแช่มชื่นด้วยความหวังว่าจะได้พบกับสามีอีกครั้งหนึ่งแน่นอน แม้จะต้องใช้เวลารอคอยอีกช้านานถึง ๕๐รัชกาลซึ่งคงจะนานมากนักหนา บางทีอาจจะหลายแสนปี จากหนังสือ หริศจันทร์ โดย อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศง ๒๕๓๓

อคัสตยะ

อคัสตยะ อคัสตยะ (หรือ อคัสติ) เป็นฤษีผู้มีชื่อเสียงเกริกไกรที่สุดในอดีตกาลนานลึกดึกดำบรรพ์ ว่าเป็นผู้มีอำนาจน่าสะพรึงกลัวที่สุด อันทวยเทพและอสูรแม้ร้ายกาจเพียงใด ก็ไม่อาจจะต้านทานได้ พระอคัสตยมุนีผู้มีร่างกายต่ำเตี้ยผู้นี้เป็นโอรสของพระวรุณเทพเจ้า กับนางอัปสรอุรวศี เมื่อแรกกำเนิดนั้นมีร่างกายเล็กเท่าปลายก้อย จึงถูกเลี้ยงไว้ในหม้อ จนเติบโตขึ้นกระทั่งเป็นกุมารใหญ่ เปล่งรัศมีโชติช่วงไปทั่ว พระธาดาพรหมทรงเมตตาเลี้ยงดูและสั่งสอนพระเวทวิทยาทั้งปวงให้ ในที่สุด อคัสตยกุมารก็บรรลุความเป็นหนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ มีพละกำลังเป็นเลิศและมีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ ตั้งอาศรมอาศัยความสงบวิเวกบำเพ็ญพรตอยู่ ณ คงคาทวาร อันเป็นสถานที่ไกลแสนไกลจากแดนมนุษย์ขึ้นไปในความลึกซึ้งของทิวเขาหิมาลัยไกลโพ้น วันหนึ่ง พระอคัสตยมุนีท่องเที่ยวไปในป่าลึก ได้พบฤษีหลายตนเอาเท้าเกี่ยวปากเหวห้อยหัวลงไปเบื้องล่างซึ่งเป็นที่อันลึกสุดหยั่ง มีควันไฟพลุ่งขึ้นมาเป็นกลุ่มๆ และฤษีเหล่านั้นกำลังจะหมดแรงใกล้จะร่วงลงไปสู่นรกเบื้องล่าง มีนัยน์ตาอันเหลือกลานแสดงความหวาดกลัวถึงที่สุด พระมุนีแลเห็นก็เกิดความสงสารและใคร่จะรู้ว่าเกิดเรื่องอันใดขึ้นจึงเข้าไปไต่ถาม ฤษีเหล่านั้นตอบว่า “เราเป็นฤษีเหมือนกับท่าน และเราก็บำเพ็ญพรตหวังความหลุดพ้นเหมือนกับท่านนั่นแหละ แต่เราเคราะห์ร้ายที่ไม่ได้แต่งงาน จึงไม่มีบุตรชายสำหรับทำพิธีศราทธพรตให้ ฉะนั้นเมื่อเราสิ้นชีพลง เราจึงต้องมาทรนทุกข์ทรมานที่เหวแห่งนี้ ต้องห้อยหัวดังค้างคาวอยู่ช้านาน ในที่สุดก็จะค่อยร่วงหล่นลงนรกไฟก้นเหวนั้นไปทีละคนๆ และจะต้องทนทุกข์อยู่ในนรกนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์ ท่านจงดูตัวอย่างจากเราเถิด จงแต่งงานเสียเพื่อจะได้มีบุตรชายมาช่วยมิให้ต้องทรมานเหมือนพวกเรานี้” พระอัคัสตยมุนีได้ทราบเรื่องดังนั้นมีความเศร้าใจนัก ครุ่นคิดถึงฐานะของตัวเอง เกรงจะต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้นบ้าง จึงคิดที่จะแสวงหาสตรีที่สมควรมาแต่งงานอยู่กินด้วย แต่แลไม่เห็นหญิงที่ถูกใจเลย ทั้งในพื้นพิภพและในสวรรค์ จึงคิดสร้างนางในฝันขึ้นเอง พระมุนีเดินทางกลับอาศรม แล้วก็ก่อกองกูณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นตั้งพิธีบูชาทวยเทพวิศเวเทวาร่ายมหามานตราอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกสิ่งทั้งหลายอันเป็นยอดของความงาม ความอ่อนหวาน ละมุนละไมนิ่มนวลจากธรรมชาติทั้งปวงมาประชุมกัน แล้วสรรเสกลงในกองไฟ ชุบนางเนรมิตขึ้นมาเป็นกุมารีน้อยน่ารักน่าชมนางหนึ่ง พระฤษีอุ้มนางจากกองไฟแล้วไตร่ตรองว่าจะลี้ยงดูนางฉันใดดี ก็พอดีทราบว่าพระราชาแห่งกรุงวิทรรภ์เป็นผู้ไร้โอรสธิดากำลังทรงเดือดร้อนกังวลพระทัยอยู่เมื่อเห็นช่องเหมาะดังนั้น พระอคัสตยมุนีก็พาทาริกาน้อยเข้าไปถวายเป็นราชธิดาของพระเจ้ากรุงวิทรรภ์ พระราชาทรงรับนางไว้เป็นพระธิดา มีความเสน่หาดังบุตรของตนเองและประทานนามให้นางว่า โลปามุทรา จำเนียรกาลล่วงมา นางโลปามุทราเจริญวัยขึ้นเป็นสาวอายุสิบหกปี พระฤษีอคัสตยะมาฝ้าพระราชาและทูลของนางเพื่อไปเป็นภรรยาของตน พระเจ้ากรุงวิทรรภ์ทรงกระอักกระอ่วนพระทัยมาก ทรงปรารถนาจะให้พระธิดาได้สามีที่เป็นกัษตริย์ มีอาณาจักรแว่นแคว้นเสมอด้วยพระองค์ไม่อยากจะให้ได้กับนักบวชเตี้ยแคระ ผมเผ้าหนวดยาวรุงรังเช่นนี้ แต่จะขัดคำขอร้องก็เกรงอำนาจพระมุนียิ่งนัก ในที่สุดก็จำใจยกนางให้โดยดี พระมุนีก็พานางไปอยู่ด้วยกันในวนาศรมใกล้คงคาทวาร อยู่กินกันมาฉันสามีภริยาด้วยความสุข เวลาก็ผ่านไปช้านาน นานกระทั่งพระอคัสตยมมุนีบำเพ็ญตบะก้าวหน้าอย่างยิ่งยวดจนพระพรหมผู้เป็นเจ้าโปรดปราน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพรหมฤษี และประทานไม้เท้าพรหมทัณฑ์ให้เป็นของขวัญ วันหนึ่ง นางโลปามุทราเข้ามาหาและปรนนิบัติตามกิจวัตร มีใบหน้าอันเอิบอิ่มสิ้มแย้มเป็นที่ประหลาดกว่าทุกวัน พระมุนีจึงถามด้วยความปรานีว่า นางมีความสุขพิเศษอันใด จึงแสดงอาการชื่นบานดังนี้ นางตอบว่า “ข้าแต่ท่านสวามี ตั้งแต่ข้าติดตามมาเป็นภริยาท่านครั้งก่อนโน้น บิดามารดาของข้ามีความเศร้าโศก มีความทุกข์ใจว่าข้าจะต้องมีชีวิตที่ทุกข์ระทม เพราะความยากไร้ของสามี ข้ามิได้มีสิ่งใดจะทดแทนพระคุณของท่านโดยทำให้ท่านมีความสุขใจเลย บัดนี้ข้ากำลังจะมีบุตรกับท่าน เป็นข่าวดีและเป็นมงคลยิ่งนัก ข้าจะได้กลับไปแจ้งข่าวนี้แก่พ่อแม่ ข้าก็อยากจะให้ท่านแต่งกระบวนเกียรติยศไปส่งข้าให้สมเกียรติ ท่านจงจัดหาราชรถทองเทียมด้วยม้าสวรรค์และสมทบด้วยกระบวนแม่โคสองหมื่นตัว มีเขาล้วนหุ้มด้วยทองคำ และเกวียนบรรทุกแก้วแหวนเงินทองอีกร้อยเล่มเกวียนจะได้ไหม ข้าเชื่อว่าท่านต้องหามาให้ข้าได้แน่นอน จริงหรือไม่” พระอคัสตยมุนีได้ฟังนางกล่าวก็ถึงกับนิ่งอึ้ง แต่เมื่อใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้วพอมองเห็นลู่ทาง จึงตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เอาเถิด โลปามุทรา ข้าจะพยายามหาสิ่งที่เจ้าต้องการมาให้ทั้งๆที่เจ้าก็รู้ว่าจ้าเองเป็นนักบวชผู้ยากไร้ ทรัพย์สมบัติแม้แต่เก๊เดียวข้าก็ไม่มี แต่ไหนๆเจ้าก็ปรนนิบัติข้าตลอดมาด้วยความจงรักภักดี คำน้อยมิได้บ่นว่า แม้เจ้าจะต้องทนความลำบากนักหนาเพียงไร เจ้าเป็นภรรยาที่ดี ยากจักหาได้ในโลกนี้ เมื่อเจ้าขอร้องทั้งที ข้าจะปฏิเสธได้ไฉน เจ้าจงเฝ้าคอยยู่ที่อาศรมนี้เถิด ข้าจะลาไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่เจ้าต้องการมาให้” พระมุนีกล่าวจบก็มิได้เสียเวลาอีกต่อไป คว้าย่ามหนังกวางขึ้นคล้องแขน อีกมือหนึ่งหยิบไม้เท้าพรหมทัณฑ์คู่ชีวิต ลงจากอาศรมน้อย เหย่าเดินเร่งรีบไปตามทาง ลัดเลาะออกสู่ทุ่งกว้างชายเขา ตรงไปสู่นครใหญ่อันมีพระราชาศรุตรรวาเป็นผู้ปกครอง เมื่อพระเจ้าศรุตรรวาทราบความประสงค์ก็ ไม่ขัดข้อง ยินดีจะถวายทรัพย์ให้ แต่เมื่อสำรวจท้องพระคลังแล้วปรากฏว่ามีทรัพย์สินอยู่ไม่ถึงครึ่งที่อคัสตยมุนีต้องการ จึงรับอาสาพาพระฤษีเดินทางไปหาพระราชาผู้เป็นสหาย คือพระเจ้าพรัธนาศวะ เพื่อขอทรัพย์เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ พระราชาทั้งสองจึงพาพระอคัสตยมุนีเดินทางไปหาพระเจ้าตรัสทัสยุ แต่พระเจ้าตรัสทัสยุก็กำลังฐานะยอบแยบอยู่ด้วยถูกอุทกภัยรุกรานเมื่อปีก่อน ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ ในที่สุด มองเห็นอยู่ทางเดียวว่าจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากพญาอสูรู้มั่งคั่งล้นฟ้าชื่ออิลวะ เพราะอสูรอิลวละนั้นเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ถึงสี่ขุม จะตักตวงเท่าไรก็ไม่มีวันพร่อง แต่ว่าจอมอสูรผู้นี้เป็นผู้มีเล่ห์เหลี่ยมมากยากที่จะไว้ใจได้ “จะทำอย่างไรได้” อคัส่ตยมุนีปรารภ “เมื่อไม่มีทางอื่นแล้วเราก็น่าจะลองดู จะมีเล่ห์เหลี่ยมอย่างไรก็ต้องเล่นกันสักตั้ง ดูทีหรือว่าจะเก่งสักแค่ไหน” “พระคุณเจ้าไม่รู้อะไร” ราชาศรุตรรวาติงด้วยความเป็นห่วง “ท่านรู้หรือไม่ว่า ใครก็ตามที่ไปขออะไรจากอิลวละ มักจะไม่รอดชีวิต จะเรียกว่าไม่เคยมีใครรอดชีวิตกลับมาเลยก็ว่าได้ ข้าพเจ้าทั้งสามคนไม่เล่นด้วยหรอก” “ทำไมล่ะ” “ใครก็ตามที่อิลวละเชิญกินเลี้ยง หลงรับปากกินเข้าไปจริงๆ เป็นต้องตายทุกรายแหละ” ราชาพรัธนาศวะชี้แจง “อ๋อ แค่นั้นหรอกหรือ” อคัสตยะแลดูหน้าคนทั้งสามอย่างซื่อๆ “ดีน่ะซี เขาอุตส่าห์เลี้ยงทั้งที เราก็กินฉลองศรัทธาเขาก็สิ้นเรื่องไม่เห็นมีปัญหาอะไร ท่านอย่าห่วงเลย เรารับธุระเรื่องนี้เอง”
พระราชาทั้งสามขยับปากจะท้วงติงอีก แต่เมื่อเห็นพระมุนีตั้งใจมั่นดังนั้นก็ไม่อยากจะขัด อีกประการหนึ่งก็อยากจะดูด้วยว่า อิลวลาสูร จะมีฤิทธิ์สักเพียงไหน ถ้ามาเจอคนอย่างอคัสตยะเข้า ทั้งสี่คนเดินทางถึงนครของอิลวละในไม่ช้า พญาอสูรผู้มั่งคั่งให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง เมื่อทราบความประสงค์ของพระมุนีแล้วก็หัวเราะด้วยเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเต็มประดา กล่าวว่า “เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ พระคุณเจ้าเอ่ยปากทั้งที ไฉนข้าพเจ้าจะถวายให้ไม่ได้ แต่ว่าก่อนที่พระคุณเจ้าจะรับทรัพย์จำนวนนี้ไป ขอจงพักผ่อนให้อิ่มหนำสำราญแล้วจึงค่อยออกเดินทางกลับไปเถิด” “ยินดี และขอขอบใจท่านอย่างมาก” พระมุนีกล่าวยิ้มๆ อันพญาอสูรอิลวละนั้นมีจิตใจชั่วร้าย ขอบฆ่าคนในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เป็นนิจศีล และได้ก่อกรรมอันโหดร้ายนี้มามากมายหลายครั้งแล้ว วิธีการของอสูรร้ายก็คือ จะให้น้องชายชื่อ วาตาปิ แปลงเป็นแกะ เมื่อเอาแกะไปฆ่าเอาเนื้อมาทำอาหารเลี้ยงแขกแล้ว ได้เวลาที่แขกรับเชิญกินเสร็จเรียบร้อย อิลวละก็จะเรียกน้องชายให้ออกมา วาตาปิ ก็จะแหวะท้องคนเคราะห์ร้ายออกมาทันที โดยวิธีนี้ เหยื่อเคราะหร้ายผู้หลงกลอสูรชั่วก็จะต้องสิ้นชีพทุกราย ราชาทั้งสามได้ทราบประวัติเรื่องนี้ดี จึงมิยอมเสวยอาหารของพญาอสูรอย่างเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อถึงเวลากินเลี้ยงจึงมีฤษีอคัสตยะเแต่ผู้เดียวที่เป็นแขกรับเชิญ เมื่อกินอาหารอันโอชารสเสร็จเรียบร้อยแล้ว อคัสตยมุนีก็ล้างมือและเช็ดปาก อิลวละมองหน้าเหยื่อของตนอย่างเยาะๆ และกล่าวคำประกาศิตโดยฉับพลันทันที “วาตาปิ ออกมาเถิด” ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระมุนีเตี้ยคงนั่งเฉยเป็นปรกติ พญาอสูรเห็นผิดสังเกต รีบตะโกนสำทับอีก “ออกมาเดี๋ยวนี้ วาตาปิ ข้าเรียกเจ้า ได้ยินไหม” เงียบอีก ราชาทั้งสามมองหน้าฤษีอคัสตยะด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น ยังมิทันที่จะกล่าวถ้อยคำใด พระมหามุนีซึ่งนั่งอมยิ้มทำเป็นทองไม่รู้ร้อนก็เอ่ยขึ้นว่า “อิลวลาสูร ท่านเรียกใครกันน่ะ ถ้าเรียกเจ้าแกะที่ชื่อวาตาปิละก็ ป่วยการเสียเวลาเปล่า อะไรที่ข้ากินเข้าไปพอตกถึงท้องข้าก็โดยย่อยเรียบร้อยแล้ว ท่านจะเรียกไปไยเล่า” อิลวละเป็นลมสิ้นสติไปทันที พอฟื้นขึ้นมาก็รีบกราบกรานขอโทษฤษีอคัสตยะด้วยความเกรงกลัว และจัดแจงทรัพย์สมบัติมองให้แก่พระมุนีตามปรารถนา อคัสตยมุนีนำขบวนเกวียนบรรทุกรัตนะร้อยเล่มเกวียน ฝูงโคสองหมื่นมีเขาหุ้มทอง และตนเองขับขี่ราชรถทองเทียมด้วยม้าสวรรค์ตัวงามสองตัว เมื่อมาถึงอาศรมก็รับทางโลปามุทราเดินทางไปเมืองวิทรรภ์ ยยังความปรีดาปราโมทย์ให้เกิดแก่พระเจ้ากรุงวิทรรภ์และประชาราษฎร์ยิ่งนัก เมื่อ กลับสู่วนาศรมแล้ว นางโลปามุทราก็คลอดบุตรเป็ยชาย หลังจากที่ตั้งครรภ์นานถึงเจ็ดปี พระอคัสตยมุนีกับครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ด้วยความผาสุก ณ คงคาทวารเป็นเวลาถึงสองพันปี ก็ถึงคราวอพยพย้ายถิ่น เพราะภูเขาวินธัยเป็นเหตุ เรื่องมีว่า ทิวเขาวินธัยซึ่งกั้นชมพูทวีปภาคเหนือกับภาคใต้ให้แยกจากกันนั้น บังเกิดความริษยาภูขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นหลักโลกและเป็นที่ตั้งของอินทรโลก อันเป็นสวรรค์บรมสุข เพราะเหตุว่าพระอาทิตย์และพระจันทร์นั้นโคจรเวียนรอบภูเขาพระสุเมรุ ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ภูเขาวินธัยเองต่ำเตี้ยกว่าต้องน้อยหน้าอดสูอยู่เป็นนิจ ด้วยความแค้นดังนี้ ภูเขาวินธัยจึงยืดตังเองให้สูงขึ้นทีละน้อย จนในที่สุดชะเง้อคอขึ้นเหนือเขาพระสุเมรุ และทำท่าจะยืดหัวขึ้นไปเรื่อยๆโดยมิหยุดยั้ง ทำให้เกิดความปั่นป่วนอลหม่านไปทั่วทั้งจักรวาล เพราะในเมื่อภูเขาพระสุเมรุไม่ได้เป็นหลักของโลกและสวรรค์อีกต่อไปแล้ว พระอาทิตย์และพระจันทร์ต่างก็โคจรออกนอกเส้นทาง เตลิดไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างไม่เป็นกำหนดเวลา มิหนำซ้ำ เงามืดทะมึนของเขาวินธัยก็ผงาดเงื้อมสวรรค์ ทำให้สวรรค์มืดไปบางส่วนอีกด้วย ทวยเทพทั้งหลายพากันตื่นตระหนกด้วยเห็นความวิบัติมาปรากฎเฉพาะหน้า ท้าววัชรินทร์เองก็สิ้นปัญญา ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างใด จึงพาคณะเทพไปเฝ้าพระธาดาพรหมยังที่ประทับในพรหมโลกเพื่อทูลขอความข่วยเหลือ พระปิตามหะนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งก็ตรัสว่า “เอาเถิดศจีบดี เรื่อนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะวินธัยโอหังบังอาจเหบือหลาย ทำให้จักรวาลปั่นป่วนไปหมด จะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ข้าว่าอคัสตยมุนีคงจะรับมือมันได้อยู่ เจ้าจงไปขอให้เขาช่วยพวกเจ้าเถิด” เมื่ออินทรเทพและเทวดาทั้งปวง พากันมาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ อคัสตยมุนีนั่งนิ่งไตร่ตรองหาทางแก้ไขอยู่พักหนึ่งก็กล่าวแก่คณะเทพว่า “เรายินดีจะช่วยเหลือพวกท่าน อย่าวิตกไปเลยความจริงเราก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า พระปิตามหะทรงมอบภาระใหญ่ให้เราทำมานานแล้วแต่เราก็ยังไม่ได้ทำ พระองค์ตรัสสั่งให้เราเดินทางไปเผยแผ่ความเจริญให้แก่ชนป่าเถื่อนทั้งปวงในภาคใต้ของชมพูทวีปอันเป็นดินแดนที่แสงแห่งอารยธรรมยังแผ่ไปไม่ถึง เราจะต้องนำพระเวทและวิทยาทั้งปวงไปสั่งสอนคนผู้มืดมนเหล่านั้นให้บรรลุความเจริญให้ได้ บัดนี้ คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกเดินทางเสียที ภาระอันศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังคอยเราอยู่ เป็นงานหนักหนายากที่ใครๆจะทำได้ เราจะต้องไปเองเสียแล้ว”
พระมหามุนีตระเตรียมข้าวของที่จำเป็นใส่ถุงย่าม หยิบไม้เท้าพรหมทัณฑ์ขึ้นมาถือ ก้าวลงจากอาศรม เดินนำหน้าภรรยาและบุตรมุ่งสู่ภาคใต้แห่งแม่น้ำคงคา ตัดทุ่งกว้างและป่าใหญ่จนบรรลุถึงเชิงเขาวินธัยในที่สุด พระพรหมฤษีเงยหน้าขึ้นดูยอดเชาอันสูงชะเงื้อมสวรรค์ แล้วยกไม้เท้าพรหมทัณฑ์ขึ้นชี้ไปเบื้องหน้า ประกาศวาจาอันหนักแน่นว่า “วินธัย ศิษย์ของข้า เจ้าจงก้มหัวลงเดี๋ยวนี้ ข้าจะเดินทางข้ามไปสู่ดินแดนทักษิณาบถในบัดนี้” ภูเขาวินธัย ได้ยินประกาศิตของผู้เป็นอาจารย์ ก็รีบก้มศีรษะลงกระทำความเคารพอย่างนอบน้อม พระมุนีก็พาครอบครัวเดินทางข้ามไป ก่อนที่จะลงสู่ทักษิณาบถ พระอคัสตยพรหมฤษีกล่างประกาศิตสำทับว่า “จงก้มหัวอยู่อย่างนี้ คอยจนกว่าข้าจะกลับมา” เมื่อพระมหามุนีเดินทางไปสู่ภาคใต้แล้ว ก็มิเคยหวนกลับขึ้นภาคเหนืออีก คงตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนวิชาการแก่ชนป่าเถื่อนเรื่อยไป จนถึงสุดแผ่นดินชมพูทวีปที่ปลายแหลมกุมารีโพ้นแลภูเขาวินธัยก็ต้องก้มศีรษะอยู่ต่ำเตี้ยเช่นนั้นตลอดไป ไม่เป็นอุปสรรค์แก่วิถีโคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์อีกต่อไป จำเนียรกาลล่วงมา พระอาจารย์ใหญ่ได้ยังความเจริญไพศาลให้ปรากฎแก่ชนทมิฬและเผ่าพันธุ์อนารยชนทั้งหลายโดยทั่วกัน บำเพ็ญพรตภาวนาหวังโมกษะ แต่งานของพระมุนีเพื่อทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่หมดสิ้นง่ายๆ ทันใดก็มีเสียทิพย์อันนุ่มนวล ไพเราะอ่อนหวานแว่วมากระทบโสตและภาพพระวิษณุผู้เป็นเจ้าก็แจ่มจรัสขึ้นในฌานสมาธิ ภาพนั้นแจ่มชัดราวกับภาพสะท้อนในกระจกเงา พระเป็นเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์ด้วยความพอพระทัย ตรัสกระซิบว่า ”อคัสตยะ สาวกผู้ภักดีของข้า ข้าขอบใจที่เอาเป็นธุระช่วยปัดเป่าปรามทุกข์เข็ญในโลก มิได้อยู่เฉย เจ้าเป็นคนดีมีประโยชน์แก่โลกและสวรรค์ ยากจะหาใครเสมอเหมือนได้ ควรที่ใครๆจักดูเจ้าเป็นเยี่ยงอย่าง อย่ากลัวเลย เจ้าจะได้บรรลุโมกษธรรมสมดังความปรารถนาในอนาคต เมื่อถึงเวลานั้นข้าจะตั้งให้เจ้าเป็นดวงดาวสถิตย์อยู่ในสวรรค์อันสูงสุดชั่วนิรันดร เจ้าจะเป็นดาวอคัสตยะ (๑) อันแจ่มใสที่สุดในท้องฟ้าด้านทิศใต้ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น จะบังเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นในโลกอีกครั้งหนึ่ง ท้าวราพณาสูรแห่งเกาะลังกา จะก่อความเดือดร้อนไปทั่วชมพูทวีปข้าจำเป็นจะต้องอวตารลงมาอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นมนุษย์ชื่อ รามจันทร์ พร้อมด้วยชายาชื่อ สีดา และน้องผู้ภัคดีขื่อ ลักษมัณ การสงครามจะยืดเยื้อถึงสิบสองปี และจะไม่มีใครฆ่าจอมอสูรทศพักตร์ผู้นั้นได้ ด้วยเหตุนี้ข้าจำเป็นจะต้องสอนมนตร์ทำลายชีวิตมันให้เจ้าจดจำไว้ จะได้สอนแก่พระรามจันทร์เมื่อถึงเวลาทำลายชีวิตท้าวราพณาสูร มนตร์บทนี้ชื่อ อาทิตยหฤทัย เจ้าจงท่องจำให้ขึ้นใจ และปฏิบัติตามที่เราสั่งไว้ จงคอยท่าพระรามจันทร์ซึ่งจะมาในอนาคตกาลเถิด” พระวิษณุเป็นเจ้าทรงกระซิบมนตร์อาทิตยหฤทัยที่หูของพระมุนีอย่างแผ่วเบาที่สุด เหมือนสายลมรำเพยเบาหวิว สิ้นพระสำเนียงอันไพเราะ ภาพอันแจ่มชัดในฌานก็ค่อยเลือนหายไป เหมือนกลุ่มหมอกที่จางไปในแสงแห่งอรุณรุ่ง (๑) ดาวอคัสตยะ – ชื่อดาวที่สุกใสที่สุดในท้องฟ้าทางทิศใต้ มีชื่อเรียกในทางดาราศาสตร์ว่า ดาว Canopus จากหนังสือ หริศจันทร์ โดย อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๓

สุกันยา

สุกันยา ฤษีจยวนะ (จยะ-วะ-นะ) เป็นบุตรของพระภฤคุพรหมฤษี ผู้เป็นโอรสของพระพรหม ชื่อ จยวะนะ มีความหมายว่า เกิดโดยตกจากครรภ์มารดา เพราะเมื่อนางปุโลมา ผู้เป็นมารดาตั้งครรภ์นั้น นางถูกอสูรลักพาไปในขณะที่พระภฤคุออกจากอาศรมไปอาบน้ำที่แม่น้ำ อสูรฉุดลากนางไปโดยพลการ และนางดิ้นรนทำให้ลูกในครรภ์ตกลงมายังพื้นดิน กุมารนั้นเปล่งรัศมีเจิดจ้าเป็นไฟเผาผลาญอสูรสิ้นชีวิต นางปุโลมามีความเสียใจที่บุตรคลอดออกมาโดยอุบัติเหตุ ทำให้มีรูปพิกลพิการตั้งแต่เด็กๆ นางอุ้มบุตรน้อยเดินร้องไห้กลับอาศรม น้ำตาของนางไหลอาบแก้มและตกลงบนพื้นดิน กลายเป็นแม่น้ำได้ชื่อว่า วธูสรา เมื่อพระภฤคุมุนีทราบเรื่องที่เกิดขึ้นก็โกรธพระอัคนี (เทพแห่งไฟ) เพราะตนได้ฝากฝังนางไว้ให้พระอัคนีดูแล แต่พระอัคนีมิได้เอาใจใส่ พระมหามุนีจึงสาปพระอัคนีให้เป็นผู้บริโภคทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าสิ่งที่กินนั้นจะดีหรือเลวทรามโสโครกปานใด เพราะเหตุนี้ ตั้งแต่นั้นมาไฟจึงเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่เลือก การกำเนิดของฤษีจยวนะ ทำให้เกิดภาวะสองอย่างคือ เกิดแม่น้ำจากความเศร้าโศกเสียใจ และทำให้ไฟต้องเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าดีหรือเลว เมื่อจยวนะเจริญวัยเป็นหนุ่ม ความพิกลพิการซึ่งมีมาแต่กำเนิดก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น ฤษีหนุ่มมีร่างอันคดค้อม ใบหน้าอัปลักษณ์ และผิวหนังโดยทั่วเรือนร่างก็เหี่ยวย่นขรุขระดังเปลือกไม้ วันหนึ่ง พระภฤคุพรหมฤษีผู้เป็นบิดาเรียกจยวนะเข้ามาใกล้ กล่าวว่า “ลูกเอ๋ยเจ้าเกิดในตระกูลฤษีอันสูงส่ง พระเวทและวิทยาการใดๆพ่อก็ได้สอนแก่เจ้าหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ถึงคราวที่เจ้าจะต้องออกไปแสวงหาสถานที่อันวิเวก เพื่อบำเพ็ญตบะกรรม ขัดเกลาจิตใจและกำจัดกิเลสให้สิ้นไป เพื่อบรรลุโมกษธรรมความหลุดพ้นในที่สุด เจ้าจะบำเพ็ญพรตโดยมุ่งเฉพาะพระเป็นเจ้าองค์ใดก็ได้ในสามองค์นี้คือ พระพรหม ผู้เป็นปู่ของเจ้า พระศิวะ ผู้เป็นใหญ่ ณ ไกรลาสพิมาน และพระวิษณุผู้สถิต ณ เกษียรสาครในสวรรค์ไวกุณฐ์อันไกลโพ้น ลูกจงเลือกตามใจสมัครของลูกเถิด พ่อหวังว่าเจ้าจะประสบความสำเร็จสมความปรารถนาในที่สุด เจ้าจงไปเถิด” จยวนะอำลาบิดาออกเดินทางไปสู่ทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัยอาศัยป่าเขาอันวิเวก ณ ถิ่นนั้นบำเพ็ญตบะอันยิ่งยวดมุ่งเฉพาะองค์พระธาดาพรหมเป็นเจ้า มิได้ไยดีต่อสิ่งใดๆ แม้อาหารและน้ำก็มิได้กินและดื่ม นั่งสมาธิภาวนาอยู่ช้านาน กระทั่งเวลาผ่านไป สองพันปี ปลวกขึ้นทำรังห่อหุ้มร่างโดยรอบ มองดูเหมือนเนินดินสูงตระหง่านมีแต่โพรงเล็กๆปรากฏอยู่สองรูเคียงกันตรงที่เป็นนัยน์ตาทั้งสอง ซึ่งเบิกโพลงเพ่งไปข้างหน้าอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ณ แดนอันไม่ห่างจากป่าที่จยวนะบำเพ็ญพรตเท่าใดนัก เป็นที่ตั้งของนครใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีพระราชาศรรยาติ โอรสของพระมนูไววัสวัตเป็นผู้ปกครอง วันหนึ่ง พระราชาพาขบวนลูกหลานไปเที่นวหาความสำราญในป่าและลำธารอันมีน้ำใสปานแก้วไหลหลั่งอยู่ชั่วนาตาปี บรรดาราชกุมารทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันไปเที่ยวถ้ำเที่ยวเขาเป็นที่สำราญใจ ส่วนนางสุกันยา ซึ่งเป็นราชธิดาองค์เดียวของท้าวศรรยาติ พร้อมด้วยเพื่อนหญิงอีกสามคน ปลีกตัวไปเที่ยวเก็บดอกไม้นานาพรรณ และเดินลึกเข้าไปในป่าทุกที ในที่สุดก็มาถึงจอมปลวกอันก่อหุ้มร่างฤษีจยวนะโดยรอบ สุกันยามองดูจอมปลวกนั้นด้วยความพินิจพิเคราะห์ แลเห็นมีรูอยู่สองรูลึกเข้าไป และเมื่อก้มลงมองเข้าไป ก็แลเห็นเป็นดวงแก้วสองดวงเปล่งประกายระยิบระยับราวกับรัศมีดาว “อะไรกันนี่” นางพึมพำด้วยความสนเท่ห์ “ดูคล้ายๆดวงมณีสองดวงเปล่งแสงเรืองอยู่ในที่มืด หรือจะเป็นดวงตาพญางูก็ไม่รู้” “ลองเอาไม้แหย่ดูเป็นไร เดี๋ยวก็รู้เอง” สหายชื่อจันทรนิภาแนะนำ พลางส่งท่อนไม้ปลายแหลมซึ่งตกหล่นอยู่แถวนั้นให้ สุกันยารับเอาท่อนไม้มาถือไว้ เกิดความลังเลกึ่งกลัวกึ่งกล้า ในที่สุดตัดสินใจเสือกไม้นั้นเข้าไปในโพรงข้างหนึ่งแล้วดึงกลับมาเสียบอีกข้างหนึ่ง มีเสียงคนร้องออกมาอย่างสุดเสียงแสดงความเจ็บปวดแสนสาหัส “โอ๊ย โอ๊ย” สุกันยาและสหายตกตะลึงพรึงเพริด พอได้สติต่างคนต่างรีบวิ่งหนีอลหม่านและเมื่อมาสมทบขบวนของพระบิดาแล้วก็เร่งรีบกลับพระนครโดยไม่ปริปากเอ่ยถึงสิ่งที่ตนไปเห็นไปทำมา ในใจของนางมีแต่ความสงสัยไม่รู้หายว่าข้างในจอมปลวกนั้นมีอะไร และทำไมจอมปลวกจึงร้องได้ ฝ่ายพระจยวนะมุนี หลังจากสุกันยาและสหายกลับไปแล้วก็ลุกขึ้นสะบัดเหวี่ยงแขนขาเต็มแรง ทำให้ดินจอมปลวกถล่มทลายลงและก้าวออกมา มีร่างกายอันสกปรกขะมุกขะมอมและเรือนร่างที่ผอมแห้งเหี่ยวย่นน่าเกลียดน่ากลังเหมือนสัตว์ประหลาด พระฤษีผู้ถูกแทงนัยน์ตาจนบอดสนิททั้งสองข้าง ค่อยคืบคลานไปบนพื้นดินอย่างไร่รู้เหนือรู้ใต้และล้มลงนอนพังพาบข้างลำธาร สลบแน่นิ่งไม่ไหวติง เหมือนร่างสัตว์ตายซากที่ถูกทอดทิ้งอยู่บนพื้นดินแต่เดียวดาย ไร้ผู้สนใจนำพา
ผลกรรมที่สุกันยากระทำต่อพระฤษีจยวนะเริ่มสำแดงในเวลาต่อมา กล่าวคือ บังเกิดฝนแล้งทั่วไปในแว่นแคว้นของพระเจ้าศรรยาติ พืชผลในไร่นาเสียหายยับเยิน ประชาชนพากันอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ไฟไหม้พระนครหลายครั้งหลายหน และฝูงสัตว์ก็ล้มตายราวกับใบไม้ร่วง พระราชาศรรยาติทรงเศร้าพระทัยและเป็นทุกข์ยิ่งนัก สั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตทำพิธีสังเวยเทวดา และขอทราบสาเหตุแห่งภัยพิบัติครั้งนี้ ปุโรหิตกระทำพิธีแล้วได้ทราบจาดทวยเทพว่า เหตุร้ายบังเกิดมีในแนดินเพราะพระราชธิดา เป็นผู้ก่อขี้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำหยาบช้าต่อพระฤษีผู้หาความผิดมิได้ พระราชาทรงทราบก็กริ้วยิ่งนัก ตรัสเรียกเจ้าหญิงสุกันยามาไต่ถาม สุกันยาก็สารภาพว่ากระทำผิดจริง เพราะไม่ทราบว่าฤษีอยู่ในจอมปลวกและนางรู้สำนึกในกรรมนั้นแล้วขอยอมรับโทษทัณฑ์จากฤษีแต่ผู้เดียว พระราชานำนางสุกันยาออกไปหาฤษีจยวนะในป่า กล่าวคำขอโทษและถามฤษีว่า จะให้ตนใช้หนี้ความทุกข์นี้อย่างไร พระจยวนะฟังแล้วก็ตอบว่า “ดูก่อนอารยบุตร ข้าจะถือโทษโกรธท่านได้ไฉน ข้าไม่ผูกพยาบาทจองเวรแก่ผู้ใดหรอก อย่างไรก็ดีถึงข้าจะไม่ถือโทษ แต่ผลกรรมที่ลูกหลานท่านกระทำก็ยังคงอยู่ถ้าจะชดใช้กรรมนั้นให้สิ้นสุดลงก็จะต้องเสียสละอย่างใหญ่หลวง จงส่งพระธิดาสุกันยามาเป็นชายาของข้า นางจะได้ทำหน้าที่ปรนนิบัติข้าเป็นการแก้บาปกรรมที่นางก่อไว้ ถ้าท่านเต็มใจก็จงกระทำอย่าชักช้า แต่ถ้าไม่เต็มใจเราก็ไม่ว่าอะไร” พระราชาทอดพระเนตรดูร่างของฤษีจยวนะด้วยความรู้สึกขยะแขยงและอึดอัดพระทัย ไม่อาจตรัสข้อความอะไรได้ สุกันยาจึงเข้าไปกราบแทบเบื้องบาทของพระบิดาและกล่าววาจาอันหนักแน่นและจริงใจว่า “ข้าแต่พระบิดา อย่าลังเลพระทัยต่อไปเลย โปรดยกหม่อมฉันให้แก่พระมุนีเถิด หม่อมฉันยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระมุนีทุกประการ” “สุกันยาลูกรักเจ้าจะทนสภาพอันขมขื่นนี้ได้อย่างไร” ท้าวศรรยาติคร่ำครวญ “ได้สิเพคะ ลูกเป็นผู้ก่อกรรมอันน่าอนาถนี้ขึ้น ทำให้พระมุนีต้องตาบอด ลูกจะต้องปรนนิบัติดูแลพระมุนีตลอดไปเป็นการไถ่บาป ลูกมีความเต็มใจในการกระทำครั้งนี้ไม่มีความรังเกียจเลย พระบิดาได้โปรดประทานอนุญาตเถิด” พระราชาจำพระทัยยกพระราชบุตรีให้แก่จยวนะมุนีตามเงื่อนไข ทรงเศร้าเสียพระทัยนัก เสด็จจากไปทันที โดยไม่เหลียวกลับมาดูอีก สุกันยาได้แต่งงานกับพระมุนีเฒ่า และปลูกอาศรมอยู่ด้วยกันในป่าแห่งนั้น นางเฝ้าปรนนิบัติสามีชราด้วยความเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสามีอย่างแน่นแฟ้น ทุกๆวัน นางเฝ้าดูแลสามีด้วยความห่วงใย ตระเตรียมอาหารเช้าเย็น และปัดกวาดอาศรมให้สะอาดเรียบร้อย เมื่อสามีกินอาหารแล้ว นางก็กินเศษอาหารที่เหลือ เวลานอนก็นอนที่ปลายเท้าของสามี และตื่นก่อนสามีทุกกครั้งเพื่อทำหน้าที่ประจำวันของนางโดยไม่มีข้อบกพร่อง ถึงแม้ต้องตรากตรำงาน นางก็ไม่เคยปริปากบ่นคงมั่นในความจงรักต่อสามีมิรู้วันเสื่อมคลาย วันหนึ่งสุกันยาออกไปตักน้ำที่ลำธาร ขณะที่แบกหม้อน้ำเดินกลับอาศรม ก็เผอิญพบกับพระอัศวิน เทพฝาแฝดรูปงาม ซึ่งกำลังแสวงหาสมุนไพรอยู่ในป่านั้น พระอัศวินผู้พี่มีนามว่า นาสัตยะ และฝาแฝดผู้น้องชื่อ ทัศระ แลเห็นสุกันยาผู้มีรูปลักษณ์อันงามเลิศเดินมาก็มีใจชื่นชมและเกิดความเสน่หาในตัวนาง จึงกล่าวทักทาย “กุลธิดา เธอเป็นใครจึงมาเดินอยู่ในป่านี้ เราไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย” สุกันยาแลเห็นเทพอัศวินผู้มีใบหน้าและรูปร่างเหมือนกันรางกับหล่อหลอมมาจากแม่พิมพ์เดียวกันก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือพระอัศวินเทพฝาแฝดโอรสของฟ้าและดิน นางรีบทรุดตัวลงกระทำอัญชลี ตอบว่า “ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทชื่อสุกันยา เป็นภรรยาของพระฤษีจยวนะ ขอถวายความคารวะแทบพระบาท” “นี่แน่ สุกันยาโฉมงาม เจ้าทำให้ข้าประหลาดใจนัก” พระนาสัตยะพึมพำ “บอกหน่อยเถิดว่า เจ้าเห็นควรอันใดจึงยอมเป็นชายาของฤษีเฒ่าอย่างจยวนะ เจ้าไม่เห็นหรือว่าจยวนะนั้นแสนจะจะแก่ชรา และรูปร่างหน้าตาแสนที่จะอัปลักษณ์ เพียงแค่มองเห็นก็หมดความรู้สึกเป็นสุขลงทันที เจ้าทนอยู่ได้อย่างไร เจ้าจงพิจารณาดูเถิด ว่าในระหว่างเราทั้งสองนี้คือทัศระกับตัวข้า เจ้าเห็นสมควรเลือกใครเป็นสามีก็จงบอกมาเถิด เราจะรับเจ้าไปเป็นชายา และจะทำให้เจ้าเป็นเทวีมีความเป็นอมตะชั่วนิรันดร” “โอ้ พระนาสัตยะ เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอังนี้ ข้าพระบาทไม่ต้องการได้ยินเลย” สุกันยากล่าวปราม “ข้าพระบาทเป็นหญิงที่มีสามีแล้ว ย่อมจะต้องซื่อสัตย์จงรักต่อสามีของตัวแต่ผู้เดียว จะเอาใจไปเผื่อแผ่ชายอื่นได้ไฉน แม้เพียงแต่คิดถึงก็ผิดทางใจเสียแล้ว ป่วยการจะกล่าวไปไยถึงคำพูดและการกระทำ ข้าพระบาทไม่ขอได้ยินเรื่องนี้อีก ขออย่าตรัสอีกเลย” “สุกันยาโฉมงาม” พระทัศระผู้เป็นพระอัศวินองค์น้องกล่าวขึ้นบ้าง “เจ้าเป็นหญิงผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐเป็นปดิวรัดา (๑) เราขอสรรเสริญเจ้า อย่างไรก็ดี แม้เจ้าจะไม่ยอมรับรักเราในบัดนี้ เราก็จะไม่ขืนใจเจ้าดอก แต่เราอยากจะช่วยเหลือเจ้าเพราะนอกจากเราทั้งสองแล้ว เทพและฤษีตนใดก็ช่วยเหลือเจ้าไม่ได้ เจ้าไม่รู้หรือว่าเราเป็นแพทย์สวรรค์ มีความรู้ในวิชาแพทย์หาผู้เสมอเหมือนมิได้ เราท่องเที่ยวไปในสากลโลกเพื่อรักษาคนป่วยเจ็บและพิการมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน เราอาจจะรักษาสามีของเจ้าให้หายจากความพิกลพิการ และรักษานัยน์ตาที่บอดให้กลับคืนดีได้ เจ้าไม่ต้องการให้เราช่วยเหลือดอกหรือจงคิดให้ดี จงกลับไปปรึกษาสามีของเจ้าเถิดว่า ถ้าเราจะรักษาเขาให้หายตาบอดและกลับคืนเป็นหนุ่มชั่วนิรันดร เขาจะยินยอมหรือไม่ เราเชื่อว่าเขาต้องยินดีแน่นอน แต่เราจะรับรักษาให้ก็ต่อเมื่อเขาและเจ้ายอมรับเงื่อนไขของเรา” “เงื่อนไขอะไรพระเจ้าข้า” “ง่ายนิดเดียว” พระอัศวินกล่าวยิ้มๆ “เพียงแต่เมื่อเรารักษาจยวนะมุนีเป็นปกติแล้วเขาจะเป็นหนุ่มรูปงามมีรูปลักษณ์เหมือนเราทุกประการ เมื่อถึงตอนนั้นเจ้าก็จะต้องตัดสินใจเลือกเอาว่า ในบุรุษที่เหมือนกันทุกอย่างราวกับแกะทั้งสามคนนี้เจ้าจะเลือกใคร เจ้าอาจจะเลือกได้จยวนะ หรือเลือกได้เราคนใดคนหนึ่งก็ได้ ข้อเสนอของเรายุติธรรมดีแล้วไม่ใช่หรือ จงกลีบไปเถิด พรุ่งนี้เราจะพบกันอีก ณ สถานที่นี้ จงจำไว้ให้ดี” กล่าวจบพระอัศวินเทพบุตรก็อันตรธานไปจากที่นั้น สุกันยารีบกลับมายังอาศรม นำข่าวสำคัญมาแจ้งแก่จยวนะมุนี พระมุนีฟังแล้วก็นิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ตกลงใจ "สุกันยาเอ๋ย เราทราบดีว่าเจ้ารักและภักดีต่อเราโดยสุจริต เราก็นึกสรรเสริญเจ้าตลอดมา บัดนี้ถึงคราวที่เราจะต้องตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าอันมีความสำคัญยิ่งยวด เราก็ต้องยอมเสี่ยง ผลจะเป็นฉันใดก็สุดแต่กรรมจะบันดาล เราขอให้เจ้าตกลงรับเงื่อนไขของเทพฝาแฝดทั้งสอง พรุ่งนี้เราจะไปกับเจ้า และยอมให้พระอัศวินรักษาเรา” “แต่ถ้าข้าพเจ้าเลือกคนผิด…..” นางอึกอัก “จะทำอย่างไร” “คงไม่ผิดหรอก เราเชื่อและหวังในสติปัญญาของเจ้า” จยวนะกล่าวปลอบ “เราอาจจะแนะนำเจ้าได้นิดหน่อย เจ้าจงฟังให้ดี เมื่อเจ้าถึงคราวอับจนปัญญาจงนึกถึงพระเทวีเป็นที่พึ่ง เจ้าจงรำลึกถึงพระอุมาไหมวตีให้มั่นคง พระแม่เจ้าจะไม่ทอดทิ้งเจ้าแน่นอน” เช้าวันรุ่งขึ้น สุกันยาและฤษีจยวนะออกเดินทางไปพบพระอัศวินในป่าลึกตามที่สัญญากัน เมื่อพบกันแล้ว พระอัศวินก็พาจยวนะมุนีและสุกันยาไปยังสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันมีบัวเบญจพรรณบานสะพรั่ง เมื่อไปถึงขอบสระ พระอัศวินก็หยุดยืนร่ายพระเวทครู่หนึ่ง เสร็จแล้วจับแขนจยวนะพากระโดดลงไปในสระน้ำ จมหายไปครู่หนึ่งก็โผล่ขึ้นมาจากน้ำ ทั้งสามคนมีรูปลักษณ์เหมือนพระอัศวินทุกอย่าง เดินตรงเข้ามาหาสุกันยาซึ่งยืนตะลึงพรึงเพริด ณ ที่นั้น
นางมองดูบุรุษทั้งสามผู้ทรงโฉมสิริโสภาคย์ หาชายใดในพื้นพิภพเทียบมิได้ มีความว้าวุ่นใจยิ่งนัก เพราะมิรู้ที่จะตัดสินใจเลือกผู้หนึ่งผู้ใด นางลังเลอยู่ครู่ใหญ่ในที่สุดรำลึกถึงถ้อยคำของสามีขึ้นมาได้ก็สว่างหัวอก รีบยกมือพนมเหนือเศียรเกล้า กระทำความเคารพต่อองค์พระมหาเทวีปารวตี และอธิษฐานขอความอนุเคราะห์ “ข้าแต่พระโลกมาตาผู้ทรงศักดิ์ ข้าพระบาทจนแก่สติปัญญาไม่อาจจะเลือกผู้ใดได้ถูกต้องในครั้งนี้ บุรุษใดคือพระจยวนะมุนี สามีของข้าพระบาท ขอให้ข้าพระบาทได้ประจักษ์เถิด” ทันใดก็มีเสียงทิพย์แผ่วเบากระซิบที่หูของนางให้ได้ยินโดยเฉพาะว่า “สุกันยาเอ๋ยจงพินิจพิจารณาให้ดี สิ่งใดที่เกิดขึ้นต่อสายตาของเจ้า เจ้าจงติดตามพิจารณาหาเหตุผลเอาเถิด เราบอกเจ้าได้แค่นี้” สิ้นเสียงทิพย์ของพระเทวี สุกันยาแลไปเบื้องหน้า ก็แลเห็นแมลงภู่สีทองตัวหนึ่งบินวู่ฉวัดเฉวียนโดยรอบรูปเทวะทั้งสาม แล้วไปหยุดเกาะอยู่ที่อุระของเทวะองค์เบื้องซ้ายของนาง นางรำลึกถึงคำตรัสของพระเทวีก็มั่นใจไม่มีข้อสงสัย ตรงเข้าไปฉุดแขนผู้นั้นดึงออกมาจากหมู่ บุรุษผู้นั้นก็กลายร่างเป็นฤษีจยวนะหนุ่มรูปงาม ทรงเครื่องนุ่งห่มของฤษีชีปะขาว สวมสร้อยประคำและสายยัชโญปวีตเฉวียงบ่า เป็นที่ภาคภูมิน่าเคารพเลื่อมใส ถัดไปเบื้องหลังคือพระอัศวินทั้งสองยืนยิ้มด้วยความยินดีในความสำเร็จของพระมุนีและนางผู้เป็นภรรยาอันทรงคุณธรรมเลิศ ขณะนั้นเองพระพรหมผู้เป็นเจ้าก็ปรากฏพระองค์ขึ้นต่อหน้าบุคคลทั้งสี่ พระปิตามหะทรงประทานไม้เท้าพรหมทัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์แก่ฤษีจยวนะและตรัสว่า “ดูก่อนจยวนะ หลานของข้า ข้ามาหาเจ้าครั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้รู้ว่า ข้าได้แจ้งในประพฤติกรรมของเจ้าเป็นอย่างดี ข้าซาบซึ้งในการบำเพ็ญตบะกรรมของเจ้าที่กระทำมาแล้วกว่าสองพันปี เป็นผลบุญอันบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ยองใย แสดงถึงความเพียรอันอุกฤตของเจ้า และการที่เจ้ามีความอดทน มีการให้อภัยแก่ผู้ที่ทำร้ายเจ้าถึงตาบอด ไม่โกรธเคืองและไม่คิดจองเวรแต่ประการใด เจ้าสมควรได้รับการยกย่องให้ปรากฏในสามโลก ข้าขอตั้งให้เจ้าเป็นพรหมฤษีมีตำแหน่งเป็นสมาชิกในเทวสภาตลอดไป และไม้เท้าพรหมทัณฑ์ที่ข้ามอบให้นี้ จะทำให้เจ้าเป็นผู้มีฤทธานุภาพอันบุคคลใดไม่สามารถจะต่อต้านได้เลย” พระจตุรพักตร์ทรงกวักพระหัตถ์เรียกพระอัศวินเข้ามาใกล้ ตรัสด้วยความเมตตาว่า “ดูก่อนพระอัศวิน ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นเทพผู้ประพฤติดีปฏิบัติดีมาช้านาน ได้รักษาผู้ป่วยเจ็บและพิการให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและความเดือดร้อนมามากมาย ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญแต่กลับได้รับการดูถูกดูหมิ่น เพราะพระอินทร์จอมเทพได้ประกาศแก่สังคมเทพให้ทราบโดยทั่วกันว่า ท่านเป็นวรรณะศูทร เป็นเทพชั้นต่ำสุดทั้งๆที่ความจริงท่านเป็นเทพชั้นสูงสุด เพราะเป็นโอรสของฟ้าและดิน ท้าววัชรินทร์ยังได้ทำรุนแรงกว่านั้น ท่านคงยังไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้พระอินทร์ได้มีบัญชาให้พราหมณ์ปุโรหิตรับทราบโดยทั่วกันว่า มิให้ถวายน้ำโสมแก่ท่าน ไม่ว่าจะในการทำยัชญพิธีใด การที่ท่านถูกกีดกันจากโสมบาน (การดื่มน้ำโสม) นอกจากจะเป็นการหลู่เกียรติกันอย่างร้ายแรงแล้ว ยังทำให้พลังของท่านเสื่อมถอยอีกด้วย เทพที่ไม่ได้ดื่มน้ำโสมก็เหมือนคนที่ขาดอาหาร ท่านจงพิจารณาดูฐานะของท่านเถิด จะแก้ไขอย่างไรก็จงปรึกษาจยวนะพรหมฤษีดู เราเตือนท่านได้เท่านี้” ตรัสจบพระครรไลหงส์ ก็เสด็จขึ้นประทับหลังพญาหงส์ทองเทพพาหนะ เป็นโพยมยานนาวาร่อนลอยลับไปในท้องฟ้า เมื่อพระธาดาธิบดีเสด็จไปแล้ว พระจยวนะมหามุนีก็เข้ามาใกล้พระอัศวิน และกระทำคารวะกล่าวคำของคุณที่เทพฝาแฝดได้ทำการรักษาตนให้หายจากตาบอด และมีร่างอันเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยชั่วนิรันดร “ข้าแต่พระไภษัชยเทพผู้เรืองวิชา ข้าพเจ้าจะขอรับภาระช่วยเหลือท่านให้ได้กลับคืนสู่สังคมเทพ และมีสิทธิในการรับสังเวยน้ำโสมดังเดิม ท่านจงอดใจรอก่อนเถิด ในเวลาไม่ช้า ท่านจะได้สิทธิของท่านกลับคืน เราให้สัญญา” เวลาล่วงไปเดือนหนึ่ง ถึงวันฤกษ์ดี พระจยวนะมหามุนีก็จัดการทำพิธีใหญ่เรียกว่า โสมยาค อันเป็นพิธีถวายน้ำโสมเป็นเครื่องสังเวยแก่ทวยเทพทั้งหลาย มีพระอินทร์เป็นประธาน บรรดาวิศเวเทวาต่างได้รับเชิญมาในพิธีโดยทั่วหน้ารวมทั้งพระอศวินซึ่งถูกกีดกันโดยตรงอีกด้วย เมื่อพระอินทร์เสด็จมาสู่ยัชญพิธี แลเห็นพระอัศวินได้รับเชิญมานั่งในโรงพิธีด้วยก็โกรธ กล่าวคำขับไล่พระอัศวินให้ออกไป พระจยวนะพรหมฤษีจึงไกล่เกลี่ยขอให้คืนดีกัน แต่พรอินทร์ไม่ยอม กล่าวว่า ”ดูก่อนจยวนะมุนี ท่านทำตามอำเภอใจ เชื้อเชิญเทพชั้นต่ำอย่างพระอัศวินมารับน้ำโสมเป็นเครื่องสังเวย โดยเมินเฉยต่อประกาศิตแห่งเรา เราไม่อาจจะคบท่านได้อีกต่อไป พิธีนี้เป็นอันล้มเลิก เราและเทวะทั้งปวงจะไปเสียจากที่นี้ และท่านจะทำพิธีใดๆในอนาคตกาล ท่านก็จงอย่าได้เชิญเราและทวยเทพมาอีก ท่านเป็นผู้ที่ทวยเทพได้ปฏิเสธเสียแล้ว จะทำพิธีอีกกี่ครั้งก็ย่อมเป็นหมันเสียเปล่า จงอย่าพยายามกระทำอีกเลย” ฤษีจยวนะได้ฟังพระอินทร์กล่าววาจาดูหมิ่นก็โกรธ ตอบสวนไปทันควันว่า “เราก็ไม่ง้อท่าน ตัวท่านออกจะเหิมเกริมเกินไปเสียแล้ว เราให้เกียรติเชิญท่านมาในมหาพิธี ท่านกลับไร้มารยาทกล่าววาจาจ้วงจาบหยาบช้าต่อเรา ดูหมิ่นยัชญพิธีของเรา ราวกับเราเป็นผู้ที่หาความสำคัญมิได้ ดีละ เมื่อท่านถือดีต่อเรา เราก็จะสร้างฟ้า สร้างสวรรค์ขึ้นใหม่ เทวดาทั้งปวงผู้เป็นบริวารของท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราสร้างสวรรค์ขึ้นใหม่ได้ไฉนเราจะสร้างเทวดาชุดใหม่ขึ้นไม่ได้ จะดูทีหรือว่าใครจะบังอาจขัดขวางเรา” พระอินทร์ได้ฟังฤษีจยวนะกล่าวท้าทายก็ยิ่งพิโรธหนัก การต่อปากต่อคำเป็นไปอย่างรุนแรงถึงขั้นใช้กำลังเข้าสัประยุทธ์กัน พระอินทร์คว้าได้ภูเขามันทรถือไว้ในมือซ้าย มือขวาถือวัชรายุธ(๒) อันเป็นอาวุธร้ายกาจปราดเข้ามาหมายจะทุ่มทิ้ง และฟาดฟันฤษีจยวนะให้แหลกลาญเป็นผุยผง แต่ยังมิทันเข้าถึง พระมหามุนีก็ยกไม้เท้าพรหมทัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นชี้ไปที่จอมเทพ ยังผลให้ท้าววัชรินทร์หยุดชะงัก แขนขากลายเป็นอัมพาตกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ในบัดดล ภูเขาและวัชระก็ร่วงลงจากหัตถ์แต่นัยน์ตาของท้าวเธอยังจ้องเขม็งที่ศัตรูอย่างแข็งกร้าวและอาฆาตมาดร้าย พระจยวนะพรหมฤษีเมื่อหยุดท้าววัชรรินทร์ได้แล้วก็สำรวมใจร่ายมนตร์ฟาดไม้เท่าพรหมทัณฑ์ไปข้างหน้า บังเกิดอสูรร่างใหญ่มหึมาชื่อ มทาสูร อ้าปากกว้างเท่าจักรวาล และแลบลิ้นเป็นไฟลุกโพลงน่าสยดสยอง มหาสูรอ้าปากใกล้เข้ามาเตรียมที่จะเคี้ยวกินทวยเทพเป็นภักษาหาร ทำให้ฝูงเทพตกใจแตกตื่นไปทุกทิศทุกทาง เหลือแต่พระอินทร์ผู้เดียวที่ไม่อาจจะหนีไปได้ เพราะเท้าทั้งสองถูกตรึงติดแน่นกับแผ่นดิน เมื่อมหาสูรคืบใกล้เข้ามา พระอินทร์ก็ยิ่งตกใจตาเหลือกลานแลเห็นความตายมาอยู่เฉพาะหน้า ร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีเทพใดๆเข้ามาช่วยเพราะต่างก็หนีเอาตัวรอดไปหมดแล้ว สิ้นปัญญา พระอินทร์ก็ละล่ำละลักกล่าวคำขอโทษต่อพระจยวนะขอให้ช่วยชีวิต พระพรหมฤษีจึงสำทับว่า “นี่แน่ อมรินทร์ ท่านนี้ช่างเย่อหยิ่งโอหังยิ่งนัก เราขอร้องท่าน ท่านก็ไม่ฟังเรา กลับกล่าววาจาดูหมิ่นเราด้วยประการต่างๆมิหนำซ้ำยังคิดจะฆ่าเราเสียอีก เราไม่ถือโทษท่านหรอก เพราะรู้ว่าท่านนั้นดีแต่ปาก แต่จะเก่งจริงนั้นหาไม่ เราจะยกโทษให้ท่านสักครั้ง แต่ท่านจะต้องยอมตามข้อเสนอของเราก่อน” “ท่านจะให้เราทำอะไร” “ท่านต้องทำลายประกาศิตเดิมเสีย และให้ปฏิญญาว่า ท่านจะยกย่องพระอัศวินให้สมเกียรติ อนุญาตให้พระองค์ได้มีสิทธิ์ในการรับสังเวยน้ำโสมเหมือนเทพทั้งหลายทั่วไปในทุกพิธี และทุกกรณีนับแต่นี้เป็นต้นไป” “เราให้สัญญา” พระอินทร์กล่าวยืนยัน “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พระอัศวินจะได้กลับคืนสู่สังคมทวยเทพอีก และจะได้รับเชิญให้รับการสังเวยน้ำโสมทุกครั้งตลอดไป” เมื่อท้าวศักรินทร์ยอมตามข้อเสนอเป็นที่เรียบร้อยดังนี้ การพิพาทระหว่างจอมเทพกับพระจยวนะมหาฤษีก็เป็นอันสิ้นสุดลง พระจยวนะพรหมฤษีร่ายพระเวททำลายมทาสูรเป็น สี่ชิ้นด้วยกัน แล้วสาปให้ ชิ้นหนึ่งกลายเป็นลูกสกา ชิ้นหนึ่งเป็นการล่าสัตว์ ชิ้นหนึ่งเป็นสุรา และ ชิ้นหนึ่งเป็นคณาหญิงมากมาย ทั้งสี่อย่างนี้เป็นสัญลักษณ์ความชั่ว ความมึนเมาหลงใหล ซึ่งเป็นทางแห่งความเสื่อมของมนุษย์ในกาลต่อมา พระจยวนมหรรษีอำลาพระอัศวินกลับคืนสู่วนาศรม มีชีวิตสุขเกษมด้วยนางสุกันยา ราชกุมารีผู้เป็นปดิวรัดาสืบมาช้านานหลายพันปี ทั้งสองมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง คือ ฤษีประมติ และ ประมตินั้นเป็นบิดาของ ฤษีรุรุ ผู้มีประวัติอันพิสดาร (๒) วัชรายุธ หรืออีกนามหนึ่งว่า วชิราวุธ แปลว่า อาวุธ คือสายฟ้า มีลักษณะเป็นง่ามทั้งสี่ทิศ มีด้ามเป็นปล้องๆรวม ๙๙ ปล้อง ทำจากกระดูกสันหลังของ ฤษีทธยัญจะ จากหนังสือ หริศจันทร์ รวบรวมและเขียนโดอย อ. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครังแรก พ.ย ๒๕๓๓

ศิวเศขร

ศิวเศขร-อีกด้านของดวงจันทร์ ของดวงจันทร์

ศิวเศขร พระจันทร์เป็นเทพรูปงาม โอรสของพระอัตริเทพฤษีกับ นางอนสูยา โดยเหตุที่จัทรเทพมีหน้าที่ซึ่งพระธาดาพรหมเป็นเจ้ากำหนดไว้ให้โคจรรอบเขาพระสุเมรุหลักโลกในเวลากลางคืน พระนิศากร (๑) จึงได้ผ่านหมู่ดาวฤกษ์ทั้งยี่สิบเจ็ดดวงอันเป็นธิดาของพระทักษะพรหมฤษีประชาบดีเป็นประจำทุกๆคืน นางดาราทั้งยี่สิบเจ็ดนางต่างก็หลงใหลในความงามของจันทรเทวบุตรอย่างยิ่ง พยายามทอดไมตรีด้วยประการต่างๆจนเกิดความสัมพันธ์ฉันเสน่หาด้วยเทพรูปงาม ความทราบถึงพระทักษะประชาบดีแลเห็นว่าควรจะจัดการเรื่องนี้ด้วยความยุติธรรม จึงเรียกพระจันทร์มาไต่ถามและเมื่อเห็นว่าพระจันทร์กับนางดาราทั้งหลายมีความรักต่อกันจริง พระพรหมฤษีก็ยกธิดาทั้งยี่สิบเจ็ดนางให้เป็นชายา พระนิศากรเทพบุตรได้นางสมความปรารถนาแล้วมิได้ให้ความเป็นธรรมแก่นางทั้งหลาย ไปลุ่มหลงแต่นางดาวโรหิณีผู้เดียว นางดาราทั้งยี่สิบหกจึงไปฟ้องบิดา พระพรหมบุตรมีความสงสารนางก็เรียกพระจันทร์มาตักเตือน แต่พระนักษัตรราชา (๒) ก็หาเอาใจใส่ไม่ นางดาราทั้งหลายก็ไปฟ้องพระทักษะอีก พระทักษะรำคาญใจต่อความประพฤติของลูกเขยเต็มที ก็เรียกตัวมาด่าว่าต่างๆและกำชับให้พระจันทร์ประพฤติตนเสียใหม่ เทพรูปงามก็มิได้แยแส เมื่อถูกฟ้องเป็นครั้งที่สาม พระทักษะบังเกิดความโกรธเหลือที่จะระงับจึงสาปสรรบุตรเขยของตนว่า “นี่แน่ะ เจ้าชายเสเพลไม่มีสัตย์ หาความยุติธรรมมิได้ เจ้าทำให้ลุกสาวของข้าต้องชอกช้ำใจ เจ้าจะต้องชดใช้กรรมของเจ้าอย่างสาสม นับแต่บัดนี้ไป เจ้าจงเป็นโรคร้ายอันมีนามว่ากษัยโรค (วัณโรค) ซึ่งจะบั่นทอนชีวิตของเจ้าให้สิ้นลงในไม่ช้า” นางดาราทั้งหลายเห็นบิดาลงโทษสวามีของตนรุนแรงเช่นนั้นก็ตกใจรีบเข้าไปขอโทษแทนพระจัทรเทพและสะอึกสะอื้นคร่ำครวญด้วยความสงสาร พระทักษะใจอ่อนจึงผ่อนผันให้คำสาปนั้นลดความรุนแรงลง “เอาเถอะ อย่าร้องให้ไปเลยลูกเอ๋ย พ่อจะแก้ไขให้” พระพรหมบุตรปลอบโยนเหล่าธิดาพลางมองดูลูกเขยตัวดีด้วยความหมั่นไส้ “เอาอย่างนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้ผัวเลวๆของเจ้าประสบโรคร้ายทุกๆสองปักษ์คือ มันจะต้องซูบผอมลงๆ จนหมดรูปร่างในสิบห้าวัน แล้วจะค่อยๆฟื้นคืนคงดังเดิมในเวลาอีกสิบห้าวัน จะเป็นดังนี้เรื่อยไปตราบชั่วกัลปาวสาน คำสาปต้องเป็นคำสาป พ่อแก้ไขได้แค่นี้แหละ” นับแต่นั้นพระนักษัตรราชาก็ได้รับเคราะห์กรรมตามคำสาปของผู้เป็นพ่อตาเรื่อยมา มีร่างกายซูบผอมลงทุกวันจนหมดรูปในที่สุด ต่อจากนั้นก็ค่อยฟื้นขึ้นทีละน้อยมีร่างกายบริบูรณ์ดังเก่า ทำให้บังเกิดข้างขึ้นข้างแรมทางจันทรคติตั้งแต่บัดนั้น และในระหว่างข้างแรมที่แสงของพระจันทร์ค่อยหดหายไปทีละน้อยนั้น บรรดาสมุนไพรทั้งหลายบนพื้นพิภพก็จะเหี่ยวเฉาไม่งอกงามเพราะพระจันทร์นั้นเป็นเจ้าแห่งสมุนไพรทั้งปวงและได้นามว่าโอษธิบดี ฉะนั้นจันทรังสีจึงมีอิทธิพลเหนือพืชพรรณทั้งหลายที่ใช้เป็นยา เวลาข้างแรมถือว่าเป็นเวลาที่สมุนไพรอ่อนคุณค่าลงกว่าเดิม หมอยาจึงไม่เก็บสมุนไพรในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี คำสาปของพระทักษะมุนีมิได้ทำให้โสมเทพเข็ดหลาบ เพราะเมื่อพ้นจากความทรมานในช่วงสิบห้าวัน และได้รักษาตัวโดยลงไปดำน้ำที่ท่าศักดิ์สิทธิ์คือ สรัสวตีตีรถะ อันอยู่ริมทะเลตะวันตกแล้ว พละกำลังความแข็งแกร่งก็กลับคืนมาดังเดิม บังเกิดความฮึกเหิมและพระพฤติตนเจ้าชู้ตามแบบเดิมอีก
ครั้งหนึ่งพระโสมเทพแวะไปเยี่ยมเยียนพระพฤหัสบดีเทพฤษีผู้เป็นอาจารย์ของตน บังเอิญเป็นเวลาที่พระพฤหัสบดีกระทำยัชญพิธีอยู่ ไม่อาจจะออกจากพิธีมาต้อนรับได้ นางดาราผู้เป็นชายาของพรคุรุเทพจึงมาต้อนรับแทน นางดารานั้นเป็นสุรกันยาที่มีความงามล้ำเลิศและมีจริตยั่วยวนอย่างยิ่ง พระพรหมประทานนางให้แก่พรพฤหัสบดีและนางเป็นที่รักดังดวงใจของพระเทวปุโรหิตองค์นั้น นางแลเห็นพระจันทร์ที่มีรูปร่างงดงามผึ่งผายสมเป็นยอดบุรุษก็บังเกิดความถึงพอใจ และเกิดความเสน่หาในที่สุด พระจันทร์ก็เช่นเดียวกัน ในวาระแรกที่พบหน้านาง พระองค์ก็บังเกิดความปฎิพัทธ์ในนางอย่างลึกซึ้ง “เธอเป็นใครเราไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย” พระนักษัตรราชาถามด้วยความทึ่ง “เราชื่อดารา” นางตอบเอียงอาย “พระธาดาพรหมทรงยกเราให้เป็นภริยาท่านคุรุเทพ ท่านเล่าคือระจันทรเทพใช่หรือไม่ รูปลักษณ์งามประเสริฐอย่างท่านนี้คงไม่มีใครอื่นอีกแล้ว” “เธอเดาไม่ผิดหรอก เพราะผู้ที่งามเหนือเราก็มีแต่พระอัศวิน เทพฝาแฝดนั้นเท่านั้น” “ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระคุรุเทพหรือ” “ใช่แล้ว” พระโสมเทพกล่าวยิ้มๆ “เรามาเยี่ยมท่านอาจารย์เพราะนานนักหนาแล้วที่มิได้พบอัน แต่ไม่เป็นไรหรอก มิได้พบท่านอาจารย์ได้พบหน้าเธอแทนก็เป็นโชคของเราเหลือหลายแล้ว เราอยากจะอยู่กับเธอนานๆ แต่นี่ไม่ใช่ที่รโหฐานของเรา เราไปที่อื่นไม่ดีกว่าหรือ” โสมเทพพยายามเว้าวอนออดอ้อนนางอยู่ช้านาน ในที่สุดนางก็ใจอ่อนและด้วยจิตที่มีความรักเข้าครองอยู่แล้ว นางก็ลืมความผิดชอบชั่วดี ลืมสามีผู้ชรา ตัดสินใจติดตามพระจันทร์ไป โสมเทพกับดารามีความสุขอยู่ด้วยกันในวิมานแก้วของพระจันทร์เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งพระพฤหัสบดีออกจากโรงพิธี หลังจากทำพลีกรรมเสร็จแล้วมิได้เห็นชายาของตนจึงเที่ยวติดตามและรู้ความจริงในที่สุด มุนีเฒ่าโกรธแค้นแสนสาหัสเรียกทวยเทพทั้งหลายผู้เป็นศิษย์มาประชุมกันและประกาศว่า “จันทรเทพเป็นศิษย์ของเรา แต่บังอาจพาภรรยาของเราหนีไปช่างชั่วชาติอกตัญญูยิ่งนัก พวกเจ้าจงเห็นแก่เกียรติยศของอาจารย์ จงไปเจรจาต่อระจันทร์ขอให้ส่งดาราคืนมาให้แกเราโดยดีเถิด” คณะเทพเดินทางไปเจรจากับพระจันทร์ตามคำสั่ง แต่พระจันทร์ทำเฉยเสีย หมดปัญญาต้องเดินทางกลับมาแจ้งข่าวแก่อาจารย์ “จงกลับไปอีกทีเถอะ” พระพรหมณัสบดีวิงวอน “จงไปเจรจากับดาราโดยตรง บอกว่าเราผู้เป็นสามีมีความคิดถึงนางและยินดีอภัยให้แก่นาง ขอให้นางกลับมาเถิด” แต่เมื่อทวยเทพไปพบนางดารา นางก็ยืนกรานว่าจะอยู่กับพระจันทร์ ไม่ขอกลับไปเห็นหน้าสามีเดิมอีก พระพฤหัสบดีแค้นใจยิ่งนัก ตัดสินใจไปพบนางดาราด้วยตนเอง พยายามอ้อนวอนนางและชี้แจงให้เห็นผิดชอบชั่วดี แต่นางทำเฉยเสีย พระพฤหัสบดีเจรจาไม่สำเร็จมีความโทมนัสและคั่งแค้นสุดขีด กลับมายังอาศรมประชุมเทวดาทั้งปวง มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า และประกาศทำสงครามทันที “ดูก่อนท้าววัชรินทร์ศิษย์รักของข้า” พระคุรุเทพหลาวขอร้อง “เจ้าจงเห็นแก่ข้าผู้เป็นอาจารย์ จงช่วยเหลือข้าในครั้งนี้ด้วยเถิด จันทรเทพลูกศิษย์อกตัญญูกระทำกรรมอันหนักล่วงคุรุกรรมถึงขั้นลักพาภรรยาของผู้เป็นอาจารย์ไปโดยไม่ละอายใจ ไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง มันทำให้อาจารย์ของมันต้องเสื่อมเกียรติยศ เจ้าจงไปบังคับมันให้คืนนางให้แก่ข้าด้วยเถิด” พระอินทร์และเทพเจ้าทั้งหลายมี พระอัคนี พระวายุ พระวรุณ และทวยเทพทั้งปวง ได้เปิดฉากทำสงครามต่อพระจันทร์ ฝ่ายพระจันทร์ ก็ระดมบรรดาอสูรทั้งหลายอันมีฤิทธิ์เข้าสัประยุทธ์ด้วยอย่างดุเดือด มีพระศุกร์เป็นอาจารย์คอยช่วยเหลืออยู่ การสงครามครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งเรียกว่าเทวาสุรสงครามนี้ดำเนินไปหลายปี ต่างฝ่ายต่างไม่พ่ายแพ้แก่กัน ทางฝ่ายอสูรซึ่งเป็นพันธมิตรของพระจันทร์นั้นถึงแม้จะเสียทีถูกเทวดาฆ่าตายลงเป็นอันมาก แต่พระศุกร์เทพฤษีผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ก็ร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี ชุบชีวิตให้กลับคืนมา ทำให้กองทัพอสูรมีกำลังฮึกเหิมไม่กลัวตาย สามารถต่อสู้กับฝ่ายทวยเทพได้โดยไม่ท้อถอย การสงคราวยืดเยื้อไปถึง ๑๐๐ ปีในที่สุด พระพรหมผู้เป็นเจ้าต้องเสด็จมาไกลเกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกัน พระครรไลหงส์ตรัสเรียกคู่สงครามมาเฝ้าและมีพรหมบัญชาว่า “เจ้าทั้งสองทั้งพฤหัสบดี และ โสมเทพ จงฟังข้า การสงครามครั้งนี้มิควรเป็น แต่เจ้าทั้งสองก็ทำให้มีขึ้น เดือดร้อนไปทั้งไตรโลกเหตุเพราะตัณหาบ้าผู้หญิงเพียงคนเดียว ต้องยื้อแย่งกันขายหน้านัก นางดาราตัวดีผัวมีอยู่ทั้งคนยังวิ่งตามชู้ไปไม่รู้จักละอาย ข้ายกเจ้าให้เป็นเมียพฤหัสบดีเจ้าก็ต้องเป็นเมียที่ดีรู้จักรักษาเกียรติของผัว นี่กลับเห็นชู้ดีกว่าผัว ทำตัวน่ารังเกียจนัก พลอยให้ข้าเสียรังวัดไปด้วย ข้างโสมเทเล่า เจ้าก็ทำตัวเหลวใหล เจ้าชู้ไม่เลือกหน้าไม่ว่าลูกเขาเมียใคร มีตัณหาเป็นเจ้าหัวใจเป็นนิจ คำสาปของของทักษะลูกข้าไม่ทำให้เจ้าสำนึกบ้างหรือไร ดีละ ข้าขอให้เรื่องบาดหมางยุติเพียงนี้ โสมเทพจงคืนนางดาราในพฤหัสบดีเสีย และกลับไมอยู่กับเมียของเจ้าทั้ง ๒๗ นางนั่น ขอให้ทั้งสองฝ่าย จงคืนดีกัน ณ บัดนี้” พระจันทร์ได้ยินพรหมบัญชาดังนั้นก็มิอาจขัดได้ จำใจนำนางดารามาคืนให้แก่พระพฤหัสบดี พระคุรุเทพรับนางไว้ด้วยความยินดี กล่าวแก่พระพรหมว่า “ข้าแต่พระปิตามหะ ข้าพระบาทยอมเป็นไมตรีด้วยโสมเทพดังเดิม แต่ข้าพระบาทใคร่ขอร้องพระเป็นเจ้าสักข้อหนึ่ง” “อะไรหรือ” “ คืออย่างนี้พระเจ้าข้า” พระคุรุเทพกราบทูล “ตามพระธรรมสูตรที่กล่าวไว้ มีความตอนหนึ่งว่า ผู้ฆ่าพราหมณ์ก็ดี ขโมยที่ลักทองของผู้อื่นก็ดี คนขี้เมาหยำเปก็ดี คนที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่นก็ดี และคนที่คบค้าสมาคมกับบุคคลดังกล่าวมาแล้วนั้นก็ดี ถือว่าเป็นผู้ที่ทำกรรมอันหนัก แม้บุคคลนั้นจะเป็นเทวดาก็ไม่ถึงให้อยู่ในเทวโลกอีกต่อไป พระจันทร์เป็นคนผิดตามที่รุบุไว้ ฉะนั้นไม่ควรให้พระจันทร์เข้สู่เทวสมาคมอีกต่อไป พระเจ้าข้า” พระพรหมทรงไตร่ตรองครู่หนึ่งจึงตรัสว่า “ข้าเห็นควรตามคำขอของเจ้า ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าห้ามมิให้โสมเทพเข้าสู่เทวสมาคมอีก” พระครรไลหงส์ทรงตัดสินข้อพิพาทเรียบร้อยก็เสด็จกลับคืนพรหมโลก พระพฤหัสบดีนำนางดารากลับคืนอาศรม คงเหลือแต่พระจันทร์นั่งเศร้าสร้อยอยู่แต่ผู้เดียว ขณะนั้น พระศิวะเป็นเจ้าก็ปรากฎพระองค์ขึ้นเฉพาะหน้า ทรงแย้มยิ้มด้วยความเมตตาและตรัสว่า “เป็นอย่างไรเล่า จอมเจ้าชู้ ข้าว่าพระปิตามหะน่ะทรงตัดสินดีแล้วสาสมแก่โทษของเจ้า แต่เรื่องไม่ให้เข้าเทวสมาคมนี่เจ้าจะทำอย่างไร เพราะเจ้ามีหน้าที่ต้องเข้าเทวสภาตามกำหนด จะละเว้นหน้าที่เสียได้ไฉน” “ข้าพระบาทไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ขอพระเมตตาเป็นที่พึ่ง” “ก็เดือนร้อนถึงข้าตามเคยน่ะแหละ” พระมหาเทพทรงพระสรวล และตรัสกระซิบว่า “ข้าจะช่วยเจ้าสักครั้ง พรุ่งนี้จะมีการประชุมเทวสภา เจ้าไปกับข้าก็แล้วกัน” “จะเข้าไปอย่างไรพระเจ้าข้า องค์พระปิตามหะทรงห้ามไว้” โสมเทพฉงน “ก็ทำอย่างนี้ไงล่ะ” พระศิวะเป็นเจ้าตรัส ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหยิบพระจันทร์ขึ้นปักเป็นปิ่นบนพระเมาลี (มวยผม) ทำเป็นอาภรณ์ประดับพระเศียรอันเพริศพรายด้วยรัศมีแจ่มจรัส แสงนั้นจับพระพักตร์พระเป็นเจ้าให้ดูเด่นงดงามอย่างประหลาด พระไตรศุลีทรงพระสรวลกึกก้องด้วยความสบพระทัย พระสุรเสียงก้องกำจายไปทั่วจักรวาล ตรัสว่า “เห็นหรือยังว่าข้าทำอย่างไรกับเจ้า บัดนี้เจ้าก็เป็นปิ่นปักผมของข้าแล้ว เมื่อข้าเหยียบย่างเข้า เทวสภา ใครหน้าไหนจะมาคัดค้านเจ้าได้ เจ้าทำให้ข้าได้นามใหม่ว่า จัทรเศขร คือผู้ทัดจันทร์เป็นผิ่น ส่วนเจ้าก็จะได้นามใหม่ว่า ศิวเศขร คือ ปิ่นของพระศิวะ เหมาะดีแล้วไม่ใช่หรือ” พระทัดจันทร์เสด็จคืนสู่เขาไกรลาส พระจันทร์หลุดพ้นจากพรหมประกาศิต แต่พระพฤหัสบดีมีปัญหาหนักที่ต้องขบคิด เรื่องก็คือนางดาราผู้กลับคืนมาสู่อ้อมอกของพระคุรุเทพนั้นมีครรภ์แก่และในที่สุดก็ให้กำหนิดแก่ทารา เป็นกุมารน้อยรูปงามน่ารักยิ่งนัก พระพฤหัสบดีเชยชมทารกน้อยด้วยความรักจับจิตด้วยเข้าใจว่าเป็นบุตรของตน แต่มิช้าก็เกิดความคลางแคลงใจว่า บางทีกุมารน้อยอาจไม่ใช่ลูกแท้ๆก็ได้ พยายามปลอบโยนนางดารา เวียนถามแล้วถามอีก แต่นางก็ใช้การนิ่งเป็นคำตอบ พระจันทร์ทราบข่าวว่านางมีบุตรชายก็รีบมาหาและถามนางเช่นเดียวกัน นางก็นิ่งอีก ทันใดนั้นกุมารน้อยก็ลุกขึ้น ยกมือขึ้นห้ามทั้งสองฝ่ายและหันมากล่าวแก่มารกาอย่างขัดเคืองว่า “แม่จะนิ่งอยู่ทำไม แม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรทำไมไม่พูด ถ้าแม่ยังไม่พูดก็เท่ากับว่าแม่ตั้งใจจะก่อปัญหาขึ้นอีก ข้าจะสาปแม่เสียเดี๋ยวนี้แหละ” นางดาราเกรงกลัวบุตรจะสาปสรร จึงจำใจตอบว่า “พระจันทร์เป็นพ่อของกุมารนี้ จงทราบความตามจริงเถิด” “ฉลาดนัก ลูกของพ่อ ฉลาดนัก” พระจันทร์ผวาเข้ากอดกุมารน้อยด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง “เจ้าจงได้ชื่อว่า พุธ เถิดเพราะเจ้าเป็นผู้ฉลาดจริงๆ” พระจันทร์ได้พระพุธผู้เป็นโอรสไปเลี้ยงดูจนเจริญวัยเป็นหนุ่ม พระพุธไปบวชเป็นฤษีจำศีลภาวนาอยู่ในปราสาททองใต้ผืนน้ำในทะเลสาปเชิงเขาหิมาลัย เมื่อท้าวอิลราช ในสภาพที่ถูกสาปเป็นนาง อิลาลงไปเล่นน้ำในทะเลสาป พระพุธได้นางเป็นภรรยา มีบุตรชายด้วยกันคือ เจ้าชายปุรูรวัส เป็นกัษตริย์องค์แรกแห่งจันทรวงศ์ ครองราไชศวรรย์สืบมาหลายหมื่นปี จากหนังสือ อนงค์มัญชรี รวบรวมและเขียนโดย อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๔ (๑) นิศากร ผู้ทำกลางคืน หมายถึง พระจันทร์ (๒) นักษัตรราชา ราชาแห่งดวงดาวทั้งหลาย เป็นฉายานามของพระจันทร์

ศวรี

ศวรี พญาคนธรรพ์ชื่อ จตรกวจะ (จิด-ตระ-กะ-วะ-จะ) มีธิดาแต่เพียงนางเดียวชื่อ มาลินี เป็นผู้มีความงามราวกับพระศรี เป็นที่เสน่หาของหนุ่มๆคนธรรพ์ทั้งหลาย แต่ราชาแห่งคนธรรพ์มิได้ยกนางให้แก่ใครเพราะเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ จวบจนกระทั่งฤษีหนุ่มผู้หนึ่งเดินทางมาสู่สำนัก เขามีนามว่า วีติโหตร (วี-ติ-โห-ตระ) เป็นนักศึกษาผู้เฉียบแหลมมีสติปัญญาลึกซึ้ง และชำนาญในพระเวททั้งสี่ พญาคนธรรพ์มีความพอใจในคุณวุฒิของเขายิ่งนัก ชักชวนให้เขาพำนักอยู่ด้วย และยอมยกธวิดาสุดที่รักให้เป็นคู่ครองของยุวดาบสด้วยความเต็มใจ เวลาผ่านไปดาบสหนุ่มผู้เรืองเวทเอาแต่เข้าฌานเพ่งเล็งอาตมันเป็นที่ตั้ง มีใจแน่วแน่มั่นคงในพระผู้เป็นเจ้า มิได้เอาใจใส่ในภรรยาของตนเท่าที่ควร ทำให้มาลินีรู้สึกว้าเหว่เพราะถูกทอดทิ้ง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเหลือจะทนทาน ในที่สุด นางก็หันไปหาหนุ่มชาวเขาผู้หนึ่ง และมีความภิรมย์ยินดีด้วยคู่รักใหม่ ละเลยการปรนนิบัติสามีบ่อยๆจนผิดสังเกต ในที่สุดวีติโหตรก็จับได้ โยคีหนุ่มแยกนางมาบริภาษและกล่าวคำสาปว่า “นี่แน่ นางใจบาป เจ้ากล้ากระทำความชั่วช้าลับหลังเรา คิดว่าเราเป็นเต่าตุ่น ไม่รู้ไม่เห็นกระนั้นหรือ ดีละ เมื่อเจ้าเห็นว่าเจ้าหนุ่มชาวป่านักล่าสัตว์คนนั้นเป็นที่ปรารถนาของเจ้านักหนา เราก็จะให้เจ้าได้สมใจปรารถนาจริงๆ เจ้าจงกลายเป็นนางนิษาท หญิงชาวป่าที่ต่ำศักดิ์ สาธารณ์มีชีวิตอยู่ด้วยความยากไร้ เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนในวรรณะทั้งปวงนั้นแล” สิ้นคำสาปสรร ธิดาคนธรรพ์ผู้มัศักดิ์สูงส่งก็กลายเป็นหญิงในวรรณะต่ำทราม เป็นชาวป่าล่าสัตว์ที่แต่งตัวรุงรังสาปรกน่ารังเกียจไปทันที มาลินีโแมงามร้องกรีดด้วยความอับอาย ยกมือปิดหน้าคร่ำครวญด้วยความเสียใจและวิ่งหนีเข้าป่าไป ก่อนที่จะลับกายหายเข้าป่าทึบหูของนางได้ยินแสียงแว่วๆจากสามมีว่า นางจะพ้นคำสาปในวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อพระวิษณุเป็นเจ้าเสด็จอวตารมาเป็นพระรามจันทร์และความผิดบาปของนานจะถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยพระวาจาแห่งพระเป็นเจ้าพระองค์นั้น มาลินีในสภาพของหญิงนิษาทชื่อ ศวรี เที่ยวเซซังไปในป่าใหญ่อย่างไร้จุดหมาย กระทั่วในที่สุด มาถึงสำนักใหญ่ของนักบวชพวกหนึ่งซึ่งมีอาจารย์เจ้าสำนักเป็นมหาฤษี มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่คือ พระมาตังคมหามุนี ศวรีผู้อ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจค่อยก้าวเข้าสู่เขตอาศรมซึ่งหอมหวนชื่นใจด้วยกลิ่นดอกไม้นานาพรรณ อันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากดอกไม้ทั้งหลายในโลก เพราะได้รับพรจากพระมาตังคมุนีในอดีตกาล เรื่องมีว่า ในสมัยโบราณครั้งหนึ่งนางดาบสผู้เป็นสานุศิษย์รับใช้พระมาตังคะ ได้ไปเก็บดอกไม้นานาชนิดในป่ามาถวายแด่พระมุนี เพื่อการบูชาพระผู้เป็นเจ้า ระหว่างที่ช่วยกันหาบหามดอกไม้กองใหญ่มานั้น เหงื่อของนางดาบสทั้งหลายได้หยดลงบนพื้นดิน เพราะความร้อนและความเหน็ดเหนื่อย และด้วยอำนาจตบะของพระมุนี บันดาลให้เกิดเป็นต้นไม้ใหญ่น้อยและเครือเถาลดาวัลย์ขึ้นทั่วบริเวณนั้น ผลิดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นอบอวลยวนใจยิ่งนัก พระมาตังคะได้เห็นความอัศจรรย์ดังกล่าว จึงอวยพรให้บุปผานานาพรรณอันเกิดจากหยดเหงื่อของนางดาบสมีความคงทนยั่งยืน ไม่มีวันโรยรา มีสภาพดังดอกไม้ทิพย์ในสวรรค์ ศวรีเข้าไปสู่มาตังคาศรมและขอบวชในสำนักพระมหามุนี ได้ศึกษาและเล่าเรียนธรรมะขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ และอุทิศตนเพื่อการบวชอย่างจริงจัง จนพระมาตังคมุนียอมยกย่องในวัตรปฏิบัติของนาง ตั้งให้นางเป็นดาบสินี มีหน้าที่ดูแลพรรณไม้ทิพย์ และช่วยเหลือฤษีทั้งหลายในการทำพิธีต่างๆ กาลเวลาล่วงไปหลายพันปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่พระมาตังคมุนีและบริวารผู้ปฏิบัติธรรมอย่างยิ่งยวดจนบรรลุโมกษะ จะละสังขารไปสู่ความเป็นทิพย์นิรัตดรในสวรรค์ พระมาตังคมหาฤษีจึงกล่าวอำลาต่อนางว่า “ดูก่อนศวรี พวกเราจะละโลกนี้ไปสู่สวรรค์แห่งพระวิษณุแล้ว เราของใจเธอที่ได้รับใช้ปรนนิบัติเราด้วยดีตลอดมา เธอย่าเศร้าเสียใจว่าเราไปแล้วเธอจะขาดที่พึ่ง จะถูกทอดทิ้งอยู่แต่ผู้เดียวเลย เวลาแห่งอิสรภาพของเธอจวนจะมาถึงแล้ว จงอดทนต่อไปอีกสักหน่อย พระรามผู้เป็นเจ้าจวนจะเสด็จมาถึงแล้ว จงคอยถวายการต้อนรับพระองค์ให้ดีเถิด พระองค์จะโปรดให้เธอพ้นทุกข์ในที่สุด บัดนี้ ก่อนที่เราจะจากไปเราขออวยพรแก่เธอ ขอให้เธอจงเป็นผู้มีตาทิพย์ สามารถแลเห็นทุกสิ่งทุกอย่างแม้ในที่ซ่อนเร้นใดๆ และจงแลเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นผู้ได้ชื่อว่า ตริกาลัญชะ (ผู้รู้กาลเวลาทั้งสาม )เถิด”
เมื่อเหล่าฤษีจากไปแล้ว ศวรีก็ยังคงพำนักอยู่ ณ อาศรมมาตังคะต่อไป ในเวลานั้น พระรามและพระลั่กษมณ์ กำลังเสด็จติดตามหานางสีดาซึ่งถูกท้าวราพณาสูรลักพาตัวไป วันหนึ่ง กษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จมาถึงอาศรมของพระกพนธมุนี ได้รับการต้อนรับฉันมิตรไมตรี และพำนักอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วก็ออกเดินทางต่อ พระมุนีได้ตามาส่งเสด็จและชี้ทางให้ติดตามพระชายาต่อไป “โอ้ รามะ” พระฤษีเฒ่ากล่าว จงเสด็จไปตามทางสู่ทิศตะวันตกนี้เถิด พระองค์จะได้พบอาศรมในอุทยานอันงามราวสวนสวรรค์ของพระอินทร์ มีชื่อว่า มาตังคาศรม ครั้งหนึ่งพระมาตังคมุนีและบริวารเคยพำนัก บัดนี้พระฤษีเหล่านั้นได้ละสังขารไปสู่พิษณุโลกแล้ว ยังคงเหลือแต่นางดาบสชื่อศวรี ดูแลสถานที่นั้นอยู่ บัดนี้ศวรีได้บรรลุธรรมชั้นสูงแล้วและจะถึงโมกษะความหลุดพ้นในมิช้า นางกำลังคอยพระองค์อยู่ เมื่อได้เผ้าพระองค์แล้ว นางก็จะพ้นคำสาป และได้ขึ้นสวรรค์ โอ พระราฆพ” พระรามและพระลักษมณ์เสด็จมาถึงมาตังคาศรมเป็นเวลาใกล้เที่ยงวัน เมื่อเข้าสู่บริเวณอาศรมอันร่มรื่นและหอมหวนด้วยกลิ่นบุปผานิรันดร ณ ที่นั้น ก็ได้พบศวรี ซึ่งเฝ้าคอยอยู่ นางรีบกุลีกุจอนำน้ำบริสุทธิ์มาถวายกัษตริย์ทั้งสองให้ทรงบ้วนพระโอษฐ์ และถวายน้ำชำระพระบาทตามธรรมเนียม แล้วก้มลงกราบพระบาทของพระรามจันทร์ผู้เป็นเจ้าด้วยความเคารพและศรัทธาอันสูงสุด ทูลว่า “ข้าแต่พระโลกนาถผู้ทรงเมตตาธิคุณอันล้ำเลิศ ข้าพระบาทได้บำเพ็ญพรตคอยพระองค์อยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลาหลายพันปีแล้ว บัดนี้ พระองค์ก็ได้เสด็จมาถึง บาปกรรมของข้าพระบาทจะสิ้นสุดลงในวันนี้เป็นแน่แท้ และจะได้เป็นอิสระพ้นจากคำสาปในที่สุด ขอพรองค์ได้ทรงโปรดยกความผิดความบาปของข้าพระบาทด้วยเถิด” พระรามจันทร์ทรงแย้มพระสรวลด้วยความเมตตา เอาพระหัตถ์มาวางบนศีรษะของนางพลางตรัสว่า “ ศวรีเอ๋ย เจ้าได้บำเพ็ญตบะมาช้านาน มุ่งกุศลผลบุญเป็นที่ตั้ง จนจิตใจของเจ้าบริสุทธิ์ผุดผ่อง นับว่าได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรแล้ว เราขอให้เจ้าพ้นคำสาปสรรทั้งปวง และถึงโมกษะคือความหลุดพ้นทุกข์ชั่วกัลปาวสาน จงมีความสุขตลอดไป ไม่รู้วันสิ้นสูญเหมือนดังดอกไม้ทั้งหลายในวนาศรมแห่งนี้เถิด” ด้วยประกาศิตของพระผู้เป็นเจ้า ศวรีก็ถึงอิสรภาพอันสมบูรณ์และบรรลุชีวันมุกติ ถึงความหลุดพ้นชั่วนิรันดร เมื่อประทับพักผ่อนพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระรามและพระลักษมณ์ก็อำลานางออกเดินทางต่อไป ศวรีได้นำเสด็จมาถึงทางสองแพร่ง ชี้ทางที่จะดำเนินไปและกราบทูลว่า “ข้าแต่กพระจอมอโยธยา ข้าพระบาทจะต้องอำลาพระองค์ ณ ที่นี้แล้ว ขอจงเสด็จไปตามทางมุ่งสู่ทิศใต้นี้เถิด เมื่อเสด็จตามทางนี้ไปไม่นานจะบรรลุถึงทะเลสาบ อันมีชื่อว่า ปัมปา มีน้ำเขียวใสดังมรกต และมีทัศนียภาพงดงามยิ่งนัก เมื่อเสด็จเลียบชายฝั่งไปยังฟากโน้นแล้ว จะถึงภูเขาสูงชื่อ ฤษยมูกะ ณ ยอดเขานั้นพระองค์จะได้พบกับพญาวานร ชื่อ สุครีพ เขาผู้นี้แลจะเป็นพันธมิตรสำคัญของพระองค์ และด้วยกำลังวานรอันเกรียงไกรของพญาสุครีพ พระองค์จะได้ติดตามข้ามฝั่งมาหาสมุทรทางทิศใต้ไปทำศึกกับท้าวทศเศียรที่เกาะลังกา เพื่อชิงพระแม่เจ้าสีดากลับคืน โอ้ พระพิษณุพงศ์ การสงครามอันโหดร้ายนั้นจะยืดเยื้อถึงสิบสองปี ข้าพระบาทแลเห็นโดยตลอด ทั้งสองฝ่ายจะถูกฆ่าฟันล้มตายในสมรภูมิ ครั้งแล้วครั้งเล่า จะประมาณชีวิตมิได้ พระองค์จะได้รับความลำบากแสนสาหัส แต่อย่าทรงท้อพระทัย หรือเศร้าเสียพระทัยเลย อธรรมจะต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมะในที่สุด ถึงแม้พญาราพณาสูรจะมีฤทธิ์ร้ายกาจ และอยู่ยงคงพระพัน อาวุธใดๆไม่อาจทำอันตรายได้ก็จริง แต่พรองค์ก็จะทำลายชีวิตมันได้แน่นอน” นางหยุดอยู่ครู่หนึ่งจึงก้มศีรษะลงทูลกระซิบ เหมือนเกรงบุคคลใดจะแอบได้ยินว่า “แต่เรื่องนี้อย่าได้กังวลพระทัยเลย พระอคัสตยมุนี โอรสแห่งพระวรุณเทพเจ้า จะช่วยเหลือพระองค์เอง พระมุนีผู้เฒ่าจะสอนมนตร์ชื่อ อาทิตยหฤทัย แด่พระองค์ และมนตร์อาทิตยหฤทัยนี้แล คือมนตร์ปลิดชีวิตพญารากษสร้าย เมื่อพระองค์ร่ายมนตร์บทนี้พร้อมกับแผลงศรพรหมาสตร์ไป อวสานของทศกัณฐ์ก็มาถึง ข้าพระบาทขอทูลลาบัดนี้” กล่าวจบ นางผู้มีพรตอันสมบูร์พร้อมก็ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระรามและพระลักษมณ์ แล้วหันหลังกลับ ทันใดนั้น บุษบกทองคำอันมีรัศมีสุกสว่างก็ลอยลงมาจากฟ้า ศวรีก้าวขึ้นสู่ทิพยยานอันงามวิจิตร ค่อยลอยเลื่อนขึ้นสู่ท้องฟ้า หายลับไปยังไวกุณฐสถานอันเป็นสวรรค์แห่งพระวิษณุเป็นเจ้า ซึ่งเป็นแดนบรมสุขตลอดกาล จากหนังสือ หริศจันทร์ รวบรวมโดย อ. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๓

เวนไตย

เวนไตย เวนไตย (เว-นะ-ไต) แปลว่า ลูกของนางวินตา (วิ-นะ-ตา) หมายถึง ครุฑ ซึ่งเป็นมหาวิหค เป็นราชาแห่งนกทั้งปวง และเป็นผู้มีพละกำลังเป็นเลิศเหนือทวยเทพทั้งปวงแม้พระอินทร์ พระฤษีกัศยปเทพบิดร เป็นผู้ที่มีชายามากมายในจำนวนนั้นมีชายาสองคนเป็นพี่น้องกัน พี่สาวชื่อ วินตา และน้องสาวชื่อ กัทรู หรือสุรสา ครั้งหนึ่งนางทั้งสองมีโอกาสได้ปรนนิบัติพระเทพบิดรอย่างใกล้ชิดทำความพอใจแก่พระมหามุนีเป็นอันมาก พระมหามุนีจึงให้พรแก่นางตามแต่จะปรารถนา นางกัทรูกล่าวว่า “ข้าแต่สวามี ข้าพเจ้าขอมีลูกเป็นนาคหนึ่งพันตัว ให้มีฤทธิ์ร้ายแรงและสามารถแปลงกายได้ทุกย่างดังใจนึก” “จงสำเร็จดังวาจาเถิด” พระพรหมฤษีประสาทพร “เจ้าเล่าวินตา เจ้าประสงค์อะไร” “ข้าแต่บดี ข้าพเจ้าขอมีลูกเพียงสองเท่านั้น แต่ขอให้ลูกของข้าพเจ้ามีเดชล้นฟ้าหาผู้เสมอมิได้ จงมีชัยชนะต่อบรรดานาคทั้งหลายทุกเมื่อ” “เจ้าจะได้ดังปรารถนา” พระเทพบิดรกล่าวยิ้มๆ “นี่แน่ะ วินตา ข้าขอเตือนเจ้าไว้อย่างหนึ่ง เจ้าขอพรข้าด้วยจิตริษยาต่อน้องของเจ้า เวรได้เกิดขึ้นแล้ว และผลแห่งเวรนั้นจะทำให้เจ้าต้องประสบความยากลำบากปิ้มว่าเลือดตาจะกระเด็น แต่อย่างไรก็ดี ในที่สุด เจ้าจะพ้นทุกข์เพราะลูของเจ้านั้นแลเป็นลูกกตัญญู” ก่อนจะจากไป พระกัศยปมุนีได้กล่าวแก่นางทั้งสองว่า “ข้าจะต้องลาเจ้าไปก่อน พระอินทร์ลูกของข้ากำลังประสบภัยพิบัติเพราะคำสาปของพระฤษีทุรวาส เทวดาทั้งหลายกำลังล้มตายราวกับใบไม้ร่วงเพราะเหล่าอสูรฮึกเหิมเหลือกำลัง อาศัยอำนาจคำสาปของพระทุรวาสก่อกรรมทำเข็ญแก่ทวยเทพไม่หยุดหย่อน พระวิษณุเป็นเจ้าทรงแนะให้เทวดาช่วยกันกวนน้ำทิพย์ในทะเลน้ำนมเพื่อความมีชีวิตนิรันดร ข้าต้องไปดูและช่วยเหลือลูกๆของข้า คงอีกนานกว่าเราจะได้พบกันอีก” เมื่อพระเทพบิดรจากไปแล้ว นางวินตา และ กัทรู ก็รักษาตนเป็นอันดี กระทำพิธีและสวดมนตร์ถวายพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม มิช้านานก็คลอดบุตรออกมาเป็นไข่ นางกัทรูคลอดบุตรเป็นไข่ ๑๐๐๐ ฟอง ส่วนนางวินตาก็คลอดออกมา ๒ ฟอง นางทั้งสองต่างเก็บไข่ไว้ในหม้อที่อบอุ่น ให้ความร้อนถึง ๕๐๐ ปี ในที่สุดไข่ ๑๐๐๐ ฟองของนางกัทรูก็แตกออกเป็นนาคหรืองูชนิดต่างๆ ๑๐๐๐ ตัว ส่วนไข่ของนางวินตา ยังไม่มีวี่แววว่าจะแตกออกมาเลย นางมีความร้อนใจมาก และเกิดความอิจฉาเมื่อเห็นน้องสาวมีลูกตามใจปรารถนาแล้วหยอกเอินลูกๆด้วยความสุข ความอิจฉาทำให้นางหลงผิดรีบต่อยไข่ฟองแรกออก ปรากฏว่ามีกุมารอยู่ในไข่คนหนึ่งแต่มีร่างหายเพียงครึ่งเดียว พระกุมารนั้นคือ “พระอรุณ” เมื่อพระอรุณเห็นมารดากระทำดังนั้นก็โกรธมาก บริภาษว่า “ดูหรือ แม่ช่างทำแก่ข้าได้ ข้าต้องมีร่างเพียงครึ่งตัวเช่นนี้เพราะความใจร้อนและความขาดสติขาดเหตุผลของแม่แท้ทีเดียว ดีละ แม่จะต้องชดใช้หนี้แห่งการกระทำครั้งนี้ นับแต่นี้ไปแม่จงตกเป็นทาสของกัทรูและพวกนาคทั้งหลาย จะต้องทนทุกขเวทนาช้านานหาความสุขมิได้” พระอรุณแลดูนางวินตาด้วยความแค้น แต่ในที่สุดก็เกิดความสงสารเพราะรำลึกได้ว่าแท้จริงนางวินตาก็คือแม่ของตน จะดีชั่วอย่างไรก็ยังเป็นแม่ จึงลดคำสาปลงว่า “เอาเถิด ถึงแม้จะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงไร แต่อีกไม่นานหลังจาก ๕๐๐ ปีผ่านไปไข่อีกฟองก็จะแตกออก ลูกของแม่ผู้นี้จะช่วยแม่ให้พ้นความทุกข์ในที่สุด ข้าไปละ” กล่าวจบพระอรุณก็ลอยขึ้นสู่อากาศ และขึ้นไปนั่งบนรถทรงของพระอาทิตย์ ทำหน้าที่เป็นสารถี และเนื่องจากพระอรุณมีร่างกายใหญ่โตแม้ร่างเพียงครึ่งเดียวก็สามารถบังแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกปรากฎบนของฟ้าให้อ่อนลงจนแลเห็นเป็นรัศมีสีแดงอ่อนๆไม่แผดจ้าเหมือนเมื่อก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกแสงอาทิตย์เมื่อแรกจับขอบฟ้าว่า แสงอรุณ และในกาลเมื่อพระอรุณขึ้นไปนั่งเป็นสารถีบนรถของพระสูรยาทิตย์นี้เองเป็นเวลาที่ทวยเทพและอสูรกำลังช่วยกันกวนน้ำทิพย์ในเกษียนสาครอย่างขะมักเขม้น หลังจากนั้นอีกไม่นานก็บรรลุผลสำเร็จได้น้ำทิพย์และของวิเศษ ๑๔ อย่างผุดขึ้นมาจากทะเลน้ำนม ในจำนวนของวิเศษ ที่ผุดขึ้นมานั้น มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง พระอินทร์เอาไปเป็นเทพพาหนะ ให้ชื่อว่า ช้างไอราวัณ และมีม้าขาวผ่องตัวหนึ่งผุดขึ้นมา พระสูรยาทิตย์รับเอาไปเป็นม้าเทียบรถทรง ให้ชื่อว่า ม้าอุจไจศรพ (หรือม้าอุจไฉศรพ) จำเนียรกาลต่อมา เมื่อถึงคราวที่นางวินตาจะรับกรรม ปรากฏว่าได้เกิดการพนันขันต่อระหว่างนางกับน้องสาวขึ้น โดยนางกัทรูกล่าวท้านางวินตาให้ทายว่าขนม้าอุจไจศรพสีอะไร ถ้าทายผิดจะต้องตกเป็นทาสของนางกับลูกๆ แต่ถ้าทายถูกนางกัทรูก็จะยอมเป็นทาสเช่นเดียวกัน นางวินตาเคยเห็นม้าอุจไจศรพไกลๆ หลายครั้งก็มั่นใจ จึงทายว่าม้าอุจไจศรพมีขนตามร่างกายสีขาวผุดผ่องทั้งตัว นางกัทรูก็ค้านว่าไม่ถูก ม้าอุจไจศรพมีขนตามร่างกายสีขาวก็จริงแต่มีหางสีดำล้วนต่างหาก เรื่องจึงต้องพิสูจน์กันให้ประจักษ์ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น นางทั้งสองก็เดินทางไปดูม้าของพระอาทิตย์ ปรากฏว่าม้าอุจไจศรพนั้นมีขนขาวผ่องทั้งตัว แต่มีหางสีดำสนิท ทั้งนี้เพราะนางกัทรูแอบใช้ให้บรรดาลูกๆของนางซึ่งเป็นนาคทั้งหลายให้แปลงกายเป็นขนสีดำเข้าไปแซมขนหางม้าพระอาทิตย์จนเต็มไปหมด นางวินตาแพ้พนัน ต้องยอมเป็นทาสของน้องสาวและนาคทั้งหลาย ถูกใช้ให้ทำงานหนักทุกเช้าค่ำลำบากหนักหนาหาความสุขมิได้ นางวินตาทนทุกข์ทรมานเป็นเวลาหลายร้อยปี ในที่สุดเมื่อไข่อีกฟองหนึ่งของนางแตกออก ปรากฏร่างนกยักษ์ก้าวออกมายืนเป็นสง่า พญามหาปักษินผู้มีร่างกายใหญ่มหึมา มีรัศมีสีทองเจิดจ้าเปล่งออกจากกายโดยรอบ สว่างไสวโชติช่วงยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ร้อยเท่า ค่อยโบยบินขึ้นสู่นภากาศ สูงขึ้นไปจนถึงทางโคจรแห่งพระสูรยาทิตย์ รัศมีอันแรงกล้ารุ่งโรจน์นั้นทำให้ทวยเทพตกใจลนลานรีบไปเฝ้าพระอัคนีเทพทูลถามว่าแสงอะไร พระอัคนีจึงอธิบายว่า แสงเรืองโรจน์นั้นเป็นรัศมีของบุตรพระกัศยปเทพบิดร และมีเดชร้อนแรงเสมอด้วยแสงแห่งพระอัคนีเทพเอง เมื่อได้ทราบดังนั้น ทวยเทพก็พากันมาหาพญามหาวิหคและขอร้องให้ลดแสงสว่างลง พญาเวนไตยก็ยอมอ่อนรัศมีตามคำขอด้วยใจอันเมตตา และค่อยร่อนลงจากฟากฟ้าเข้ามาหามารดาของตน พญาเวนไตยได้ทราบว่ามารดาต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนเพราะตกเป็นทาสของนางกัทรูและบรรดานาคทั้งหลายก็มีความเศร้าใจนัก คิดหาโอกาสที่จะช่วยให้เป็นอิสระแต่ยังไม่สบช่องจึงนิ่งอยู่ ต่อมาวันหนึ่งนางกัทรูและลูกๆแจ้งแก่นางวินตาว่า พวกตกจะออกเดินทางไปยังเกาะรามณยกะซึ่งอยู่กลางสะดือทะเล อันเป็นที่อาศัยของพวกนาคทั้งหลาย นางวินตาก็แบกนางกัทรูไว้บนบ่าพาเหาะไป ส่วนเวนไตยแบกนาคทั้งหลายไว้บนหลัง ด้วยความเกลียดชังพวกนาคอย่างลึกซึ้ง พญามหาปักษินก็พาบินขึ้นสู่อากาศสูงลิบจนถึงสูรยมณฑลอันเป็นวงรัศมีรอบรถพระอาทิตย์ในท้องฟ้า พวกนาคทนความร้อนไม่ไหวก็สลบไป นางกัทรูสวดมนตร์วิงวอนให้พระอินทร์ช่วย พระอินทร์จึงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ช่วยนาคให้รอดตายและเดินทางไปถึงเกาะรามณียกะในที่สุด การช่วยเหลือของพระอินทร์ต่อศัตรูครั้งนี้ทำให้พญามหาวิหคแค้นเคืองมา และผูกใจเจ็บตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พญาเวนไตยพยายามหาโอกาสช่วยเหลือแม่อยู่ช้านาน วันหนึ่งสบโอกาสจึงพยายามทำดีต่อพวกนาค และอ้อนวอนขอให้พวกนาคยอมปล่อยแม่ของตนให้เป็นอิสระ พวกนาคตอบว่า “พวกเราเป็นสัตว์ทิพย์ มีอำนาจมากก็จริง แต่ก็หาได้เป็นอมฤตชนเหมือนพระอินทร์ผู้เป็นพี่ของเราไม่ เราต้องการมีชีวิตนิรันดรเหมือนอย่างทวยเทพทั้งหลาย วิธีเดียวที่จะทำให้สำเร็จคือต้องได้ดื่มน้ำทิพย์ที่ได้มาจาการกวนเกษียรสมุทรอย่างที่เทวดาดื่มกัน พระอินทร์เก็บหม้อน้ำทิพย์ไว้ในที่ปลอดภัย ยากที่ใครๆจะเข้าถึง ถ้าเจ้าสามารถไปนำน้ำทิพย์นั้นมาได้ พวกข้าก็จะปล่อยแม่ของเจ้าให้เป็นอิสระ” พญาเวนไตยได้ฟังก็ยอมรับข้อเสนอด้วยใจยินดี รีบมาหามารดาและเล่าให้ฟ้งว่าตนจะเดินทางไปเทวโลกเพื่อแย่งชิงหม้อน้ำทิพย์จากพระอินทร์ แต่การเดินทางไปสู่ภูเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งของสวรรค์นั้นไกลมาจะต้องอาศัยเรี่ยวแรงมหาศาลจึงจะเดินทางไปถึง นางวินตาเสนอความคิดว่าควรจับพวกนิษาท อันเป็นคนป่าเถื่อนมากินเป็นอาหาร หลังจากกราบลามารดา พญาเวนไตยก็ได้จับพวกนิษาทกินแต่ก็ยังไม่หายหิวจึงคิดหาเหยื่อมาเพิ่ม จึงร่อนลงสู่ภูเขาเหมกูฎอันเป็นที่ตั้งอาศรมของพระกัศยปพรหมฤษีผู้เป็นบิดา และวิงวอนขออาหาร พระเทพบิดรจึงกล่าว ว่า “กามจาริน(๑) ลูกรัก ที่ทะเลสาบใหญ่ทางทิศเหนือของภูเขานี้มีพญาเต่าใหญ่ตัวหนึ่งชื่อวิภาวสุ กำลังต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายกับน้องของมันซึ่งเป็นพญาช้างใหญ่มหิมา เดิมมันทั้งคู่เป็นอสูรแต่ต่างฝ่ายต่างสาปกัน เพราะแย่งชิงสมบัติ เจ้าจงไปกินมันเสียแล้วรีบออกดินทางไปเอาน้ำทิพย์เถิดลูก ขอให้เจ้าจงประสบความสำเร็จช่วยแม่ของเจ้าให้เป็นอิสระเถิด” พญาเวนไตยอำลาพระเทพบิดรแล้วบินไปสู่ทะเลสาบ แลเห็นช้างและเต่าใหญ่กำลังต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ ก็ตรงเข้าเอาปากคาบสัตว์ทั้งคู่ไว้แล้วบินร่อน หาที่จะกินเหยื่อก็ยังแลไม่เห็นจึงโผลงจับกิ่งไทรอันยาวถึง ๑๐๐ โยชน์ที่แผ่ออกจากต้นนยโครธใหญ่เพื่อพักชั่วครู่ กิ่งไทรทานความหนักไม่ไหวก็หักสะบั้น พญานกแลไปเห็นกิ่งไทรที่ตัวเกาะอยู่นั้นมีฤษีแคระพวกหนึ่งเรียกว่าพวก พาลขิลยะ อันมีร่างกายเล็กขนาดนิ้วมือ กำลังบำเพ็ญตบะ เอาเท้าเกี่ยวกิ่งไม้ห้อยหัวอยู่ยั้วเยี้ยมีหลายหมื่นตน พญานกก็มีความเมตตาไม่ปล่อยกิ่งไทรให้ตกลงบนดินด้วยเกรงฤษีแคระจะเป็นอันตราย จึงจับกิ่งไทรไว้มั่นและกระพือปีกพยุงตัวเองอยู่ในอากาศหาที่จะวางกิ่งไม้อยู่ เมื่อไม่แลเห็นว่าจะวางที่ใดได้ก้บินกลับมายังภูเขาเหมกูฎแจ้งหตุให้พระกัศยปเทพมุนีทราบ พระเทพบิดรจึงกล่าวขอโทษต่อฤษีแคระทั้งหลาย อธิบายให้ทราบเรื่องโดยตลอด ฤษีแคระเห็นว่าพญานกมีใจเมตตาต่อตนถึงปานนั้นก็พากันสรรเสริญในน้ำใจอันงามของพญานกจึงประสาทพรว่า “มหาปักษิน ท่านนี้มีน้ำใจงามนัก เราซาบซึ้งในน้ำใจของท่านหาที่สุดมิได้ ขอให้พรแก่ท่าน ตั้งแต่บัดนี้ท่านจงมีนามว่า ครุฑ คือผู้รับภาระอันหนักไม่ว่าภาระใดที่ท่านกระทำ จะหนักหนาเพียงไรก็ตาม ท่านจงทำได้สำเร็จลุล่วงทุกครั้ง ท่านจงมีพลังมหาศาลมิรู้วันบกพร่อง จงเป็นผู้สามารถตลอดกาล อันใครอย่าได้ต้านทานต่อสู้ได้เลย” กล่าวจบบรรดาฤษีพาลขิลยะก็ละกิ่งไทรเหาะไปอยู่ป่าหิมพานต์ (ต่อพรุ่งนี้) พญาครุฑได้รับคำแนะนำจากพระกัศยปทพบิดรให้เอากิ่งไทรไปทิ้งทะเลเสีย และ ณ ลานหินกว้างริมมหาสมุทรนั้นเอง พญาครุฑก็กินช้างและเต่าเป็นภักษาหาร เมื่ออิ่มแล้วก็บินไปสู่เทวโลกด้วยความรวดเร็วปานประหนึ่งการหมุนแห่งจักรของพระนารายณ์ ครู่เดียวก็ถึงนครอมราวดีของท้าววัชรินทร์ ก่อนที่พญาครุฑจะเดินทางมาถึงเทวโลกก็มีลางร้ายหลายอย่างปรากฎแก่พระอินทร์ ท้าวเธอจึงถามพระพฤหัสลดีผู้เป็นครูแห่งทวยเทพถึงเหตุต่างๆที่บังเกิดขึ้น พระมหาฤษีพฤหัสบดีจึงทูลว่า บัดนี้ผู้มีอำนาจมหิมาเหนือเทพและมนุษย์อสูรทั้งปวงกำลังเดินทางมาเพื่อจะแย่งชิงน้ำทิพย์ บุคคลผู้นี้เป็นบุตรอันเกิดจากตบะเดชของพระฤษีกัศยปเทพบิดรและได้รับพรจากบรดาฤษีพาลขิลยะซึ่งเคยสาปแช่งพระอินทร์มาแล้วในอดีต ขอให้พระอินทร์ระวังตัวให้ดีเถิด ท้าวมัฆวานเมื่อได้ทราบดังนั้นก็มีความพรั่นใจ เร่งเตรียมการป้องกันน้ำทิพย์อย่างแข็งแรงที่สุด คำสาปของบรรดาฤษีพาลขิยะที่กระทำต่อพระอินทร์ในอดีตกาลก็คือ ครั้งหนึ่งพระกัศยปประชาบดีกระทำมหาพิธีอันยิ่งยวดเพื่อขอบุตรที่เรืองเดชานุภาพ พระอินทร์และฤษีแคระอันมีจำนวนกว่าหกหมื่นตนได้รับบัญชาจากพระกัศยปมุนีให้หาฟืนมาส่งยังโรงพิธี พระอินทร์แลเห็นพวกฤษีพาลขิยะมีร่างเล็กเท่านิ้วก้อยขนฟืนท่อนเท่าไม้จิ้มฟันเดินโซเซเตาะแตะมาสู่โรงพิธีก็หัวเราะด้วยความขบขัน และกล่าวคำเยาะเย้ยต่างๆ ฤษีแคระโกรธแค้นยิ่งนักจึงสาปพระอินทร์ว่า ต่อไปภายหน้าจะต้องพ่ายแพ้แก่ลูกของพระกัศยปเทพบิดร และจะต้องเสื่อเกียรติยศถูกติฉินนินทาด้วยเรื่องร้ายต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อสาปแล้วฤษีแคระทั้งหลายก็จากไป พอดีกับนางวินตามาหาพระกัศยป เมื่อนางขอลูกต่อพระมุนี พระมุนีจึงให้พรแก่นางว่านางจะได้บุตรชายมีเดชานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยผลจากมหายัชญพิธี ที่พระฤษีกระทำในครั้งนี้เมื่อพระพฤหัสลดีมาย้ำเตือนความหลังดังกล่าวจึงทำให้พระอินทร์มีความหวาดเกรงมาก เมื่อพญามหาวิหคบินมาถึง วิมาไวชยันต์ อันเป็นที่ประดิษฐานหม้อน้ำทิพย์ พระวิศวกรรมก็ปราดออกมาขวางหน้า พญาครุฑก็ตบกลิ้งไปด้วยกรงเล็บอันมหิมา แล้วพญาครุฑก็กระพือปีกเป็นมหาพายุพัดปั่นป่วนไปมา ทำให้เกิดความมืดคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทวยเทพที่มีฤทธิ์ทั้งหลายและพระอินทร์เรียงหน้ากันเข้ามาต่อสู้อย่างทรหด แต่ก็ทานเดชพญาครุฑไม่ไหว พากันแตกกระเจิงไปทุกทิศทุกทาง พญาเวนไตยก็เข้าไปสู่มณฑปอันเป็นที่ไว้หม้อน้ำทิพย์ แลเห็นหม้อน้ำทิพย์ตั้งอยู่หลังกงจักรสองอัน หมุนติ้วจนมองเห็นแต่รัศมีเลื่อมพรายระยิบระยับ เบื้องล่างของกงจักรเป็นงูร้ายสองตัวมีนัยน์ตาแดงก่ำราวทับทิม และลุกโชนไม่เคยหลับ ใครก็ตามที่งูร้ายเพ่งจะถึงแก่ความตายทันที พญาครุฑเห็นดังนั้นก็กระพือปีกอย่างแรง บันดาลให้เกิดฝุ่นฟุ้งตลบในบัดดล พัดเข้านัยน์ตางูร้ายจนลืมไม่ขึ้น พอได้ช่องพญาครุฑก็พุ่งเข้าเจาะพังพานของงูด้วยปากอันแหลมคม ทำให้เป็นรูโหว่แล้วแปลงกายให้เล็กเท่าหัวแม่มือเล็ดลอดผ่านเข้าไปจนถึงกงจักร ทำลายกงจักรเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วฉวยหม้อน้ำทิพย์ไว้ด้วยกรงเล็บพาบินออกมาสู่ท้องฟ้า แผ่ปีกบังแสงพระอาทิตย์เป็นสง่าอยู่ในนภากาศ พระวิษณุเป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นภาพอันงามสง่าสุดบรรยายได้เช่นนั้นทรงพอพระทัยยิ่งนัก ตรัสสรรเสริญว่า “พญาเวนไตยเอ๋ย เจ้าช่างงามสง่านัก ในจักรวาลนี้จะหาใครมีเดชานุภาพเสมอเจ้ามิได้แล้ว จงบอกมาเถิดว่าเจ้าปรารถนาอะไร ข้าจะให้แก่เจ้าทุกอย่าง” “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า” พญาครุฑก้มศีรษะลงคารวะอย่างนอบน้อม “ข้าพระบาทขอเป็นเพียงพาหนะของพระองค์ และจะรับใช้แทบเบื้องพระบาทตลอดไปชั่วชีวิตนี้เป็นพรประการแรก พรที่สองก็คือ ขอให้ข้าพระบาทมีชีวิตเป็นอมตะชั่วนิรันดรโดยไม่ต้องดื่มน้ำทิพย์เหมือนทวยเทพทั้งหลาย ขอพรทั้งสองนี้จงประสิทธิ์แก่ข้าพระบาทด้วยเถิด” “เราให้พรแก่เจ้าตามที่ประสงค์” พระเป็นเจ้าตรัส “ยิ่งกว่านี้เราจะให้พรเจ้าอีกสักประการหนึ่ง นับแต่นี้เจ้าจงกินนาคเป็นภักษาหารตลอดไปนาคทั้งหลายจะหนีเจ้าไปทุกทิศทุกทาง แต่แม้กระนั้นก็หารอดพ้นจากอำนาจของเจ้าไม่ เราขอชีวิตพญานาคไว้เพียงสองตนเท่านั้น เพราะเขาเคารพบูชาเรา นั่นคือ พญานาคเศษะ อันเป็นบัลลังค์ของเราในทะเลน้ำนม และพญานาควาสุกิ (วาสุกรี) อันมีที่พำนักในนครโภควดีกลางสะดือทะเลโน้น เจ้าจงไว้ชีวิตนาคทั้งสองนั้นเถิด” กล่าวจบพระวิษณุเป็นเจ้าก็เสด็จกลับสวรรค์ไวกุณฐ์ เมื่อพระเป็นเจ้าจากไปแล้ว พญาครุฑก็นำหม้อน้ำทิพย์มาโดยเร็วเพื่อมอบให้แก่นาคตามสัญญา พระอินทร์มีความเสียดายยิ่งนักรีบติดตามมาแย่งคืนแต่ไม่อาจต้านทานแรงแห่งมหาปักษินได้จึงเหวี่ยง วัชระ อันเป็นเทพอาวุธร้ายอาจไปยังพญาครุฑ เสียงดังสนั่นหวั่นไหวปานสวรรค์จะแตกทำลาย วัชระแล่นมากระทบร่างแห่งพญาครุฑเต็มแรงแต่หาอาจทำอันตรายแก่พญาครุฑได้ไม่ พญาครุฑจึงกล่าวแก่ท้าวอัมรินทร์ว่า “ นี่แน่ท้าววาสพ จงเร่งสำนึกตัว ท่านเป็นพี่คนโตของข้า ข้าย่อมเคารพนับถือเป็นเชษฐภราดาอยู่แล้ว มิหนำซ้ำท่านยังเป็นราชาแห่งทวยเทพอีกเล่า ข้าก็ให้เกียรติแก่ท่านเป็นทวีคูณ มิได้ดูถูกดูหมิ่นเลย ครั้งนี้ท่านติดตามมาต่อสู้กับข้า แม้ข้าจะทำร้ายท่าน ท่านก็จะเสียเกียรติยศถูกเทพและอสูรติฉินชั่วฟ้าดิน จะเอาหน้าไปไว้ไหน แต่เอาเถอะ ข้าจะยอมลดเกียรติตัวเองสักครั้งหนึ่ง จะยอมให้ขนของข้าหลุดร่วงไปสักหนึ่งเส้น เพื่อแสดงว่าอาวุธของท่านได้ผล สามารถทำร้ายข้าได้ แต่ต่อไปภายหน้า ข้าจะไม่ให้โอกาสเช่นนี้แก่ท่านแล้ว จงสำนึกถึงคำของข้าไว้” กล่าวแล้วพญาครุฑผู้ทรงศักดิ์ก็สลัดขนร่วงลงเส้นหนึ่ง ขนสีทองสว่างรุ่งโรจน์เส้นนั้นก็ลอยคว้างอยู่กลางหาว เปล่งประกายเจิดฟ้าราวกับพระอาทิตย์ดวงใหม่ปรากฎในสวรรค์ ทวยเทพเห็นดังนั้นก็เปล่งวาจาสาธุการสรรเสริญเดชแห่งพญาครุฑโดยทั่วกัน พระอินทร์สิ้นทิฐิมานะ เสด็จเข้าไปใกล้ กระพุ่มมือคารวะขอโทษต่อพญาเวนไตย และกล่าวว่า “แน่ะท่านผู้ทรงพลังมหาศาล จงยกโทษให้แก่เราเถิด ขอเราจงเป็นไมตรีต่อกันนับแต่บัดนี้ ท่านจงเห็นแก่เกียรติยศของเรา จงคืนหม้อน้ำทิพย์ให้แก่เราเถิด” พญาครุฑได้ฟังวาจานอบน้อมก็ใจอ่อนยอมตามความประสงค์กล่าวว่า “เอาเถิดท้าววัชรินทร์ ข้าจะคืนหม้อน้ำทิพย์ให้แก่ท่าน แต่ข้ามีสัญญาอยู่กับพวกนาคว่า จะให้น้ำทิพย์แก่มัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของแม่ข้า ฉะนั้นเมื่อข้านำน้ำทิพย์ไปให้พวกมันตามสัญญาแล้ว ก่อนที่มันจะดื่มกิน ท่านจงฉวยหม้อน้ำทิพย์เอากลับไปเถิด” พระอินทร์ตกลง ร่ายมนตร์กำบังตนแฝงกายตามหลังพญาครุฑเข้าไปหาพวกนาค พญาครุฑวางหม้อน้ำทิพย์ลงบนหญ้าคาแล้วกล่าวแก่พวกนาคว่า “นี่คือหม้อน้ำทิพย์ ข้านำมาให้เจ้าตามสัญญาแล้ว จงปล่อยแม่ข้าให้เป็นอิสระในบัดนี้” นาคทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ปล่อยนางวินตาเป็นอิสระทันทีและตรงเข้ามาจะหยิบหม้อน้ำทิพย์ แต่พญาครุฑชิงห้ามเสียก่อน “อย่าเพิ่งพวกเจ้ายังไม่บริสุทธิ์พอที่จะแตะต้องน้ำทิพย์ จงลงไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และสวดมนตร์คายตรีเสียก่อน จึงค่อยขึ้นมากินน้ำทิพย์ที่นี่” พวกนาคหลงเชื่อ ลงไปอาบน้ำในบึงใหญ่เป็นที่สนุกสนาน พระอินทร์ได้โอกาสก็ฉวยหม้อน้ำทิพย์รีบเหาะกลับสู่เทวโลกในทันที นาคเห็นเหตุการณ์ดังนั้นก็มีความตกใจนัก รีบขึ้นมาบนฝั่งแลเห็นหยดน้ำค้างที่เกาะพร่างพรายอยู่บนใบหญ้าคาก็กล่าวว่า “เอาเถอะถึงเราจะโชคร้าย แต่ก็ยังมีน้ำทิพย์หกเรี่ยราดอยู่บนใบหญ้าไม่น้อย พอจะเสียกินได้ นับว่าไม่เสียเที่ยวเสียทีเดียว” ว่าแล้วก็พากันเสียน้ำค้างบนใบหญ้า ใบหญ้าคาที่สากและคมก็บาดลิ้นพวกนาคเป็นสองแฉก ตั้งแต่นั้นมางูทั้งหลายจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกมาจนปัจจุบันนี้ นับแต่นั้นพญาเวนไตยก็สังหารนาคกินวันละตัวเป็นอาหาร เลือดของนาคที่หยดเรี่ยรายบนพื้นดินนั้นก็กลายเป็นมรกตนาคสวาท และน้ำลายปนเลือดที่นาคกระอักออกมาเป็นครั้งสุดท้ายก็กลายเป็นพลอย ครุฑกานต์ เรี่ยรายอยู่บนหาดทรายชายทะเลนั้นแล จากหนังสือ ประภาวดี รวบรวมและเขียนโดย อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๒