02 สิงหาคม 2551

ภฤคุ

ภฤคุ ภฤคุ เป็นโอรสองค์หนึ่งในจำนวนสิบองค์ที่เกิดจากใจของพระพรหม มีชื่อเรียกว่าพวก มานสบุตร ฤษีมานสบุตรทั้งสิบนี้พระพรหมสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้กำเนิดแก่มนุษยชาติ ทวยเทพ อสูร และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงได้นามอีกอย่างว่า พระประชาบดี แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในเผ่าพันธุ์ หรือผู้เป็นใหญ่ในลูกหลาน ภฤคุก็ได้ทำหน้าที่ของตนมาแล้วอย่างครบถ้วนเพราะได้ให้กำเนิดแก่เหล่าพราหมณ์ ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่สายหนึ่งต่อมา คือ ตระกูลภารควะ หรือ ภารควโคตร มีพระศุกร์เป็นโอรสองค์หัวปี และพระศุกร์ นั้นได้เป็นอาจารย์ใหญ่แห่งบรรดาแทตย์ ทานพ และ อสูรทั้งปวง (พระศุกร์เป็นผู้เดียวที่รู้มนตร์ชุบชีวิต) ภฤคุได้รับการเคารพนับถือจากเทวดาและอสูรโดยทั่วไป ว่าเป็นฤษีผู้ยิ่งใหญ่ มีอำนาจมาก และเฉียบขาด ไม่หวั่นเกรงต่อใครๆแม้จะมีอำนาจราชศักดิ์เพียงใด ด้วยเหตุนี้เมื่อเวลาเกิดปัญหาในหมู่เทวดาหรืออสูร และตกลงกันไม่ได้ ก็มักจะมีผู้นำปัญหาหรือคดีนั้นมาให้ภฤคุวินิจฉัยชี้ขาดอยู่เสมอ และภฤคุก็กระทำไปด้วยความเที่ยงธรรมด้วยเหตุผลและด้วยความฉลาดเฉลียว จนเป็นที่ประจักษ์ในสติปัญญาความสามารถ แต่แม้จะมีสติปัญญาสามารถเพียงไรก็ตาม วันหนึ่งภฤคุก็ถึงคราวอับจน ปัญหาที่ภฤคุตอบไม่ได้และอธิบายไม่ได้ แม้จะครุ่นคิดอย่างหนักจนศีรษะแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆมาร่วมปีก็คือ “ใครเป็นพระเจ้าสูงสุดที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียว” หรือ “ใครคือพระเจ้าแต่ผู้เดียวในสกลจักรวาลนี้” เหตุที่เกิดปัญหานี้ก็เพราะว่าทวยเทพ อสูร และมนุษย์ต่างก็ถือว่าพระผู้เป็นเจ้ามี ๓ องค์ ทั้งสามพระองค์ต่างก็มีฐานะเป็นเทพสูงสุดเสมอกัน คือ พระพรหม เป็นเทพผู้สร้าง พระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นเทพผู้ถนอมโลก และพระศิวะ หรือ อิศวร เป็นเทพผู้ทำลาย ทั้ง ๓ พระองค์รี้ต่างก็มีสาวกผู้นิยมเลื่อมใสแยกกันเป็นองค์ๆ ต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าเทพเจ้าของตนเป็นพระเจ้าสูงสุด ปัญหาโลกแตกนี้ทำให้ภฤคุกลุ้มใจมาก เพราะไม่อาจจะตัดสินได้ว่าเทพผู้เป็นพระเจ้าสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวนั้นคือใคร อย่างไรก็ดี หลังจากที่จนปัญญามาช้านาน ในที่สุกภฤคุก็คิดหาวิธีที่จะตอบปัญหาได้ เป็นวิธีการหาคำตอบที่แสนจะแปลกและพิสดารที่สุดอันไม่เคยมีใครๆคิดและกระทำมาก่อน “เราจะต้องทดลอง การทดลองเป็นวิธีเดียวที่จะหาคำตอบได้ แม้จะพิลึกและบ้าบิ่นที่สุด เราก็ต้องลองดู ไม่ลองดูไฉนจะรู้” ภฤคุพึมพำและกำมือแน่น บังเกิดความหวาดหวั่นขึ้นในดวงจิตแวบหนึ่ง “เอาล่ะ ตายเป็นตาย ให้มันรู้ไป” ท่านมหาฤษีออกเดินทางไปสู่พรหมโลกอันเป็นที่อยู่ขององค์พระธาดาพรหมผู้เป็นบิดาทันที เมื่อเห็นพระปิตามหะประทับนิ่งเป็นสมาธิอยู่บนพระแท่นบัวทอง พระเนตรหลุบลงแทบจะปิด เหมือนกำลังอยู่ในฌานอันลึกซึ้ง ไม่สนพระทัยไยดีต่อทุกสิ่งโดยรอบ แม้ภฤคุจะเข้ามายืนปรากฏอยู่เฉพาะเบื้องหน้า ภฤคุพรหมฤษียืนกอดอกเฉย ไม่หมอบกราบนอบน้อมเหมือนเช่นเคย แสดงกริยา ยะโสโอหังอย่างน่าหมั่นไส้ที่สุด “ ว่ายังไงล่ะ ท่านพ่อ” ภฤคุกล่าวเสียงเยาะๆ “มัวแต่นั่งหลับหูหลับตาอยู่นั่นแหละ รู้หรือเปล่าว่าท่านพ่อให้พรพวกอสูรไม่เลือกหน้า ใครบำเพ็ญตบะหน่อยก็โปรดปราน มันเลยได้ใจกันใหญ่ รู้ไหมเดี๋ยวนี้พวกมันกำเริบเสิบสานถือว่าได้พรพระพรหมแล้วไม่ต้องเกรงกลัวใคร เที่ยวข่มเหงรังแกชาวโลกเดือดร้อนไปทั่ว รู้หรือเปล่าว่าท่านพ่อทำอะไรลงไป ใช้ความคิดไตร่ตรองบ้างเป็นไร” พระธาดาพรหมสะดุ้งเฮือก ออกจากฌานทันที พระเนตรทั้งแปดเบิกโพลง พระขนงขมวดเข้าหากัน เปล่งพระสุรเสียงดังสนั่นหวั่นไหวเหมือนพิภพจะถล่มทลาย ทรงกระทืบพระบาทด้วยความกริ้วสุดขีด “ภฤคุ อ้ายสารเลว เจ้ากล้าพูดกับข้าอย่างนี้เชียวหรือ เจ้าบังอาจต่อว่าข้าในสิ่งที่ข้ากระทำไปอย่างยุติธรรมที่สุดแล้ว เจ้าพูดได้อย่างไรว่าข้าทำให้โลกเดือดร้อนเพราะความโง่ของข้า ข้าเป็นผู้ยุติธรรมที่สุด ความผิดความบาปของข้าไม่มีเท่ายองใย เจ้ากล่าวหาข้าได้อย่างไร” ทรงนิ่งอั้นไปด้วยความแค้นแน่นอุระ พระพักตร์บึ้งถมึงทึง แววแห่งความเมตตากรุณาอันเคยฉายให้เห็นตามปรกติก็พลันหายไป “ดีล่ะ ภฤคุ เจ้ากำเริบนัก บังอาจมาติเตียนข้าด้วยถ้อยคำสามหาว ไร้คารวะ ถึงเจ้าจะเป็นลูก ข้าก็จะไม่มีวันยกโทษให้ ข้าจะสาปเจ้าให้สาสมแก่ความทะลึ่งของเจ้า ณ บัดนี้ เจ้าจง……..” ยังมิทันที่จะเอ่ยคำสาปอันสยดสยอง พลันพระภฤคุประชาบดี ก็หายวับอันตรธานไปจากที่นั้น (ต่อวันไหนยังไม่รู้)
“เกือบแล้วเรา” ภฤคุรำพึงแก่ตัวเองหลังจากที่หลบหนีจากพรหมโลกมาได้อย่างหวุดหวิด “เกือบเอาตัวไม่รอดแล้วสิ แต่อย่างไรก็ตาม ผลมันแจ่มชัดเหลือเกิน พระพรหมไม่ใช่พระเจ้าผู้สูงสุดแต่พระองค์เดียวแน่นอน พระเจ้าที่แท้จริงย่อมไม่โมโหง่าย ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง และไม่ด่วนลงโทษใครง่ายๆอย่างนี้ นี่แสดงความไม่อดกลั้นอารมณ์แท้ทีเดียว ขนาดขันติธรรมง่ายๆแค่นี้ยังรักษาไว้ไม่ได้ จะเป็นพระเจ้าที่แท้จริงได้อย่างไร” ภฤคุ มุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังภูเขาไกรลาส อันมีสวรรค์ของพระศิวะตั้งอยู่บนยอด เมื่อมาถึงภูเขาไกรลาสอันเผือกผ่อง แลขึ้นไปบนยอดเห็นพิมานมาศขององค์พระศุลีอร่ามเรืองรองเพริศพรายด้วยรังสีแห่งแก้วมณีนานาพรรณเป็นที่หมาย พรมหาฤษีก็ไต่เต้าขึ้นไปสู่ที่นั้น เมื่อขึ้นไปถึงลานกว้างหน้าประตูพระวิมาน ก็พบนนทีศวร ขุนวังผู้ดูแลเทวสำนักนั่งเป็นสง่าอยู่บนแท่น แวดล้อมไปด้วยเทพบริพาร นนทีผู้มีอัธยาศัยรีบลุกขี้นทำความเคารพภฤคุและถามว่า “พระมหามุนีเจ้ามีความประสวค์อันใดจึงขึ้นมาถึงพระวิมานนี้” “เรามาขอเฝ้าองค์พระมหาเทพ” “ข้าพเจ้าเสียใจด้วยที่พระคุณเจ้ามาไม่ถูกโอกาส” นนทีกล่าว “บังเอิญตอนนี้พระศิวะเป็นเจ้ากำลังทรงสำราญอยู่ด้วยพระแม่เจ้าปารวตีในห้องรโหฐาน มีเทวบัญชาห้ามเด็ดขาดมิให้ใครรบกวน ข้าพเจ้าเห็นว่าพระคุณเจ้าควรจะมาโอกาสหน้าจะเหมาะกว่า” “เราจะคอยจนกว่าจะเสด็จออก” ภฤคุดื้อดึง “อย่าเลยพระคุณเจ้า เสียเวลาเปล่า ไม่มีใครบอกได้หรอกว่าเมื่อไร พระศิวะเจ้าจะทรงมีเวลาว่างให้เข้าเฝ้า อาจจะเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ….” “ชะชะ นนที เจ้าพูดราวกับว่าเราเป็นคนหาความสำคัญมิได้” ภฤคุตวาด ความโกรธเริ่มกรุ่นๆในอารมณ์ “ไปกราบทูลพระมหาเทพเถิดว่า เรา ภฤคุประชาบดี มีธุระจะขอเฝ้า” นนทีเห็นพระมหาฤษีเริ่มฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดก็หวาดกลัว รีบลนลานกลับเข้าไปในพระวิมาน ครู่หนึ่งก็ตะลีตะลานออกมา กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าไปกราบทูลอยู่ภายนอกพระทวารห้องบรรทมให้ทรงทราบแล้ว ว่าพระคุณเจ้ามีธุระขอเข้าเฝ้า แต่พระองค์ไม่โปรด ตรัสไล่ให้ข้าพเจ้ากลับมาแจ้งแก่พระคุณเจ้าว่าให้มาวันหลัง” “อนิจจา นี่หรือพระผู้เป็นเจ้า” ภฤคุรำพึงในใจ “ช่างต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างไร้น้ำใจนี่กระไร” ภฤคุนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วกล่าวถามนนทีว่า “นี่แน่ะ นนที เราอยากรู้ว่าพระอิศวรเป็นเจ้าทรงประพฤติอย่างนี้เป็นนิจศีลหรือ” “ก็เป็นเช่นนี้บ่อยๆ สุดแต่พระองค์จะทรงสำราญเวลาใด บางทีเสด็จลงไปประทับที่สวนศักดิ์สิทธิ์เชิงเขาหิมาลัยพร้อมด้วยพระภควดี ทรงสำราญ ณ ที่นั้นเป็นเดือนๆ ปีๆ ถ้าลงไปประทับที่นั่นละก้อ พระเทวีจะพอพระทัยที่สุด เพราะเป็นถิ่นกำเนิดของพระองค์ ด้วยพระองค์เป็นธิดาแห่งท้าวหิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย และพระนางเมนา สวนศักดิ์สิทธิ์เชิงเขาหิมาลัยนั้น เป็นที่ที่พระเทวีโปรดปรานและทรงหวงแหนที่สุด มิให้ผู้ใดกล้ำกรายเข้าไป ชายใดหลงเข้าไปสู่สวนนั้น จะถูกคำสาปทำให้ต้องกลายร่างเป็นหญิงไปทันที ท้าวอิลราช เคยโดยมาแล้ว เข็ดหลาบไปจนตายทีเดียว ที่สวนนั้นพระศิวะเจ้าจะแปลงองค์เป็นชาวเขาเรียกว่า กิราต เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของพระบรรพตีเทวีผู้เป็นชาวเขาอันแท้จริง ถ้าพระคุณเจ้ามาเฝ้าในโอกาสที่พระเป็นเจ้าเสด็จลงสู่สวนศักดิ์สิทธิ์ละก้อ จะต้องคอยนานนักหนาทีเดียว” “ขอบใจนนทีที่ให้ความกระจ่างแก่เรา” ภฤคุกล่าวห้วนๆ ความรู้สึกเริ่มโกรธปุดๆ “ เราไปละ ขืนรอก็ป่วยการ” ภฤคุเดินออกจากเขตเขาไกรลาสด้วยความขุ่นใจ โดยไม่คิดจะเหลียวหลังกลับไปดูอีก เดินพลางบ่นพลางด้วยความแค้นว่า “นี่หรือพระเป็นเจ้าสูงสุด เป็นได้อย่างไร มารยาทและความมีน้ำใจสักนิดหนึ่งก็ไม่มี ดีแต่หมกมุ่นอยู่กับกามคุณ” จากภูเขาไกรลาส พระภฤคุพรหมฤษีก็เร่งรีบเหาะไปในอากาศมุ่งหน้าไปยังไวกุณฐสถานอันเป็นสวรรค์สีทองที่ประทับแห่งองค์พระนารายณ์เป็นเจ้า พักหนึ่งก็มาถึง ณ ที่นั้น องค์พระวิษณุประทับไสยาศน์ บนอาสนะบัวบาน ภายในอ้อมขนดแห่งพญานาคเศษะอันเผือกผ่องมีศีรษะนับพันแผ่พังพานโดยรอบ ดวงตาสองพันดวงดุจแก้วทับทิมสีแดงฉาน ส่องประกายแพรวพรายเหมือนคบไฟระยิบระยับ ดูมโหฬารพันลึกยิ่งนัก เลื้องปลายพระบาทแห่งพระเป็นเจ้าเป็นที่ประทับของพระลักษมีผู้เป็นพระชายาซึ่งถือพระวาลชิชนีคอยพัดวีอยู่ บรรยากาศโดยรอบสงบเงียบ นอกจากนานๆครั้งจะมีเสียงสาดซ่าจากลูกคลื่นในทะเลน้ำนม พระภฤคุฤษีเหาะลงสู่พระปัทมบรรยงก์ในทันที แลเห็นองค์พระวิษณุบรรทมนิ่ง พระเนตรปิดสนิท ไม่แสดงอาการรับรู้ในเรื่องใดๆก็ปราดเข้าไปใกล้ พอได้ระยะก็ยกเท้าขึ้นเตะที่พระทรวงของพระเป็นเจ้าอย่างแรงเสียงดังสนั่น พลันก็รู้สึกเจ็บแปลบขึ้นทันทีเพราะเท้าซ้น กระดูกเกือบหัก ต้องทรุดตัวลงนั่ง กุมเท้าบิดไปมาด้วยความเจ็บปวดถึงขนาด เสียงร้องครวญครางของภฤคุ ปลุกให้พระนารายณ์เป็นเจ้าตื่นขึ้นทรงลีมพระเนตรเห็นพระมหาฤษีนั่งกุมเท้าแสดงความเจ็บปวดอยู่ ก็รีบลุกขึ้นประทับนั่งทรงเอื้อมพระหัตถ์อันอ่อนละมุนมาจับที่เท้าของภฤคุ ทรงบีบนวดไปมาอย่างเบาๆและทะนุถนอม ทันทีที่ได้รับพิทยสัมผัส ความเจ็บปวดรวดร้าวก็มลายหายไปสิ้น พระวิษณุทอดพระเนตรดูภฤคุด้วยความกรุณาสงสาร มีเทวดำรัสว่า “ดูก่อนพระมหามุนี เรานี้บกพร่องนัก มิได้ทำหน้าที่ต้อนรับท่านให้สมควร มิหนำซ้ำยังทำให้ท่านต้องเจ็บปวดอีก เราขอให้ท่านยกดทษให้แก่เราเถิด เหตุทั้งนี้มิควรเป็น เราผิดเอง” ภฤคุได้ฟังก็ชุ่มชื่นใจยิ่งนัก ตื้นตันด้วยพระเมตตาเป็นล้นพ้น รับก้มลงกราบแทบพระบาท ลำล่ำละลักว่า “ข้าแต่พระวิษณุเจ้า น้ำพระทัยของระองค์ประเสริฐยิ่งนัก หาผู้ใดทั้งไตรโลกเสมอเหมือนมิได้ โปรดทรงทราบและอภัยโทษแก่ข้าพระบาทผู้โง่เขลาเบาปัญญาและหยาบช้าด้วยเถิด ข้าพระบาทมิได้มีเจตนาที่จะดุหมิ่นหรือคิดร้ายต่อพระองค์เลย เป็นความสัตย์ ข้าพระบาทเพียงแต่ต้องการพิสูจน์ความจริงว่าใครคือพระเจ้าที่แท้จริงระหว่างพระผู้เป็นเทพสูงสุดทั้งสามพระองค์ การทดลองของข้าพระบาทอาจจะดูหยาบคายร้ายกาจอยู่บ้างแต่ข้าพระบาทไร้เจตนาจะดูหมิ่นหรือคิดร้าย ข้าพระบาทยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องเท่านั้นพระเจ้าข้า” “แล้วท่านได้คำตอบหรือยัง” “ได้แล้วพระเจ้าข้า ข้าพระบาทไม่ลังเลใจสักนิดที่จะกล่าวยืนยันแก่ทุกๆคนว่าพระเจ้าที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียงก็คือพระองค์นี่แบ พระวิษณุเป็นเจ้าของข้าพระบาท พระผู้จะสถิตในดวงใจของข้าพระบาทไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่” “ดูก่อนท่านพรหมรรษี ท่านเห็นคุณธรรมอันใดในตัวเรา จึงคิดว่าเราคือพระเจ้า” “พระเจ้าข้า คุณธรรมของพระองค์อันไม่มีในเทพอื่นๆก็คือ ความอดกลั้นอย่างสูงสุด การรู้จักให้อภัยต่อทุกๆสิ่งและความเอื้ออาทรจากหัวใจอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ข้าพระบาทกระทำหยาบช้าต่อพระองค์ แม้มิใช่เจตนา แต่พระองค์ก็ไม่ทรงถือโทษ ข้าพระบาทเป็นผู้ทำร้ายพระองค์ แต่ผู้ที่บาดเจ็บหาใช่พระองค์ไม่ กลับเป็นข้าพระบาทเอง ก็นับว่าสมน้ำหน้าข้าพระบาทแล้ว แต่พระองค์กลับทรงเดือดร้อนพระทัยในความเจ็บปวดของข้าพระบาท ทรงบีบนวดให้ข้าพระบาทคลายความเจ็บปวด ทั้งๆที่สิ่งที่พระองค์ทรงจับต้องนั้นเป็นอวัยวะที่ต่ำเหลือเกิน พระองค์ทรงจับเท้าอันเปื้อนธุลีของข้าพระบาทอย่างไม่รังเกียจแม้แต่น้อย เทพองค์ใดเล่าในสกลจักรวาลจะทำได้เช่นนี้.” ภฤคุกราบทูลด้วยใบหน้าที่นองน้ำตา พระหริได้ทรงฟังก็แย้มพระสรวล ยกพระหัตถ์ขงาขึ้นระดับพระอุระเป็นเชิงห้าม (ต่อเมื่อไหร่ไม่รู้)
อย่าพูดอย่างนั้นซิ ท่านมหาพราหมณ์ อย่ากังวลใจไปเลย ถ้าท่านวิตกว่าการกระทำของท่านนั้นเป็นความผิด ความผิดบาปนั้นเราก็ยกเสียแล้วเหมือนไม่เคยมี ไม่เคยเกิดขึ้นเลย อย่างไรก็ดี เรายังยกย่องท่านอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านช่างเป็นคนกล้าหาญชาญชัยเสียเหลือเกินในประวัติแห่งมนุษยชาติ แม้ในอดีตอันล้ำลึกตราบเท่าถึงกาลบัดนี้และจะสืบต่อไปในอนาคตกาล จะมีใครกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อทดลองพระผู้เป็นเจ้าเหมือนอย่างที่ท่านกล้ากระทำนี้ก็หาไม่ การกระทำขอท่านจะว่าดีหรือจะว่าชั่วก็สุดแต่ใครๆจะพึงคิด เป็นอัตโนมัติ ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเรื่องที่ท่านกระทำนี้จะจารึกอยู่ในความทรงจำของคนทั้งหลายชั่วนิรันดร แต่…….” “อะไรพระเจ้าข้า” “จะอะไรเสียอีก ก็จนบัดนี้ท่านก็ยังไม่รู้จักพระเจ้าที่แท้จริงเลย” “ข้าพระบาทรู้แล้วพระเจ้าข้า พระองค์นั่นแลคือพระเจ้า” “หามิได้ ท่านไม่รู้หรอก” พระวิษณุตรัสยิ้มๆ “ท่านคิดว่าเราคือพระเจ้าแท้จริงเพราะท่านซาบซึ้งในจริยาวัตรของเรา ท่านผิดหวังมาจากพระพรหม และพระอิศวรเป็นเจ้าทั้งสองพระองค์เพราะบังเอิญจริยาวัตรของทั้งสองพระองค์นั้นไม่สบอารมณ์ต่างหาก จริงหรือไม่” เมื่อเห็นภฤคุนิ่งอึ้ง พระไวกุณฐนาถ ก็ตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภฤคุ ท่านจงทราบ มนุษย์และทวยเทพทั้งหลายเข้าใจเองเองเผินๆว่าพระเป็นเจ้านั้นมีสามองค์ คือพระพรหม พระศิวะ และเรา แท้ที่จริงพระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว แต่ทรงปรากฏพระองค์ในสามลักษณะคือ ปรากฏพระองคืในลักษณะของพระพรหม เพื่อทำหน้าที่เป็นพระผู้สร้าง ปรากฏพระองค์ในลักษณะพระศิวะ เพื่อทำหน้าที่ผู้ทำลายและปรากฏพระองคืในลักษณะพระวิษณุคือตัวเราเพื่อทำหน้าที่พระผู้ถนอมโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าองค์เดียวที่ปรากฏในลักษณะทั้งสามนี้จึงเรียกว่า ตรีมูรติ ดูก่อนมหาฤษี ท่านไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ ท่านกลับมาคิดว่าในเทพสูงสุดทั้งสามองค์นี้ คงจะมีองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพระเจ้าแท้จริง ส่วนอีกสององค์ไม่ใช่ เหมือนกับคนเลือกซื้อสินค้าอันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เลือกแล้วเลือกอีกเพื่อหาของแท้ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าของแท้และของเทียมต่างกันอย่างไร หรือรู้ว่าเป็นของแท้ แต่ก็พยายามเฟ้นหาของที่แท้ยิ่งกว่าขึ้นไปอีก” ทรงหยุดไปครู่หนึ่งจึงตรัสต่อย่างช้าๆ จงพระทัยจะให้ภฤคุคิดทุกถ้อยคำ “นี่แน่ภฤคุ พระพรหมก็ทำหน้าที่ของพระองค์ พระศิวะก็ทำหน้าที่ของพระศิวะ เราก็ทำหน้าที่ของเรา ภาวะของเราทั้งสามนี้เป็นที่รู้ที่ประจักษ์แก่ตาโลก แต่ภาวะของพระเจ้าผู้สูงสุดนั้นจะมีใครแลเห็นเล่าก็ได้แต่เดากันไปต่างๆ คาดคะเนไปต่างๆ นึกเอา คิดเอาว่าคงจะเป็นอย่างโน้น คงจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็ขนานนามพระเจ้าโดยเรียกชื่อไปต่างๆนานา เช่นเรียกว่า พรหมัน บ้าง ก็นามนั้นสำคัญไฉน ท่านรู้จักนาม หมายความว่าท่านรู้จักตัวตนที่แท้จริงหรือ ดูก่อนภฤคุ คนที่พูดถึงพระเจ้าก็ล้วนแต่สำคัญผิด คนที่คิดถึงพระเจ้าก็ล้วนแต่สำคัญผิด ทั้งนี้เพราะเรื่องของพระเจ้าถือว่าเป็น อจินไตย คือไม่ควรคิด” “ถ้ากระนั้นเราจะทราบภาวะของพระเจ้าได้อย่างไร พระองค์กำลังทำให้ข้าพระบาทสิ้นหวัง” ภฤคุกล่าวอย่างเสียใจ “ดูก่อนพรหมบุตร ท่านอย่าเพิ่งท้อใจ เราเพียงแต่เตือนสติท่านให้เข้าใจอะไรอย่างคนมีเหตุผลเท่านั้น เรามิได้ตัดรอนความหวังของท่านแม้แต่น้อย จงเข้าใจให้ถ่องแท้เถิดว่า ภาวะของพระเจ้าเป็นสิ่งที่เหนือถ้อยคำใดๆจะพรรณนาให้เข้าใจได้ ภาวะของพระเจ้านั้นเหนือเหตุผลใดๆ จะพึงประเมินได้ ภาวะของพระเป็นเจ้านั้นอยู่เหนือความคิดใดๆจะแล่นไปถึง หรือจะพึงคาดคะเนได้ คนเราจะเข้าถึงพระเจ้าได้มิใช่ด้วยความนึกคิด มิใช่ด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยกระทำยัชญพิธีอย่างเดียว และมิใช่ด้วยวิทยา คือความรู้พิเศษอย่างเดียว แต่ย่อมเข้าถึงได้ด้วยดวงจิตบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อดวงจิตบริสุทธิ์เต็มที่ไร้ธุลีมลทินแม้เท่ายองใย ดวงจิตนั้นแลจักได้สัมผัสกับภาวะของพระผู้เป็นเจ้า ภฤคุ ท่านพึงรู้เถิดว่า พระเจ้านั้นจะเข้าถึงหรือสัมผัสได้ก็เพียงดวงจิตบริสุทธิ์เต็มที่เท่านั้นเอง เมื่อดวงจิตสัมผัสพระเจ้า เข้าถึงพระเจ้า ปัญหาทั้งมวลก็เป็นอันตกไป หมดความสงสัยอีกต่อไปว่าพระเจ้าคืออะไร หรือภาวะแห่งพระเจ้าเป็นฉันใด” “ดูก่อนพระประชาบดี ดวงจิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนถูกปกคลุม ถูกหุ้มห่อด้วยมายา คือความเข้าใจผิด หลงผิด ทำให้ต้องก่อกรรม ทำบาป ทำชั่ว มิรู้จักหยุดหย่อน มายาคือความหลงผิดนี้เป็นเครื่องหุ้มห่อดวงจิตจนมืดมิด ไม่แลเห็นความจริง ทำให้เวียนว่ายตายเกิดเวียนวนอยู่ในสังสารสาคร ชาติแล้วชาติเล่า เมื่อใดบุคคลทำความเพียรโดยภักติมารค คือตั้งความภักดีต่อพระเจ้าอย่างแท้จริง มีศรัทธาอันไม่คลอนแคลน เขาย่อมขัดเกลามายาให้หลุดไปจากใจได้แน่นอน และจิตเขาจะบริสุทธิ์ขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น จนถึงขั้น วิมุกติ คือความหลุดพ้น นั่นคือเข้าถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วเขาก็จะไม่พูดอีกต่อไปว่าพระเจ้าคืออะไร เขาจะไม่คิดอีกต่อไปว่าพระเจ้าคืออะไรเพราะเขารู้แล้ว เมื่อรู้แล้วปากก็จะปิดสนิทเงียบ หมดเรื่องที่จะต้องพูด หมดเรื่องที่จะคิด ภฤคุเอ๋ย จำไว้เถิด ว่าผู้ที่รู้ย่อมไม่พูด ผู้ที่พูดย่อมไม่รู้” “ถ้ากระนั้น พระองค์เจ้าข้า พระองค์ต้องการจะแนะข้าพระบาทว่าแท้จริงพระเจ้าทรงสถิตอยู่ในใจของเรานี่เอง เพียงแต่เราแลไม่เห็นพระองค์เพราะใจของเราสกปรกแปดเปื้อนด้วยมายาอันหนาแน่นเท่านั้นใช่หรือไม่พระเจ้าข้า ใช่หรือไม่” พระวิษณุทรงแย้มพระสรวล ทอดพระเนตรดูภฤคุด้วยความเมตตา ตรัสอย่าแผ่วเบาเหมือนจะทรงกระซิบให้เป็นที่ประจักษ์เพียงสองต่อสองว่า “ก็แค่นี้เอง จงทำความเพียรเถิด ภฤคุ เมื่อจิตบริสุทธิ์ ก็แค่นี้เอง… ก็แค่นี้เอง” ตรัสจบพระผู้ถนอมโลกก็เอนพระองค์ลงบรรทมด้วยพระอิริยาบถแช่มช้า อันเป็นสัญญาณว่าจะเข้าสู่มหานิทราอันยาวนานอีกครั้งหนึ่งและจะผ่านกาลเวลาไปอีกช้านานหลายหมื่นปี จนกว่าจะมีเภทภัยร้ายแรงมาแผ้วพานโลกอีกครั้งหนึ่งจึงจะตื่นจากนิทราเพื่อทรงปราบศัตรูโลกให้สิ้นไป ภฤคุพรหมฤษีผู้มีใจอันสว่างไสวโชติช่วงด้วยความหวังอันเกิดจากวาทะของพระเป็นเจ้าก็ถดถอยไปก้าวหนึ่ง ก้มกายลงกราบแทบพระบาทแล้วคลานออกมา วาระนั้น พระเนตรอันเรียวงามดังกลีบนีโลตบล ของพระวิษณุก็ค่อยหรี่ลงทีละน้อยจนปิดสนิทในที่สุด เมื่อพระเป็นเจ้าเข้าสู่ภาวะนารายณ์บรรทมสินธุ์อีกครั้งหนึ่ง” จากหนังสือ หริศจันทร์ รวบรวมและเขียนโดย อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๓

ไม่มีความคิดเห็น: