02 สิงหาคม 2551

ศิวเศขร

ศิวเศขร-อีกด้านของดวงจันทร์ ของดวงจันทร์

ศิวเศขร พระจันทร์เป็นเทพรูปงาม โอรสของพระอัตริเทพฤษีกับ นางอนสูยา โดยเหตุที่จัทรเทพมีหน้าที่ซึ่งพระธาดาพรหมเป็นเจ้ากำหนดไว้ให้โคจรรอบเขาพระสุเมรุหลักโลกในเวลากลางคืน พระนิศากร (๑) จึงได้ผ่านหมู่ดาวฤกษ์ทั้งยี่สิบเจ็ดดวงอันเป็นธิดาของพระทักษะพรหมฤษีประชาบดีเป็นประจำทุกๆคืน นางดาราทั้งยี่สิบเจ็ดนางต่างก็หลงใหลในความงามของจันทรเทวบุตรอย่างยิ่ง พยายามทอดไมตรีด้วยประการต่างๆจนเกิดความสัมพันธ์ฉันเสน่หาด้วยเทพรูปงาม ความทราบถึงพระทักษะประชาบดีแลเห็นว่าควรจะจัดการเรื่องนี้ด้วยความยุติธรรม จึงเรียกพระจันทร์มาไต่ถามและเมื่อเห็นว่าพระจันทร์กับนางดาราทั้งหลายมีความรักต่อกันจริง พระพรหมฤษีก็ยกธิดาทั้งยี่สิบเจ็ดนางให้เป็นชายา พระนิศากรเทพบุตรได้นางสมความปรารถนาแล้วมิได้ให้ความเป็นธรรมแก่นางทั้งหลาย ไปลุ่มหลงแต่นางดาวโรหิณีผู้เดียว นางดาราทั้งยี่สิบหกจึงไปฟ้องบิดา พระพรหมบุตรมีความสงสารนางก็เรียกพระจันทร์มาตักเตือน แต่พระนักษัตรราชา (๒) ก็หาเอาใจใส่ไม่ นางดาราทั้งหลายก็ไปฟ้องพระทักษะอีก พระทักษะรำคาญใจต่อความประพฤติของลูกเขยเต็มที ก็เรียกตัวมาด่าว่าต่างๆและกำชับให้พระจันทร์ประพฤติตนเสียใหม่ เทพรูปงามก็มิได้แยแส เมื่อถูกฟ้องเป็นครั้งที่สาม พระทักษะบังเกิดความโกรธเหลือที่จะระงับจึงสาปสรรบุตรเขยของตนว่า “นี่แน่ะ เจ้าชายเสเพลไม่มีสัตย์ หาความยุติธรรมมิได้ เจ้าทำให้ลุกสาวของข้าต้องชอกช้ำใจ เจ้าจะต้องชดใช้กรรมของเจ้าอย่างสาสม นับแต่บัดนี้ไป เจ้าจงเป็นโรคร้ายอันมีนามว่ากษัยโรค (วัณโรค) ซึ่งจะบั่นทอนชีวิตของเจ้าให้สิ้นลงในไม่ช้า” นางดาราทั้งหลายเห็นบิดาลงโทษสวามีของตนรุนแรงเช่นนั้นก็ตกใจรีบเข้าไปขอโทษแทนพระจัทรเทพและสะอึกสะอื้นคร่ำครวญด้วยความสงสาร พระทักษะใจอ่อนจึงผ่อนผันให้คำสาปนั้นลดความรุนแรงลง “เอาเถอะ อย่าร้องให้ไปเลยลูกเอ๋ย พ่อจะแก้ไขให้” พระพรหมบุตรปลอบโยนเหล่าธิดาพลางมองดูลูกเขยตัวดีด้วยความหมั่นไส้ “เอาอย่างนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้ผัวเลวๆของเจ้าประสบโรคร้ายทุกๆสองปักษ์คือ มันจะต้องซูบผอมลงๆ จนหมดรูปร่างในสิบห้าวัน แล้วจะค่อยๆฟื้นคืนคงดังเดิมในเวลาอีกสิบห้าวัน จะเป็นดังนี้เรื่อยไปตราบชั่วกัลปาวสาน คำสาปต้องเป็นคำสาป พ่อแก้ไขได้แค่นี้แหละ” นับแต่นั้นพระนักษัตรราชาก็ได้รับเคราะห์กรรมตามคำสาปของผู้เป็นพ่อตาเรื่อยมา มีร่างกายซูบผอมลงทุกวันจนหมดรูปในที่สุด ต่อจากนั้นก็ค่อยฟื้นขึ้นทีละน้อยมีร่างกายบริบูรณ์ดังเก่า ทำให้บังเกิดข้างขึ้นข้างแรมทางจันทรคติตั้งแต่บัดนั้น และในระหว่างข้างแรมที่แสงของพระจันทร์ค่อยหดหายไปทีละน้อยนั้น บรรดาสมุนไพรทั้งหลายบนพื้นพิภพก็จะเหี่ยวเฉาไม่งอกงามเพราะพระจันทร์นั้นเป็นเจ้าแห่งสมุนไพรทั้งปวงและได้นามว่าโอษธิบดี ฉะนั้นจันทรังสีจึงมีอิทธิพลเหนือพืชพรรณทั้งหลายที่ใช้เป็นยา เวลาข้างแรมถือว่าเป็นเวลาที่สมุนไพรอ่อนคุณค่าลงกว่าเดิม หมอยาจึงไม่เก็บสมุนไพรในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี คำสาปของพระทักษะมุนีมิได้ทำให้โสมเทพเข็ดหลาบ เพราะเมื่อพ้นจากความทรมานในช่วงสิบห้าวัน และได้รักษาตัวโดยลงไปดำน้ำที่ท่าศักดิ์สิทธิ์คือ สรัสวตีตีรถะ อันอยู่ริมทะเลตะวันตกแล้ว พละกำลังความแข็งแกร่งก็กลับคืนมาดังเดิม บังเกิดความฮึกเหิมและพระพฤติตนเจ้าชู้ตามแบบเดิมอีก
ครั้งหนึ่งพระโสมเทพแวะไปเยี่ยมเยียนพระพฤหัสบดีเทพฤษีผู้เป็นอาจารย์ของตน บังเอิญเป็นเวลาที่พระพฤหัสบดีกระทำยัชญพิธีอยู่ ไม่อาจจะออกจากพิธีมาต้อนรับได้ นางดาราผู้เป็นชายาของพรคุรุเทพจึงมาต้อนรับแทน นางดารานั้นเป็นสุรกันยาที่มีความงามล้ำเลิศและมีจริตยั่วยวนอย่างยิ่ง พระพรหมประทานนางให้แก่พรพฤหัสบดีและนางเป็นที่รักดังดวงใจของพระเทวปุโรหิตองค์นั้น นางแลเห็นพระจันทร์ที่มีรูปร่างงดงามผึ่งผายสมเป็นยอดบุรุษก็บังเกิดความถึงพอใจ และเกิดความเสน่หาในที่สุด พระจันทร์ก็เช่นเดียวกัน ในวาระแรกที่พบหน้านาง พระองค์ก็บังเกิดความปฎิพัทธ์ในนางอย่างลึกซึ้ง “เธอเป็นใครเราไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย” พระนักษัตรราชาถามด้วยความทึ่ง “เราชื่อดารา” นางตอบเอียงอาย “พระธาดาพรหมทรงยกเราให้เป็นภริยาท่านคุรุเทพ ท่านเล่าคือระจันทรเทพใช่หรือไม่ รูปลักษณ์งามประเสริฐอย่างท่านนี้คงไม่มีใครอื่นอีกแล้ว” “เธอเดาไม่ผิดหรอก เพราะผู้ที่งามเหนือเราก็มีแต่พระอัศวิน เทพฝาแฝดนั้นเท่านั้น” “ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระคุรุเทพหรือ” “ใช่แล้ว” พระโสมเทพกล่าวยิ้มๆ “เรามาเยี่ยมท่านอาจารย์เพราะนานนักหนาแล้วที่มิได้พบอัน แต่ไม่เป็นไรหรอก มิได้พบท่านอาจารย์ได้พบหน้าเธอแทนก็เป็นโชคของเราเหลือหลายแล้ว เราอยากจะอยู่กับเธอนานๆ แต่นี่ไม่ใช่ที่รโหฐานของเรา เราไปที่อื่นไม่ดีกว่าหรือ” โสมเทพพยายามเว้าวอนออดอ้อนนางอยู่ช้านาน ในที่สุดนางก็ใจอ่อนและด้วยจิตที่มีความรักเข้าครองอยู่แล้ว นางก็ลืมความผิดชอบชั่วดี ลืมสามีผู้ชรา ตัดสินใจติดตามพระจันทร์ไป โสมเทพกับดารามีความสุขอยู่ด้วยกันในวิมานแก้วของพระจันทร์เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งพระพฤหัสบดีออกจากโรงพิธี หลังจากทำพลีกรรมเสร็จแล้วมิได้เห็นชายาของตนจึงเที่ยวติดตามและรู้ความจริงในที่สุด มุนีเฒ่าโกรธแค้นแสนสาหัสเรียกทวยเทพทั้งหลายผู้เป็นศิษย์มาประชุมกันและประกาศว่า “จันทรเทพเป็นศิษย์ของเรา แต่บังอาจพาภรรยาของเราหนีไปช่างชั่วชาติอกตัญญูยิ่งนัก พวกเจ้าจงเห็นแก่เกียรติยศของอาจารย์ จงไปเจรจาต่อระจันทร์ขอให้ส่งดาราคืนมาให้แกเราโดยดีเถิด” คณะเทพเดินทางไปเจรจากับพระจันทร์ตามคำสั่ง แต่พระจันทร์ทำเฉยเสีย หมดปัญญาต้องเดินทางกลับมาแจ้งข่าวแก่อาจารย์ “จงกลับไปอีกทีเถอะ” พระพรหมณัสบดีวิงวอน “จงไปเจรจากับดาราโดยตรง บอกว่าเราผู้เป็นสามีมีความคิดถึงนางและยินดีอภัยให้แก่นาง ขอให้นางกลับมาเถิด” แต่เมื่อทวยเทพไปพบนางดารา นางก็ยืนกรานว่าจะอยู่กับพระจันทร์ ไม่ขอกลับไปเห็นหน้าสามีเดิมอีก พระพฤหัสบดีแค้นใจยิ่งนัก ตัดสินใจไปพบนางดาราด้วยตนเอง พยายามอ้อนวอนนางและชี้แจงให้เห็นผิดชอบชั่วดี แต่นางทำเฉยเสีย พระพฤหัสบดีเจรจาไม่สำเร็จมีความโทมนัสและคั่งแค้นสุดขีด กลับมายังอาศรมประชุมเทวดาทั้งปวง มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า และประกาศทำสงครามทันที “ดูก่อนท้าววัชรินทร์ศิษย์รักของข้า” พระคุรุเทพหลาวขอร้อง “เจ้าจงเห็นแก่ข้าผู้เป็นอาจารย์ จงช่วยเหลือข้าในครั้งนี้ด้วยเถิด จันทรเทพลูกศิษย์อกตัญญูกระทำกรรมอันหนักล่วงคุรุกรรมถึงขั้นลักพาภรรยาของผู้เป็นอาจารย์ไปโดยไม่ละอายใจ ไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง มันทำให้อาจารย์ของมันต้องเสื่อมเกียรติยศ เจ้าจงไปบังคับมันให้คืนนางให้แก่ข้าด้วยเถิด” พระอินทร์และเทพเจ้าทั้งหลายมี พระอัคนี พระวายุ พระวรุณ และทวยเทพทั้งปวง ได้เปิดฉากทำสงครามต่อพระจันทร์ ฝ่ายพระจันทร์ ก็ระดมบรรดาอสูรทั้งหลายอันมีฤิทธิ์เข้าสัประยุทธ์ด้วยอย่างดุเดือด มีพระศุกร์เป็นอาจารย์คอยช่วยเหลืออยู่ การสงครามครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งเรียกว่าเทวาสุรสงครามนี้ดำเนินไปหลายปี ต่างฝ่ายต่างไม่พ่ายแพ้แก่กัน ทางฝ่ายอสูรซึ่งเป็นพันธมิตรของพระจันทร์นั้นถึงแม้จะเสียทีถูกเทวดาฆ่าตายลงเป็นอันมาก แต่พระศุกร์เทพฤษีผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ก็ร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี ชุบชีวิตให้กลับคืนมา ทำให้กองทัพอสูรมีกำลังฮึกเหิมไม่กลัวตาย สามารถต่อสู้กับฝ่ายทวยเทพได้โดยไม่ท้อถอย การสงคราวยืดเยื้อไปถึง ๑๐๐ ปีในที่สุด พระพรหมผู้เป็นเจ้าต้องเสด็จมาไกลเกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกัน พระครรไลหงส์ตรัสเรียกคู่สงครามมาเฝ้าและมีพรหมบัญชาว่า “เจ้าทั้งสองทั้งพฤหัสบดี และ โสมเทพ จงฟังข้า การสงครามครั้งนี้มิควรเป็น แต่เจ้าทั้งสองก็ทำให้มีขึ้น เดือดร้อนไปทั้งไตรโลกเหตุเพราะตัณหาบ้าผู้หญิงเพียงคนเดียว ต้องยื้อแย่งกันขายหน้านัก นางดาราตัวดีผัวมีอยู่ทั้งคนยังวิ่งตามชู้ไปไม่รู้จักละอาย ข้ายกเจ้าให้เป็นเมียพฤหัสบดีเจ้าก็ต้องเป็นเมียที่ดีรู้จักรักษาเกียรติของผัว นี่กลับเห็นชู้ดีกว่าผัว ทำตัวน่ารังเกียจนัก พลอยให้ข้าเสียรังวัดไปด้วย ข้างโสมเทเล่า เจ้าก็ทำตัวเหลวใหล เจ้าชู้ไม่เลือกหน้าไม่ว่าลูกเขาเมียใคร มีตัณหาเป็นเจ้าหัวใจเป็นนิจ คำสาปของของทักษะลูกข้าไม่ทำให้เจ้าสำนึกบ้างหรือไร ดีละ ข้าขอให้เรื่องบาดหมางยุติเพียงนี้ โสมเทพจงคืนนางดาราในพฤหัสบดีเสีย และกลับไมอยู่กับเมียของเจ้าทั้ง ๒๗ นางนั่น ขอให้ทั้งสองฝ่าย จงคืนดีกัน ณ บัดนี้” พระจันทร์ได้ยินพรหมบัญชาดังนั้นก็มิอาจขัดได้ จำใจนำนางดารามาคืนให้แก่พระพฤหัสบดี พระคุรุเทพรับนางไว้ด้วยความยินดี กล่าวแก่พระพรหมว่า “ข้าแต่พระปิตามหะ ข้าพระบาทยอมเป็นไมตรีด้วยโสมเทพดังเดิม แต่ข้าพระบาทใคร่ขอร้องพระเป็นเจ้าสักข้อหนึ่ง” “อะไรหรือ” “ คืออย่างนี้พระเจ้าข้า” พระคุรุเทพกราบทูล “ตามพระธรรมสูตรที่กล่าวไว้ มีความตอนหนึ่งว่า ผู้ฆ่าพราหมณ์ก็ดี ขโมยที่ลักทองของผู้อื่นก็ดี คนขี้เมาหยำเปก็ดี คนที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่นก็ดี และคนที่คบค้าสมาคมกับบุคคลดังกล่าวมาแล้วนั้นก็ดี ถือว่าเป็นผู้ที่ทำกรรมอันหนัก แม้บุคคลนั้นจะเป็นเทวดาก็ไม่ถึงให้อยู่ในเทวโลกอีกต่อไป พระจันทร์เป็นคนผิดตามที่รุบุไว้ ฉะนั้นไม่ควรให้พระจันทร์เข้สู่เทวสมาคมอีกต่อไป พระเจ้าข้า” พระพรหมทรงไตร่ตรองครู่หนึ่งจึงตรัสว่า “ข้าเห็นควรตามคำขอของเจ้า ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าห้ามมิให้โสมเทพเข้าสู่เทวสมาคมอีก” พระครรไลหงส์ทรงตัดสินข้อพิพาทเรียบร้อยก็เสด็จกลับคืนพรหมโลก พระพฤหัสบดีนำนางดารากลับคืนอาศรม คงเหลือแต่พระจันทร์นั่งเศร้าสร้อยอยู่แต่ผู้เดียว ขณะนั้น พระศิวะเป็นเจ้าก็ปรากฎพระองค์ขึ้นเฉพาะหน้า ทรงแย้มยิ้มด้วยความเมตตาและตรัสว่า “เป็นอย่างไรเล่า จอมเจ้าชู้ ข้าว่าพระปิตามหะน่ะทรงตัดสินดีแล้วสาสมแก่โทษของเจ้า แต่เรื่องไม่ให้เข้าเทวสมาคมนี่เจ้าจะทำอย่างไร เพราะเจ้ามีหน้าที่ต้องเข้าเทวสภาตามกำหนด จะละเว้นหน้าที่เสียได้ไฉน” “ข้าพระบาทไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ขอพระเมตตาเป็นที่พึ่ง” “ก็เดือนร้อนถึงข้าตามเคยน่ะแหละ” พระมหาเทพทรงพระสรวล และตรัสกระซิบว่า “ข้าจะช่วยเจ้าสักครั้ง พรุ่งนี้จะมีการประชุมเทวสภา เจ้าไปกับข้าก็แล้วกัน” “จะเข้าไปอย่างไรพระเจ้าข้า องค์พระปิตามหะทรงห้ามไว้” โสมเทพฉงน “ก็ทำอย่างนี้ไงล่ะ” พระศิวะเป็นเจ้าตรัส ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหยิบพระจันทร์ขึ้นปักเป็นปิ่นบนพระเมาลี (มวยผม) ทำเป็นอาภรณ์ประดับพระเศียรอันเพริศพรายด้วยรัศมีแจ่มจรัส แสงนั้นจับพระพักตร์พระเป็นเจ้าให้ดูเด่นงดงามอย่างประหลาด พระไตรศุลีทรงพระสรวลกึกก้องด้วยความสบพระทัย พระสุรเสียงก้องกำจายไปทั่วจักรวาล ตรัสว่า “เห็นหรือยังว่าข้าทำอย่างไรกับเจ้า บัดนี้เจ้าก็เป็นปิ่นปักผมของข้าแล้ว เมื่อข้าเหยียบย่างเข้า เทวสภา ใครหน้าไหนจะมาคัดค้านเจ้าได้ เจ้าทำให้ข้าได้นามใหม่ว่า จัทรเศขร คือผู้ทัดจันทร์เป็นผิ่น ส่วนเจ้าก็จะได้นามใหม่ว่า ศิวเศขร คือ ปิ่นของพระศิวะ เหมาะดีแล้วไม่ใช่หรือ” พระทัดจันทร์เสด็จคืนสู่เขาไกรลาส พระจันทร์หลุดพ้นจากพรหมประกาศิต แต่พระพฤหัสบดีมีปัญหาหนักที่ต้องขบคิด เรื่องก็คือนางดาราผู้กลับคืนมาสู่อ้อมอกของพระคุรุเทพนั้นมีครรภ์แก่และในที่สุดก็ให้กำหนิดแก่ทารา เป็นกุมารน้อยรูปงามน่ารักยิ่งนัก พระพฤหัสบดีเชยชมทารกน้อยด้วยความรักจับจิตด้วยเข้าใจว่าเป็นบุตรของตน แต่มิช้าก็เกิดความคลางแคลงใจว่า บางทีกุมารน้อยอาจไม่ใช่ลูกแท้ๆก็ได้ พยายามปลอบโยนนางดารา เวียนถามแล้วถามอีก แต่นางก็ใช้การนิ่งเป็นคำตอบ พระจันทร์ทราบข่าวว่านางมีบุตรชายก็รีบมาหาและถามนางเช่นเดียวกัน นางก็นิ่งอีก ทันใดนั้นกุมารน้อยก็ลุกขึ้น ยกมือขึ้นห้ามทั้งสองฝ่ายและหันมากล่าวแก่มารกาอย่างขัดเคืองว่า “แม่จะนิ่งอยู่ทำไม แม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรทำไมไม่พูด ถ้าแม่ยังไม่พูดก็เท่ากับว่าแม่ตั้งใจจะก่อปัญหาขึ้นอีก ข้าจะสาปแม่เสียเดี๋ยวนี้แหละ” นางดาราเกรงกลัวบุตรจะสาปสรร จึงจำใจตอบว่า “พระจันทร์เป็นพ่อของกุมารนี้ จงทราบความตามจริงเถิด” “ฉลาดนัก ลูกของพ่อ ฉลาดนัก” พระจันทร์ผวาเข้ากอดกุมารน้อยด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง “เจ้าจงได้ชื่อว่า พุธ เถิดเพราะเจ้าเป็นผู้ฉลาดจริงๆ” พระจันทร์ได้พระพุธผู้เป็นโอรสไปเลี้ยงดูจนเจริญวัยเป็นหนุ่ม พระพุธไปบวชเป็นฤษีจำศีลภาวนาอยู่ในปราสาททองใต้ผืนน้ำในทะเลสาปเชิงเขาหิมาลัย เมื่อท้าวอิลราช ในสภาพที่ถูกสาปเป็นนาง อิลาลงไปเล่นน้ำในทะเลสาป พระพุธได้นางเป็นภรรยา มีบุตรชายด้วยกันคือ เจ้าชายปุรูรวัส เป็นกัษตริย์องค์แรกแห่งจันทรวงศ์ ครองราไชศวรรย์สืบมาหลายหมื่นปี จากหนังสือ อนงค์มัญชรี รวบรวมและเขียนโดย อาจารย์ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๓๔ (๑) นิศากร ผู้ทำกลางคืน หมายถึง พระจันทร์ (๒) นักษัตรราชา ราชาแห่งดวงดาวทั้งหลาย เป็นฉายานามของพระจันทร์

ไม่มีความคิดเห็น: