02 สิงหาคม 2551

โลกวิปัตติสูตร

โลกวิปัตติสูตร เล่มที่ ๒๓ [๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับฯ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ... ยศ ... ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความ แปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ ... แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ... ยศ ... ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ ... แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ จบสูตรที่ ๖

ไม่มีความคิดเห็น: