02 สิงหาคม 2551

เวนไตย

เวนไตย เวนไตย (เว-นะ-ไต) แปลว่า ลูกของนางวินตา (วิ-นะ-ตา) หมายถึง ครุฑ ซึ่งเป็นมหาวิหค เป็นราชาแห่งนกทั้งปวง และเป็นผู้มีพละกำลังเป็นเลิศเหนือทวยเทพทั้งปวงแม้พระอินทร์ พระฤษีกัศยปเทพบิดร เป็นผู้ที่มีชายามากมายในจำนวนนั้นมีชายาสองคนเป็นพี่น้องกัน พี่สาวชื่อ วินตา และน้องสาวชื่อ กัทรู หรือสุรสา ครั้งหนึ่งนางทั้งสองมีโอกาสได้ปรนนิบัติพระเทพบิดรอย่างใกล้ชิดทำความพอใจแก่พระมหามุนีเป็นอันมาก พระมหามุนีจึงให้พรแก่นางตามแต่จะปรารถนา นางกัทรูกล่าวว่า “ข้าแต่สวามี ข้าพเจ้าขอมีลูกเป็นนาคหนึ่งพันตัว ให้มีฤทธิ์ร้ายแรงและสามารถแปลงกายได้ทุกย่างดังใจนึก” “จงสำเร็จดังวาจาเถิด” พระพรหมฤษีประสาทพร “เจ้าเล่าวินตา เจ้าประสงค์อะไร” “ข้าแต่บดี ข้าพเจ้าขอมีลูกเพียงสองเท่านั้น แต่ขอให้ลูกของข้าพเจ้ามีเดชล้นฟ้าหาผู้เสมอมิได้ จงมีชัยชนะต่อบรรดานาคทั้งหลายทุกเมื่อ” “เจ้าจะได้ดังปรารถนา” พระเทพบิดรกล่าวยิ้มๆ “นี่แน่ะ วินตา ข้าขอเตือนเจ้าไว้อย่างหนึ่ง เจ้าขอพรข้าด้วยจิตริษยาต่อน้องของเจ้า เวรได้เกิดขึ้นแล้ว และผลแห่งเวรนั้นจะทำให้เจ้าต้องประสบความยากลำบากปิ้มว่าเลือดตาจะกระเด็น แต่อย่างไรก็ดี ในที่สุด เจ้าจะพ้นทุกข์เพราะลูของเจ้านั้นแลเป็นลูกกตัญญู” ก่อนจะจากไป พระกัศยปมุนีได้กล่าวแก่นางทั้งสองว่า “ข้าจะต้องลาเจ้าไปก่อน พระอินทร์ลูกของข้ากำลังประสบภัยพิบัติเพราะคำสาปของพระฤษีทุรวาส เทวดาทั้งหลายกำลังล้มตายราวกับใบไม้ร่วงเพราะเหล่าอสูรฮึกเหิมเหลือกำลัง อาศัยอำนาจคำสาปของพระทุรวาสก่อกรรมทำเข็ญแก่ทวยเทพไม่หยุดหย่อน พระวิษณุเป็นเจ้าทรงแนะให้เทวดาช่วยกันกวนน้ำทิพย์ในทะเลน้ำนมเพื่อความมีชีวิตนิรันดร ข้าต้องไปดูและช่วยเหลือลูกๆของข้า คงอีกนานกว่าเราจะได้พบกันอีก” เมื่อพระเทพบิดรจากไปแล้ว นางวินตา และ กัทรู ก็รักษาตนเป็นอันดี กระทำพิธีและสวดมนตร์ถวายพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม มิช้านานก็คลอดบุตรออกมาเป็นไข่ นางกัทรูคลอดบุตรเป็นไข่ ๑๐๐๐ ฟอง ส่วนนางวินตาก็คลอดออกมา ๒ ฟอง นางทั้งสองต่างเก็บไข่ไว้ในหม้อที่อบอุ่น ให้ความร้อนถึง ๕๐๐ ปี ในที่สุดไข่ ๑๐๐๐ ฟองของนางกัทรูก็แตกออกเป็นนาคหรืองูชนิดต่างๆ ๑๐๐๐ ตัว ส่วนไข่ของนางวินตา ยังไม่มีวี่แววว่าจะแตกออกมาเลย นางมีความร้อนใจมาก และเกิดความอิจฉาเมื่อเห็นน้องสาวมีลูกตามใจปรารถนาแล้วหยอกเอินลูกๆด้วยความสุข ความอิจฉาทำให้นางหลงผิดรีบต่อยไข่ฟองแรกออก ปรากฏว่ามีกุมารอยู่ในไข่คนหนึ่งแต่มีร่างหายเพียงครึ่งเดียว พระกุมารนั้นคือ “พระอรุณ” เมื่อพระอรุณเห็นมารดากระทำดังนั้นก็โกรธมาก บริภาษว่า “ดูหรือ แม่ช่างทำแก่ข้าได้ ข้าต้องมีร่างเพียงครึ่งตัวเช่นนี้เพราะความใจร้อนและความขาดสติขาดเหตุผลของแม่แท้ทีเดียว ดีละ แม่จะต้องชดใช้หนี้แห่งการกระทำครั้งนี้ นับแต่นี้ไปแม่จงตกเป็นทาสของกัทรูและพวกนาคทั้งหลาย จะต้องทนทุกขเวทนาช้านานหาความสุขมิได้” พระอรุณแลดูนางวินตาด้วยความแค้น แต่ในที่สุดก็เกิดความสงสารเพราะรำลึกได้ว่าแท้จริงนางวินตาก็คือแม่ของตน จะดีชั่วอย่างไรก็ยังเป็นแม่ จึงลดคำสาปลงว่า “เอาเถิด ถึงแม้จะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงไร แต่อีกไม่นานหลังจาก ๕๐๐ ปีผ่านไปไข่อีกฟองก็จะแตกออก ลูกของแม่ผู้นี้จะช่วยแม่ให้พ้นความทุกข์ในที่สุด ข้าไปละ” กล่าวจบพระอรุณก็ลอยขึ้นสู่อากาศ และขึ้นไปนั่งบนรถทรงของพระอาทิตย์ ทำหน้าที่เป็นสารถี และเนื่องจากพระอรุณมีร่างกายใหญ่โตแม้ร่างเพียงครึ่งเดียวก็สามารถบังแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกปรากฎบนของฟ้าให้อ่อนลงจนแลเห็นเป็นรัศมีสีแดงอ่อนๆไม่แผดจ้าเหมือนเมื่อก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกแสงอาทิตย์เมื่อแรกจับขอบฟ้าว่า แสงอรุณ และในกาลเมื่อพระอรุณขึ้นไปนั่งเป็นสารถีบนรถของพระสูรยาทิตย์นี้เองเป็นเวลาที่ทวยเทพและอสูรกำลังช่วยกันกวนน้ำทิพย์ในเกษียนสาครอย่างขะมักเขม้น หลังจากนั้นอีกไม่นานก็บรรลุผลสำเร็จได้น้ำทิพย์และของวิเศษ ๑๔ อย่างผุดขึ้นมาจากทะเลน้ำนม ในจำนวนของวิเศษ ที่ผุดขึ้นมานั้น มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง พระอินทร์เอาไปเป็นเทพพาหนะ ให้ชื่อว่า ช้างไอราวัณ และมีม้าขาวผ่องตัวหนึ่งผุดขึ้นมา พระสูรยาทิตย์รับเอาไปเป็นม้าเทียบรถทรง ให้ชื่อว่า ม้าอุจไจศรพ (หรือม้าอุจไฉศรพ) จำเนียรกาลต่อมา เมื่อถึงคราวที่นางวินตาจะรับกรรม ปรากฏว่าได้เกิดการพนันขันต่อระหว่างนางกับน้องสาวขึ้น โดยนางกัทรูกล่าวท้านางวินตาให้ทายว่าขนม้าอุจไจศรพสีอะไร ถ้าทายผิดจะต้องตกเป็นทาสของนางกับลูกๆ แต่ถ้าทายถูกนางกัทรูก็จะยอมเป็นทาสเช่นเดียวกัน นางวินตาเคยเห็นม้าอุจไจศรพไกลๆ หลายครั้งก็มั่นใจ จึงทายว่าม้าอุจไจศรพมีขนตามร่างกายสีขาวผุดผ่องทั้งตัว นางกัทรูก็ค้านว่าไม่ถูก ม้าอุจไจศรพมีขนตามร่างกายสีขาวก็จริงแต่มีหางสีดำล้วนต่างหาก เรื่องจึงต้องพิสูจน์กันให้ประจักษ์ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น นางทั้งสองก็เดินทางไปดูม้าของพระอาทิตย์ ปรากฏว่าม้าอุจไจศรพนั้นมีขนขาวผ่องทั้งตัว แต่มีหางสีดำสนิท ทั้งนี้เพราะนางกัทรูแอบใช้ให้บรรดาลูกๆของนางซึ่งเป็นนาคทั้งหลายให้แปลงกายเป็นขนสีดำเข้าไปแซมขนหางม้าพระอาทิตย์จนเต็มไปหมด นางวินตาแพ้พนัน ต้องยอมเป็นทาสของน้องสาวและนาคทั้งหลาย ถูกใช้ให้ทำงานหนักทุกเช้าค่ำลำบากหนักหนาหาความสุขมิได้ นางวินตาทนทุกข์ทรมานเป็นเวลาหลายร้อยปี ในที่สุดเมื่อไข่อีกฟองหนึ่งของนางแตกออก ปรากฏร่างนกยักษ์ก้าวออกมายืนเป็นสง่า พญามหาปักษินผู้มีร่างกายใหญ่มหึมา มีรัศมีสีทองเจิดจ้าเปล่งออกจากกายโดยรอบ สว่างไสวโชติช่วงยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ร้อยเท่า ค่อยโบยบินขึ้นสู่นภากาศ สูงขึ้นไปจนถึงทางโคจรแห่งพระสูรยาทิตย์ รัศมีอันแรงกล้ารุ่งโรจน์นั้นทำให้ทวยเทพตกใจลนลานรีบไปเฝ้าพระอัคนีเทพทูลถามว่าแสงอะไร พระอัคนีจึงอธิบายว่า แสงเรืองโรจน์นั้นเป็นรัศมีของบุตรพระกัศยปเทพบิดร และมีเดชร้อนแรงเสมอด้วยแสงแห่งพระอัคนีเทพเอง เมื่อได้ทราบดังนั้น ทวยเทพก็พากันมาหาพญามหาวิหคและขอร้องให้ลดแสงสว่างลง พญาเวนไตยก็ยอมอ่อนรัศมีตามคำขอด้วยใจอันเมตตา และค่อยร่อนลงจากฟากฟ้าเข้ามาหามารดาของตน พญาเวนไตยได้ทราบว่ามารดาต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนเพราะตกเป็นทาสของนางกัทรูและบรรดานาคทั้งหลายก็มีความเศร้าใจนัก คิดหาโอกาสที่จะช่วยให้เป็นอิสระแต่ยังไม่สบช่องจึงนิ่งอยู่ ต่อมาวันหนึ่งนางกัทรูและลูกๆแจ้งแก่นางวินตาว่า พวกตกจะออกเดินทางไปยังเกาะรามณยกะซึ่งอยู่กลางสะดือทะเล อันเป็นที่อาศัยของพวกนาคทั้งหลาย นางวินตาก็แบกนางกัทรูไว้บนบ่าพาเหาะไป ส่วนเวนไตยแบกนาคทั้งหลายไว้บนหลัง ด้วยความเกลียดชังพวกนาคอย่างลึกซึ้ง พญามหาปักษินก็พาบินขึ้นสู่อากาศสูงลิบจนถึงสูรยมณฑลอันเป็นวงรัศมีรอบรถพระอาทิตย์ในท้องฟ้า พวกนาคทนความร้อนไม่ไหวก็สลบไป นางกัทรูสวดมนตร์วิงวอนให้พระอินทร์ช่วย พระอินทร์จึงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ช่วยนาคให้รอดตายและเดินทางไปถึงเกาะรามณียกะในที่สุด การช่วยเหลือของพระอินทร์ต่อศัตรูครั้งนี้ทำให้พญามหาวิหคแค้นเคืองมา และผูกใจเจ็บตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พญาเวนไตยพยายามหาโอกาสช่วยเหลือแม่อยู่ช้านาน วันหนึ่งสบโอกาสจึงพยายามทำดีต่อพวกนาค และอ้อนวอนขอให้พวกนาคยอมปล่อยแม่ของตนให้เป็นอิสระ พวกนาคตอบว่า “พวกเราเป็นสัตว์ทิพย์ มีอำนาจมากก็จริง แต่ก็หาได้เป็นอมฤตชนเหมือนพระอินทร์ผู้เป็นพี่ของเราไม่ เราต้องการมีชีวิตนิรันดรเหมือนอย่างทวยเทพทั้งหลาย วิธีเดียวที่จะทำให้สำเร็จคือต้องได้ดื่มน้ำทิพย์ที่ได้มาจาการกวนเกษียรสมุทรอย่างที่เทวดาดื่มกัน พระอินทร์เก็บหม้อน้ำทิพย์ไว้ในที่ปลอดภัย ยากที่ใครๆจะเข้าถึง ถ้าเจ้าสามารถไปนำน้ำทิพย์นั้นมาได้ พวกข้าก็จะปล่อยแม่ของเจ้าให้เป็นอิสระ” พญาเวนไตยได้ฟังก็ยอมรับข้อเสนอด้วยใจยินดี รีบมาหามารดาและเล่าให้ฟ้งว่าตนจะเดินทางไปเทวโลกเพื่อแย่งชิงหม้อน้ำทิพย์จากพระอินทร์ แต่การเดินทางไปสู่ภูเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งของสวรรค์นั้นไกลมาจะต้องอาศัยเรี่ยวแรงมหาศาลจึงจะเดินทางไปถึง นางวินตาเสนอความคิดว่าควรจับพวกนิษาท อันเป็นคนป่าเถื่อนมากินเป็นอาหาร หลังจากกราบลามารดา พญาเวนไตยก็ได้จับพวกนิษาทกินแต่ก็ยังไม่หายหิวจึงคิดหาเหยื่อมาเพิ่ม จึงร่อนลงสู่ภูเขาเหมกูฎอันเป็นที่ตั้งอาศรมของพระกัศยปพรหมฤษีผู้เป็นบิดา และวิงวอนขออาหาร พระเทพบิดรจึงกล่าว ว่า “กามจาริน(๑) ลูกรัก ที่ทะเลสาบใหญ่ทางทิศเหนือของภูเขานี้มีพญาเต่าใหญ่ตัวหนึ่งชื่อวิภาวสุ กำลังต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายกับน้องของมันซึ่งเป็นพญาช้างใหญ่มหิมา เดิมมันทั้งคู่เป็นอสูรแต่ต่างฝ่ายต่างสาปกัน เพราะแย่งชิงสมบัติ เจ้าจงไปกินมันเสียแล้วรีบออกดินทางไปเอาน้ำทิพย์เถิดลูก ขอให้เจ้าจงประสบความสำเร็จช่วยแม่ของเจ้าให้เป็นอิสระเถิด” พญาเวนไตยอำลาพระเทพบิดรแล้วบินไปสู่ทะเลสาบ แลเห็นช้างและเต่าใหญ่กำลังต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ ก็ตรงเข้าเอาปากคาบสัตว์ทั้งคู่ไว้แล้วบินร่อน หาที่จะกินเหยื่อก็ยังแลไม่เห็นจึงโผลงจับกิ่งไทรอันยาวถึง ๑๐๐ โยชน์ที่แผ่ออกจากต้นนยโครธใหญ่เพื่อพักชั่วครู่ กิ่งไทรทานความหนักไม่ไหวก็หักสะบั้น พญานกแลไปเห็นกิ่งไทรที่ตัวเกาะอยู่นั้นมีฤษีแคระพวกหนึ่งเรียกว่าพวก พาลขิลยะ อันมีร่างกายเล็กขนาดนิ้วมือ กำลังบำเพ็ญตบะ เอาเท้าเกี่ยวกิ่งไม้ห้อยหัวอยู่ยั้วเยี้ยมีหลายหมื่นตน พญานกก็มีความเมตตาไม่ปล่อยกิ่งไทรให้ตกลงบนดินด้วยเกรงฤษีแคระจะเป็นอันตราย จึงจับกิ่งไทรไว้มั่นและกระพือปีกพยุงตัวเองอยู่ในอากาศหาที่จะวางกิ่งไม้อยู่ เมื่อไม่แลเห็นว่าจะวางที่ใดได้ก้บินกลับมายังภูเขาเหมกูฎแจ้งหตุให้พระกัศยปเทพมุนีทราบ พระเทพบิดรจึงกล่าวขอโทษต่อฤษีแคระทั้งหลาย อธิบายให้ทราบเรื่องโดยตลอด ฤษีแคระเห็นว่าพญานกมีใจเมตตาต่อตนถึงปานนั้นก็พากันสรรเสริญในน้ำใจอันงามของพญานกจึงประสาทพรว่า “มหาปักษิน ท่านนี้มีน้ำใจงามนัก เราซาบซึ้งในน้ำใจของท่านหาที่สุดมิได้ ขอให้พรแก่ท่าน ตั้งแต่บัดนี้ท่านจงมีนามว่า ครุฑ คือผู้รับภาระอันหนักไม่ว่าภาระใดที่ท่านกระทำ จะหนักหนาเพียงไรก็ตาม ท่านจงทำได้สำเร็จลุล่วงทุกครั้ง ท่านจงมีพลังมหาศาลมิรู้วันบกพร่อง จงเป็นผู้สามารถตลอดกาล อันใครอย่าได้ต้านทานต่อสู้ได้เลย” กล่าวจบบรรดาฤษีพาลขิลยะก็ละกิ่งไทรเหาะไปอยู่ป่าหิมพานต์ (ต่อพรุ่งนี้) พญาครุฑได้รับคำแนะนำจากพระกัศยปทพบิดรให้เอากิ่งไทรไปทิ้งทะเลเสีย และ ณ ลานหินกว้างริมมหาสมุทรนั้นเอง พญาครุฑก็กินช้างและเต่าเป็นภักษาหาร เมื่ออิ่มแล้วก็บินไปสู่เทวโลกด้วยความรวดเร็วปานประหนึ่งการหมุนแห่งจักรของพระนารายณ์ ครู่เดียวก็ถึงนครอมราวดีของท้าววัชรินทร์ ก่อนที่พญาครุฑจะเดินทางมาถึงเทวโลกก็มีลางร้ายหลายอย่างปรากฎแก่พระอินทร์ ท้าวเธอจึงถามพระพฤหัสลดีผู้เป็นครูแห่งทวยเทพถึงเหตุต่างๆที่บังเกิดขึ้น พระมหาฤษีพฤหัสบดีจึงทูลว่า บัดนี้ผู้มีอำนาจมหิมาเหนือเทพและมนุษย์อสูรทั้งปวงกำลังเดินทางมาเพื่อจะแย่งชิงน้ำทิพย์ บุคคลผู้นี้เป็นบุตรอันเกิดจากตบะเดชของพระฤษีกัศยปเทพบิดรและได้รับพรจากบรดาฤษีพาลขิลยะซึ่งเคยสาปแช่งพระอินทร์มาแล้วในอดีต ขอให้พระอินทร์ระวังตัวให้ดีเถิด ท้าวมัฆวานเมื่อได้ทราบดังนั้นก็มีความพรั่นใจ เร่งเตรียมการป้องกันน้ำทิพย์อย่างแข็งแรงที่สุด คำสาปของบรรดาฤษีพาลขิยะที่กระทำต่อพระอินทร์ในอดีตกาลก็คือ ครั้งหนึ่งพระกัศยปประชาบดีกระทำมหาพิธีอันยิ่งยวดเพื่อขอบุตรที่เรืองเดชานุภาพ พระอินทร์และฤษีแคระอันมีจำนวนกว่าหกหมื่นตนได้รับบัญชาจากพระกัศยปมุนีให้หาฟืนมาส่งยังโรงพิธี พระอินทร์แลเห็นพวกฤษีพาลขิยะมีร่างเล็กเท่านิ้วก้อยขนฟืนท่อนเท่าไม้จิ้มฟันเดินโซเซเตาะแตะมาสู่โรงพิธีก็หัวเราะด้วยความขบขัน และกล่าวคำเยาะเย้ยต่างๆ ฤษีแคระโกรธแค้นยิ่งนักจึงสาปพระอินทร์ว่า ต่อไปภายหน้าจะต้องพ่ายแพ้แก่ลูกของพระกัศยปเทพบิดร และจะต้องเสื่อเกียรติยศถูกติฉินนินทาด้วยเรื่องร้ายต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อสาปแล้วฤษีแคระทั้งหลายก็จากไป พอดีกับนางวินตามาหาพระกัศยป เมื่อนางขอลูกต่อพระมุนี พระมุนีจึงให้พรแก่นางว่านางจะได้บุตรชายมีเดชานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยผลจากมหายัชญพิธี ที่พระฤษีกระทำในครั้งนี้เมื่อพระพฤหัสลดีมาย้ำเตือนความหลังดังกล่าวจึงทำให้พระอินทร์มีความหวาดเกรงมาก เมื่อพญามหาวิหคบินมาถึง วิมาไวชยันต์ อันเป็นที่ประดิษฐานหม้อน้ำทิพย์ พระวิศวกรรมก็ปราดออกมาขวางหน้า พญาครุฑก็ตบกลิ้งไปด้วยกรงเล็บอันมหิมา แล้วพญาครุฑก็กระพือปีกเป็นมหาพายุพัดปั่นป่วนไปมา ทำให้เกิดความมืดคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทวยเทพที่มีฤทธิ์ทั้งหลายและพระอินทร์เรียงหน้ากันเข้ามาต่อสู้อย่างทรหด แต่ก็ทานเดชพญาครุฑไม่ไหว พากันแตกกระเจิงไปทุกทิศทุกทาง พญาเวนไตยก็เข้าไปสู่มณฑปอันเป็นที่ไว้หม้อน้ำทิพย์ แลเห็นหม้อน้ำทิพย์ตั้งอยู่หลังกงจักรสองอัน หมุนติ้วจนมองเห็นแต่รัศมีเลื่อมพรายระยิบระยับ เบื้องล่างของกงจักรเป็นงูร้ายสองตัวมีนัยน์ตาแดงก่ำราวทับทิม และลุกโชนไม่เคยหลับ ใครก็ตามที่งูร้ายเพ่งจะถึงแก่ความตายทันที พญาครุฑเห็นดังนั้นก็กระพือปีกอย่างแรง บันดาลให้เกิดฝุ่นฟุ้งตลบในบัดดล พัดเข้านัยน์ตางูร้ายจนลืมไม่ขึ้น พอได้ช่องพญาครุฑก็พุ่งเข้าเจาะพังพานของงูด้วยปากอันแหลมคม ทำให้เป็นรูโหว่แล้วแปลงกายให้เล็กเท่าหัวแม่มือเล็ดลอดผ่านเข้าไปจนถึงกงจักร ทำลายกงจักรเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วฉวยหม้อน้ำทิพย์ไว้ด้วยกรงเล็บพาบินออกมาสู่ท้องฟ้า แผ่ปีกบังแสงพระอาทิตย์เป็นสง่าอยู่ในนภากาศ พระวิษณุเป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นภาพอันงามสง่าสุดบรรยายได้เช่นนั้นทรงพอพระทัยยิ่งนัก ตรัสสรรเสริญว่า “พญาเวนไตยเอ๋ย เจ้าช่างงามสง่านัก ในจักรวาลนี้จะหาใครมีเดชานุภาพเสมอเจ้ามิได้แล้ว จงบอกมาเถิดว่าเจ้าปรารถนาอะไร ข้าจะให้แก่เจ้าทุกอย่าง” “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า” พญาครุฑก้มศีรษะลงคารวะอย่างนอบน้อม “ข้าพระบาทขอเป็นเพียงพาหนะของพระองค์ และจะรับใช้แทบเบื้องพระบาทตลอดไปชั่วชีวิตนี้เป็นพรประการแรก พรที่สองก็คือ ขอให้ข้าพระบาทมีชีวิตเป็นอมตะชั่วนิรันดรโดยไม่ต้องดื่มน้ำทิพย์เหมือนทวยเทพทั้งหลาย ขอพรทั้งสองนี้จงประสิทธิ์แก่ข้าพระบาทด้วยเถิด” “เราให้พรแก่เจ้าตามที่ประสงค์” พระเป็นเจ้าตรัส “ยิ่งกว่านี้เราจะให้พรเจ้าอีกสักประการหนึ่ง นับแต่นี้เจ้าจงกินนาคเป็นภักษาหารตลอดไปนาคทั้งหลายจะหนีเจ้าไปทุกทิศทุกทาง แต่แม้กระนั้นก็หารอดพ้นจากอำนาจของเจ้าไม่ เราขอชีวิตพญานาคไว้เพียงสองตนเท่านั้น เพราะเขาเคารพบูชาเรา นั่นคือ พญานาคเศษะ อันเป็นบัลลังค์ของเราในทะเลน้ำนม และพญานาควาสุกิ (วาสุกรี) อันมีที่พำนักในนครโภควดีกลางสะดือทะเลโน้น เจ้าจงไว้ชีวิตนาคทั้งสองนั้นเถิด” กล่าวจบพระวิษณุเป็นเจ้าก็เสด็จกลับสวรรค์ไวกุณฐ์ เมื่อพระเป็นเจ้าจากไปแล้ว พญาครุฑก็นำหม้อน้ำทิพย์มาโดยเร็วเพื่อมอบให้แก่นาคตามสัญญา พระอินทร์มีความเสียดายยิ่งนักรีบติดตามมาแย่งคืนแต่ไม่อาจต้านทานแรงแห่งมหาปักษินได้จึงเหวี่ยง วัชระ อันเป็นเทพอาวุธร้ายอาจไปยังพญาครุฑ เสียงดังสนั่นหวั่นไหวปานสวรรค์จะแตกทำลาย วัชระแล่นมากระทบร่างแห่งพญาครุฑเต็มแรงแต่หาอาจทำอันตรายแก่พญาครุฑได้ไม่ พญาครุฑจึงกล่าวแก่ท้าวอัมรินทร์ว่า “ นี่แน่ท้าววาสพ จงเร่งสำนึกตัว ท่านเป็นพี่คนโตของข้า ข้าย่อมเคารพนับถือเป็นเชษฐภราดาอยู่แล้ว มิหนำซ้ำท่านยังเป็นราชาแห่งทวยเทพอีกเล่า ข้าก็ให้เกียรติแก่ท่านเป็นทวีคูณ มิได้ดูถูกดูหมิ่นเลย ครั้งนี้ท่านติดตามมาต่อสู้กับข้า แม้ข้าจะทำร้ายท่าน ท่านก็จะเสียเกียรติยศถูกเทพและอสูรติฉินชั่วฟ้าดิน จะเอาหน้าไปไว้ไหน แต่เอาเถอะ ข้าจะยอมลดเกียรติตัวเองสักครั้งหนึ่ง จะยอมให้ขนของข้าหลุดร่วงไปสักหนึ่งเส้น เพื่อแสดงว่าอาวุธของท่านได้ผล สามารถทำร้ายข้าได้ แต่ต่อไปภายหน้า ข้าจะไม่ให้โอกาสเช่นนี้แก่ท่านแล้ว จงสำนึกถึงคำของข้าไว้” กล่าวแล้วพญาครุฑผู้ทรงศักดิ์ก็สลัดขนร่วงลงเส้นหนึ่ง ขนสีทองสว่างรุ่งโรจน์เส้นนั้นก็ลอยคว้างอยู่กลางหาว เปล่งประกายเจิดฟ้าราวกับพระอาทิตย์ดวงใหม่ปรากฎในสวรรค์ ทวยเทพเห็นดังนั้นก็เปล่งวาจาสาธุการสรรเสริญเดชแห่งพญาครุฑโดยทั่วกัน พระอินทร์สิ้นทิฐิมานะ เสด็จเข้าไปใกล้ กระพุ่มมือคารวะขอโทษต่อพญาเวนไตย และกล่าวว่า “แน่ะท่านผู้ทรงพลังมหาศาล จงยกโทษให้แก่เราเถิด ขอเราจงเป็นไมตรีต่อกันนับแต่บัดนี้ ท่านจงเห็นแก่เกียรติยศของเรา จงคืนหม้อน้ำทิพย์ให้แก่เราเถิด” พญาครุฑได้ฟังวาจานอบน้อมก็ใจอ่อนยอมตามความประสงค์กล่าวว่า “เอาเถิดท้าววัชรินทร์ ข้าจะคืนหม้อน้ำทิพย์ให้แก่ท่าน แต่ข้ามีสัญญาอยู่กับพวกนาคว่า จะให้น้ำทิพย์แก่มัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของแม่ข้า ฉะนั้นเมื่อข้านำน้ำทิพย์ไปให้พวกมันตามสัญญาแล้ว ก่อนที่มันจะดื่มกิน ท่านจงฉวยหม้อน้ำทิพย์เอากลับไปเถิด” พระอินทร์ตกลง ร่ายมนตร์กำบังตนแฝงกายตามหลังพญาครุฑเข้าไปหาพวกนาค พญาครุฑวางหม้อน้ำทิพย์ลงบนหญ้าคาแล้วกล่าวแก่พวกนาคว่า “นี่คือหม้อน้ำทิพย์ ข้านำมาให้เจ้าตามสัญญาแล้ว จงปล่อยแม่ข้าให้เป็นอิสระในบัดนี้” นาคทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ปล่อยนางวินตาเป็นอิสระทันทีและตรงเข้ามาจะหยิบหม้อน้ำทิพย์ แต่พญาครุฑชิงห้ามเสียก่อน “อย่าเพิ่งพวกเจ้ายังไม่บริสุทธิ์พอที่จะแตะต้องน้ำทิพย์ จงลงไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และสวดมนตร์คายตรีเสียก่อน จึงค่อยขึ้นมากินน้ำทิพย์ที่นี่” พวกนาคหลงเชื่อ ลงไปอาบน้ำในบึงใหญ่เป็นที่สนุกสนาน พระอินทร์ได้โอกาสก็ฉวยหม้อน้ำทิพย์รีบเหาะกลับสู่เทวโลกในทันที นาคเห็นเหตุการณ์ดังนั้นก็มีความตกใจนัก รีบขึ้นมาบนฝั่งแลเห็นหยดน้ำค้างที่เกาะพร่างพรายอยู่บนใบหญ้าคาก็กล่าวว่า “เอาเถอะถึงเราจะโชคร้าย แต่ก็ยังมีน้ำทิพย์หกเรี่ยราดอยู่บนใบหญ้าไม่น้อย พอจะเสียกินได้ นับว่าไม่เสียเที่ยวเสียทีเดียว” ว่าแล้วก็พากันเสียน้ำค้างบนใบหญ้า ใบหญ้าคาที่สากและคมก็บาดลิ้นพวกนาคเป็นสองแฉก ตั้งแต่นั้นมางูทั้งหลายจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกมาจนปัจจุบันนี้ นับแต่นั้นพญาเวนไตยก็สังหารนาคกินวันละตัวเป็นอาหาร เลือดของนาคที่หยดเรี่ยรายบนพื้นดินนั้นก็กลายเป็นมรกตนาคสวาท และน้ำลายปนเลือดที่นาคกระอักออกมาเป็นครั้งสุดท้ายก็กลายเป็นพลอย ครุฑกานต์ เรี่ยรายอยู่บนหาดทรายชายทะเลนั้นแล จากหนังสือ ประภาวดี รวบรวมและเขียนโดย อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๒

ไม่มีความคิดเห็น: