02 สิงหาคม 2551

อคัสตยะ

อคัสตยะ อคัสตยะ (หรือ อคัสติ) เป็นฤษีผู้มีชื่อเสียงเกริกไกรที่สุดในอดีตกาลนานลึกดึกดำบรรพ์ ว่าเป็นผู้มีอำนาจน่าสะพรึงกลัวที่สุด อันทวยเทพและอสูรแม้ร้ายกาจเพียงใด ก็ไม่อาจจะต้านทานได้ พระอคัสตยมุนีผู้มีร่างกายต่ำเตี้ยผู้นี้เป็นโอรสของพระวรุณเทพเจ้า กับนางอัปสรอุรวศี เมื่อแรกกำเนิดนั้นมีร่างกายเล็กเท่าปลายก้อย จึงถูกเลี้ยงไว้ในหม้อ จนเติบโตขึ้นกระทั่งเป็นกุมารใหญ่ เปล่งรัศมีโชติช่วงไปทั่ว พระธาดาพรหมทรงเมตตาเลี้ยงดูและสั่งสอนพระเวทวิทยาทั้งปวงให้ ในที่สุด อคัสตยกุมารก็บรรลุความเป็นหนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ มีพละกำลังเป็นเลิศและมีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ ตั้งอาศรมอาศัยความสงบวิเวกบำเพ็ญพรตอยู่ ณ คงคาทวาร อันเป็นสถานที่ไกลแสนไกลจากแดนมนุษย์ขึ้นไปในความลึกซึ้งของทิวเขาหิมาลัยไกลโพ้น วันหนึ่ง พระอคัสตยมุนีท่องเที่ยวไปในป่าลึก ได้พบฤษีหลายตนเอาเท้าเกี่ยวปากเหวห้อยหัวลงไปเบื้องล่างซึ่งเป็นที่อันลึกสุดหยั่ง มีควันไฟพลุ่งขึ้นมาเป็นกลุ่มๆ และฤษีเหล่านั้นกำลังจะหมดแรงใกล้จะร่วงลงไปสู่นรกเบื้องล่าง มีนัยน์ตาอันเหลือกลานแสดงความหวาดกลัวถึงที่สุด พระมุนีแลเห็นก็เกิดความสงสารและใคร่จะรู้ว่าเกิดเรื่องอันใดขึ้นจึงเข้าไปไต่ถาม ฤษีเหล่านั้นตอบว่า “เราเป็นฤษีเหมือนกับท่าน และเราก็บำเพ็ญพรตหวังความหลุดพ้นเหมือนกับท่านนั่นแหละ แต่เราเคราะห์ร้ายที่ไม่ได้แต่งงาน จึงไม่มีบุตรชายสำหรับทำพิธีศราทธพรตให้ ฉะนั้นเมื่อเราสิ้นชีพลง เราจึงต้องมาทรนทุกข์ทรมานที่เหวแห่งนี้ ต้องห้อยหัวดังค้างคาวอยู่ช้านาน ในที่สุดก็จะค่อยร่วงหล่นลงนรกไฟก้นเหวนั้นไปทีละคนๆ และจะต้องทนทุกข์อยู่ในนรกนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์ ท่านจงดูตัวอย่างจากเราเถิด จงแต่งงานเสียเพื่อจะได้มีบุตรชายมาช่วยมิให้ต้องทรมานเหมือนพวกเรานี้” พระอัคัสตยมุนีได้ทราบเรื่องดังนั้นมีความเศร้าใจนัก ครุ่นคิดถึงฐานะของตัวเอง เกรงจะต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้นบ้าง จึงคิดที่จะแสวงหาสตรีที่สมควรมาแต่งงานอยู่กินด้วย แต่แลไม่เห็นหญิงที่ถูกใจเลย ทั้งในพื้นพิภพและในสวรรค์ จึงคิดสร้างนางในฝันขึ้นเอง พระมุนีเดินทางกลับอาศรม แล้วก็ก่อกองกูณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นตั้งพิธีบูชาทวยเทพวิศเวเทวาร่ายมหามานตราอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกสิ่งทั้งหลายอันเป็นยอดของความงาม ความอ่อนหวาน ละมุนละไมนิ่มนวลจากธรรมชาติทั้งปวงมาประชุมกัน แล้วสรรเสกลงในกองไฟ ชุบนางเนรมิตขึ้นมาเป็นกุมารีน้อยน่ารักน่าชมนางหนึ่ง พระฤษีอุ้มนางจากกองไฟแล้วไตร่ตรองว่าจะลี้ยงดูนางฉันใดดี ก็พอดีทราบว่าพระราชาแห่งกรุงวิทรรภ์เป็นผู้ไร้โอรสธิดากำลังทรงเดือดร้อนกังวลพระทัยอยู่เมื่อเห็นช่องเหมาะดังนั้น พระอคัสตยมุนีก็พาทาริกาน้อยเข้าไปถวายเป็นราชธิดาของพระเจ้ากรุงวิทรรภ์ พระราชาทรงรับนางไว้เป็นพระธิดา มีความเสน่หาดังบุตรของตนเองและประทานนามให้นางว่า โลปามุทรา จำเนียรกาลล่วงมา นางโลปามุทราเจริญวัยขึ้นเป็นสาวอายุสิบหกปี พระฤษีอคัสตยะมาฝ้าพระราชาและทูลของนางเพื่อไปเป็นภรรยาของตน พระเจ้ากรุงวิทรรภ์ทรงกระอักกระอ่วนพระทัยมาก ทรงปรารถนาจะให้พระธิดาได้สามีที่เป็นกัษตริย์ มีอาณาจักรแว่นแคว้นเสมอด้วยพระองค์ไม่อยากจะให้ได้กับนักบวชเตี้ยแคระ ผมเผ้าหนวดยาวรุงรังเช่นนี้ แต่จะขัดคำขอร้องก็เกรงอำนาจพระมุนียิ่งนัก ในที่สุดก็จำใจยกนางให้โดยดี พระมุนีก็พานางไปอยู่ด้วยกันในวนาศรมใกล้คงคาทวาร อยู่กินกันมาฉันสามีภริยาด้วยความสุข เวลาก็ผ่านไปช้านาน นานกระทั่งพระอคัสตยมมุนีบำเพ็ญตบะก้าวหน้าอย่างยิ่งยวดจนพระพรหมผู้เป็นเจ้าโปรดปราน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพรหมฤษี และประทานไม้เท้าพรหมทัณฑ์ให้เป็นของขวัญ วันหนึ่ง นางโลปามุทราเข้ามาหาและปรนนิบัติตามกิจวัตร มีใบหน้าอันเอิบอิ่มสิ้มแย้มเป็นที่ประหลาดกว่าทุกวัน พระมุนีจึงถามด้วยความปรานีว่า นางมีความสุขพิเศษอันใด จึงแสดงอาการชื่นบานดังนี้ นางตอบว่า “ข้าแต่ท่านสวามี ตั้งแต่ข้าติดตามมาเป็นภริยาท่านครั้งก่อนโน้น บิดามารดาของข้ามีความเศร้าโศก มีความทุกข์ใจว่าข้าจะต้องมีชีวิตที่ทุกข์ระทม เพราะความยากไร้ของสามี ข้ามิได้มีสิ่งใดจะทดแทนพระคุณของท่านโดยทำให้ท่านมีความสุขใจเลย บัดนี้ข้ากำลังจะมีบุตรกับท่าน เป็นข่าวดีและเป็นมงคลยิ่งนัก ข้าจะได้กลับไปแจ้งข่าวนี้แก่พ่อแม่ ข้าก็อยากจะให้ท่านแต่งกระบวนเกียรติยศไปส่งข้าให้สมเกียรติ ท่านจงจัดหาราชรถทองเทียมด้วยม้าสวรรค์และสมทบด้วยกระบวนแม่โคสองหมื่นตัว มีเขาล้วนหุ้มด้วยทองคำ และเกวียนบรรทุกแก้วแหวนเงินทองอีกร้อยเล่มเกวียนจะได้ไหม ข้าเชื่อว่าท่านต้องหามาให้ข้าได้แน่นอน จริงหรือไม่” พระอคัสตยมุนีได้ฟังนางกล่าวก็ถึงกับนิ่งอึ้ง แต่เมื่อใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้วพอมองเห็นลู่ทาง จึงตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เอาเถิด โลปามุทรา ข้าจะพยายามหาสิ่งที่เจ้าต้องการมาให้ทั้งๆที่เจ้าก็รู้ว่าจ้าเองเป็นนักบวชผู้ยากไร้ ทรัพย์สมบัติแม้แต่เก๊เดียวข้าก็ไม่มี แต่ไหนๆเจ้าก็ปรนนิบัติข้าตลอดมาด้วยความจงรักภักดี คำน้อยมิได้บ่นว่า แม้เจ้าจะต้องทนความลำบากนักหนาเพียงไร เจ้าเป็นภรรยาที่ดี ยากจักหาได้ในโลกนี้ เมื่อเจ้าขอร้องทั้งที ข้าจะปฏิเสธได้ไฉน เจ้าจงเฝ้าคอยยู่ที่อาศรมนี้เถิด ข้าจะลาไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่เจ้าต้องการมาให้” พระมุนีกล่าวจบก็มิได้เสียเวลาอีกต่อไป คว้าย่ามหนังกวางขึ้นคล้องแขน อีกมือหนึ่งหยิบไม้เท้าพรหมทัณฑ์คู่ชีวิต ลงจากอาศรมน้อย เหย่าเดินเร่งรีบไปตามทาง ลัดเลาะออกสู่ทุ่งกว้างชายเขา ตรงไปสู่นครใหญ่อันมีพระราชาศรุตรรวาเป็นผู้ปกครอง เมื่อพระเจ้าศรุตรรวาทราบความประสงค์ก็ ไม่ขัดข้อง ยินดีจะถวายทรัพย์ให้ แต่เมื่อสำรวจท้องพระคลังแล้วปรากฏว่ามีทรัพย์สินอยู่ไม่ถึงครึ่งที่อคัสตยมุนีต้องการ จึงรับอาสาพาพระฤษีเดินทางไปหาพระราชาผู้เป็นสหาย คือพระเจ้าพรัธนาศวะ เพื่อขอทรัพย์เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ พระราชาทั้งสองจึงพาพระอคัสตยมุนีเดินทางไปหาพระเจ้าตรัสทัสยุ แต่พระเจ้าตรัสทัสยุก็กำลังฐานะยอบแยบอยู่ด้วยถูกอุทกภัยรุกรานเมื่อปีก่อน ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ ในที่สุด มองเห็นอยู่ทางเดียวว่าจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากพญาอสูรู้มั่งคั่งล้นฟ้าชื่ออิลวะ เพราะอสูรอิลวละนั้นเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ถึงสี่ขุม จะตักตวงเท่าไรก็ไม่มีวันพร่อง แต่ว่าจอมอสูรผู้นี้เป็นผู้มีเล่ห์เหลี่ยมมากยากที่จะไว้ใจได้ “จะทำอย่างไรได้” อคัส่ตยมุนีปรารภ “เมื่อไม่มีทางอื่นแล้วเราก็น่าจะลองดู จะมีเล่ห์เหลี่ยมอย่างไรก็ต้องเล่นกันสักตั้ง ดูทีหรือว่าจะเก่งสักแค่ไหน” “พระคุณเจ้าไม่รู้อะไร” ราชาศรุตรรวาติงด้วยความเป็นห่วง “ท่านรู้หรือไม่ว่า ใครก็ตามที่ไปขออะไรจากอิลวละ มักจะไม่รอดชีวิต จะเรียกว่าไม่เคยมีใครรอดชีวิตกลับมาเลยก็ว่าได้ ข้าพเจ้าทั้งสามคนไม่เล่นด้วยหรอก” “ทำไมล่ะ” “ใครก็ตามที่อิลวละเชิญกินเลี้ยง หลงรับปากกินเข้าไปจริงๆ เป็นต้องตายทุกรายแหละ” ราชาพรัธนาศวะชี้แจง “อ๋อ แค่นั้นหรอกหรือ” อคัสตยะแลดูหน้าคนทั้งสามอย่างซื่อๆ “ดีน่ะซี เขาอุตส่าห์เลี้ยงทั้งที เราก็กินฉลองศรัทธาเขาก็สิ้นเรื่องไม่เห็นมีปัญหาอะไร ท่านอย่าห่วงเลย เรารับธุระเรื่องนี้เอง”
พระราชาทั้งสามขยับปากจะท้วงติงอีก แต่เมื่อเห็นพระมุนีตั้งใจมั่นดังนั้นก็ไม่อยากจะขัด อีกประการหนึ่งก็อยากจะดูด้วยว่า อิลวลาสูร จะมีฤิทธิ์สักเพียงไหน ถ้ามาเจอคนอย่างอคัสตยะเข้า ทั้งสี่คนเดินทางถึงนครของอิลวละในไม่ช้า พญาอสูรผู้มั่งคั่งให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง เมื่อทราบความประสงค์ของพระมุนีแล้วก็หัวเราะด้วยเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเต็มประดา กล่าวว่า “เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ พระคุณเจ้าเอ่ยปากทั้งที ไฉนข้าพเจ้าจะถวายให้ไม่ได้ แต่ว่าก่อนที่พระคุณเจ้าจะรับทรัพย์จำนวนนี้ไป ขอจงพักผ่อนให้อิ่มหนำสำราญแล้วจึงค่อยออกเดินทางกลับไปเถิด” “ยินดี และขอขอบใจท่านอย่างมาก” พระมุนีกล่าวยิ้มๆ อันพญาอสูรอิลวละนั้นมีจิตใจชั่วร้าย ขอบฆ่าคนในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เป็นนิจศีล และได้ก่อกรรมอันโหดร้ายนี้มามากมายหลายครั้งแล้ว วิธีการของอสูรร้ายก็คือ จะให้น้องชายชื่อ วาตาปิ แปลงเป็นแกะ เมื่อเอาแกะไปฆ่าเอาเนื้อมาทำอาหารเลี้ยงแขกแล้ว ได้เวลาที่แขกรับเชิญกินเสร็จเรียบร้อย อิลวละก็จะเรียกน้องชายให้ออกมา วาตาปิ ก็จะแหวะท้องคนเคราะห์ร้ายออกมาทันที โดยวิธีนี้ เหยื่อเคราะหร้ายผู้หลงกลอสูรชั่วก็จะต้องสิ้นชีพทุกราย ราชาทั้งสามได้ทราบประวัติเรื่องนี้ดี จึงมิยอมเสวยอาหารของพญาอสูรอย่างเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อถึงเวลากินเลี้ยงจึงมีฤษีอคัสตยะเแต่ผู้เดียวที่เป็นแขกรับเชิญ เมื่อกินอาหารอันโอชารสเสร็จเรียบร้อยแล้ว อคัสตยมุนีก็ล้างมือและเช็ดปาก อิลวละมองหน้าเหยื่อของตนอย่างเยาะๆ และกล่าวคำประกาศิตโดยฉับพลันทันที “วาตาปิ ออกมาเถิด” ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระมุนีเตี้ยคงนั่งเฉยเป็นปรกติ พญาอสูรเห็นผิดสังเกต รีบตะโกนสำทับอีก “ออกมาเดี๋ยวนี้ วาตาปิ ข้าเรียกเจ้า ได้ยินไหม” เงียบอีก ราชาทั้งสามมองหน้าฤษีอคัสตยะด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น ยังมิทันที่จะกล่าวถ้อยคำใด พระมหามุนีซึ่งนั่งอมยิ้มทำเป็นทองไม่รู้ร้อนก็เอ่ยขึ้นว่า “อิลวลาสูร ท่านเรียกใครกันน่ะ ถ้าเรียกเจ้าแกะที่ชื่อวาตาปิละก็ ป่วยการเสียเวลาเปล่า อะไรที่ข้ากินเข้าไปพอตกถึงท้องข้าก็โดยย่อยเรียบร้อยแล้ว ท่านจะเรียกไปไยเล่า” อิลวละเป็นลมสิ้นสติไปทันที พอฟื้นขึ้นมาก็รีบกราบกรานขอโทษฤษีอคัสตยะด้วยความเกรงกลัว และจัดแจงทรัพย์สมบัติมองให้แก่พระมุนีตามปรารถนา อคัสตยมุนีนำขบวนเกวียนบรรทุกรัตนะร้อยเล่มเกวียน ฝูงโคสองหมื่นมีเขาหุ้มทอง และตนเองขับขี่ราชรถทองเทียมด้วยม้าสวรรค์ตัวงามสองตัว เมื่อมาถึงอาศรมก็รับทางโลปามุทราเดินทางไปเมืองวิทรรภ์ ยยังความปรีดาปราโมทย์ให้เกิดแก่พระเจ้ากรุงวิทรรภ์และประชาราษฎร์ยิ่งนัก เมื่อ กลับสู่วนาศรมแล้ว นางโลปามุทราก็คลอดบุตรเป็ยชาย หลังจากที่ตั้งครรภ์นานถึงเจ็ดปี พระอคัสตยมุนีกับครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ด้วยความผาสุก ณ คงคาทวารเป็นเวลาถึงสองพันปี ก็ถึงคราวอพยพย้ายถิ่น เพราะภูเขาวินธัยเป็นเหตุ เรื่องมีว่า ทิวเขาวินธัยซึ่งกั้นชมพูทวีปภาคเหนือกับภาคใต้ให้แยกจากกันนั้น บังเกิดความริษยาภูขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นหลักโลกและเป็นที่ตั้งของอินทรโลก อันเป็นสวรรค์บรมสุข เพราะเหตุว่าพระอาทิตย์และพระจันทร์นั้นโคจรเวียนรอบภูเขาพระสุเมรุ ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ภูเขาวินธัยเองต่ำเตี้ยกว่าต้องน้อยหน้าอดสูอยู่เป็นนิจ ด้วยความแค้นดังนี้ ภูเขาวินธัยจึงยืดตังเองให้สูงขึ้นทีละน้อย จนในที่สุดชะเง้อคอขึ้นเหนือเขาพระสุเมรุ และทำท่าจะยืดหัวขึ้นไปเรื่อยๆโดยมิหยุดยั้ง ทำให้เกิดความปั่นป่วนอลหม่านไปทั่วทั้งจักรวาล เพราะในเมื่อภูเขาพระสุเมรุไม่ได้เป็นหลักของโลกและสวรรค์อีกต่อไปแล้ว พระอาทิตย์และพระจันทร์ต่างก็โคจรออกนอกเส้นทาง เตลิดไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างไม่เป็นกำหนดเวลา มิหนำซ้ำ เงามืดทะมึนของเขาวินธัยก็ผงาดเงื้อมสวรรค์ ทำให้สวรรค์มืดไปบางส่วนอีกด้วย ทวยเทพทั้งหลายพากันตื่นตระหนกด้วยเห็นความวิบัติมาปรากฎเฉพาะหน้า ท้าววัชรินทร์เองก็สิ้นปัญญา ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างใด จึงพาคณะเทพไปเฝ้าพระธาดาพรหมยังที่ประทับในพรหมโลกเพื่อทูลขอความข่วยเหลือ พระปิตามหะนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งก็ตรัสว่า “เอาเถิดศจีบดี เรื่อนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะวินธัยโอหังบังอาจเหบือหลาย ทำให้จักรวาลปั่นป่วนไปหมด จะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ข้าว่าอคัสตยมุนีคงจะรับมือมันได้อยู่ เจ้าจงไปขอให้เขาช่วยพวกเจ้าเถิด” เมื่ออินทรเทพและเทวดาทั้งปวง พากันมาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ อคัสตยมุนีนั่งนิ่งไตร่ตรองหาทางแก้ไขอยู่พักหนึ่งก็กล่าวแก่คณะเทพว่า “เรายินดีจะช่วยเหลือพวกท่าน อย่าวิตกไปเลยความจริงเราก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า พระปิตามหะทรงมอบภาระใหญ่ให้เราทำมานานแล้วแต่เราก็ยังไม่ได้ทำ พระองค์ตรัสสั่งให้เราเดินทางไปเผยแผ่ความเจริญให้แก่ชนป่าเถื่อนทั้งปวงในภาคใต้ของชมพูทวีปอันเป็นดินแดนที่แสงแห่งอารยธรรมยังแผ่ไปไม่ถึง เราจะต้องนำพระเวทและวิทยาทั้งปวงไปสั่งสอนคนผู้มืดมนเหล่านั้นให้บรรลุความเจริญให้ได้ บัดนี้ คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกเดินทางเสียที ภาระอันศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังคอยเราอยู่ เป็นงานหนักหนายากที่ใครๆจะทำได้ เราจะต้องไปเองเสียแล้ว”
พระมหามุนีตระเตรียมข้าวของที่จำเป็นใส่ถุงย่าม หยิบไม้เท้าพรหมทัณฑ์ขึ้นมาถือ ก้าวลงจากอาศรม เดินนำหน้าภรรยาและบุตรมุ่งสู่ภาคใต้แห่งแม่น้ำคงคา ตัดทุ่งกว้างและป่าใหญ่จนบรรลุถึงเชิงเขาวินธัยในที่สุด พระพรหมฤษีเงยหน้าขึ้นดูยอดเชาอันสูงชะเงื้อมสวรรค์ แล้วยกไม้เท้าพรหมทัณฑ์ขึ้นชี้ไปเบื้องหน้า ประกาศวาจาอันหนักแน่นว่า “วินธัย ศิษย์ของข้า เจ้าจงก้มหัวลงเดี๋ยวนี้ ข้าจะเดินทางข้ามไปสู่ดินแดนทักษิณาบถในบัดนี้” ภูเขาวินธัย ได้ยินประกาศิตของผู้เป็นอาจารย์ ก็รีบก้มศีรษะลงกระทำความเคารพอย่างนอบน้อม พระมุนีก็พาครอบครัวเดินทางข้ามไป ก่อนที่จะลงสู่ทักษิณาบถ พระอคัสตยพรหมฤษีกล่างประกาศิตสำทับว่า “จงก้มหัวอยู่อย่างนี้ คอยจนกว่าข้าจะกลับมา” เมื่อพระมหามุนีเดินทางไปสู่ภาคใต้แล้ว ก็มิเคยหวนกลับขึ้นภาคเหนืออีก คงตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนวิชาการแก่ชนป่าเถื่อนเรื่อยไป จนถึงสุดแผ่นดินชมพูทวีปที่ปลายแหลมกุมารีโพ้นแลภูเขาวินธัยก็ต้องก้มศีรษะอยู่ต่ำเตี้ยเช่นนั้นตลอดไป ไม่เป็นอุปสรรค์แก่วิถีโคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์อีกต่อไป จำเนียรกาลล่วงมา พระอาจารย์ใหญ่ได้ยังความเจริญไพศาลให้ปรากฎแก่ชนทมิฬและเผ่าพันธุ์อนารยชนทั้งหลายโดยทั่วกัน บำเพ็ญพรตภาวนาหวังโมกษะ แต่งานของพระมุนีเพื่อทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่หมดสิ้นง่ายๆ ทันใดก็มีเสียทิพย์อันนุ่มนวล ไพเราะอ่อนหวานแว่วมากระทบโสตและภาพพระวิษณุผู้เป็นเจ้าก็แจ่มจรัสขึ้นในฌานสมาธิ ภาพนั้นแจ่มชัดราวกับภาพสะท้อนในกระจกเงา พระเป็นเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์ด้วยความพอพระทัย ตรัสกระซิบว่า ”อคัสตยะ สาวกผู้ภักดีของข้า ข้าขอบใจที่เอาเป็นธุระช่วยปัดเป่าปรามทุกข์เข็ญในโลก มิได้อยู่เฉย เจ้าเป็นคนดีมีประโยชน์แก่โลกและสวรรค์ ยากจะหาใครเสมอเหมือนได้ ควรที่ใครๆจักดูเจ้าเป็นเยี่ยงอย่าง อย่ากลัวเลย เจ้าจะได้บรรลุโมกษธรรมสมดังความปรารถนาในอนาคต เมื่อถึงเวลานั้นข้าจะตั้งให้เจ้าเป็นดวงดาวสถิตย์อยู่ในสวรรค์อันสูงสุดชั่วนิรันดร เจ้าจะเป็นดาวอคัสตยะ (๑) อันแจ่มใสที่สุดในท้องฟ้าด้านทิศใต้ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น จะบังเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นในโลกอีกครั้งหนึ่ง ท้าวราพณาสูรแห่งเกาะลังกา จะก่อความเดือดร้อนไปทั่วชมพูทวีปข้าจำเป็นจะต้องอวตารลงมาอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นมนุษย์ชื่อ รามจันทร์ พร้อมด้วยชายาชื่อ สีดา และน้องผู้ภัคดีขื่อ ลักษมัณ การสงครามจะยืดเยื้อถึงสิบสองปี และจะไม่มีใครฆ่าจอมอสูรทศพักตร์ผู้นั้นได้ ด้วยเหตุนี้ข้าจำเป็นจะต้องสอนมนตร์ทำลายชีวิตมันให้เจ้าจดจำไว้ จะได้สอนแก่พระรามจันทร์เมื่อถึงเวลาทำลายชีวิตท้าวราพณาสูร มนตร์บทนี้ชื่อ อาทิตยหฤทัย เจ้าจงท่องจำให้ขึ้นใจ และปฏิบัติตามที่เราสั่งไว้ จงคอยท่าพระรามจันทร์ซึ่งจะมาในอนาคตกาลเถิด” พระวิษณุเป็นเจ้าทรงกระซิบมนตร์อาทิตยหฤทัยที่หูของพระมุนีอย่างแผ่วเบาที่สุด เหมือนสายลมรำเพยเบาหวิว สิ้นพระสำเนียงอันไพเราะ ภาพอันแจ่มชัดในฌานก็ค่อยเลือนหายไป เหมือนกลุ่มหมอกที่จางไปในแสงแห่งอรุณรุ่ง (๑) ดาวอคัสตยะ – ชื่อดาวที่สุกใสที่สุดในท้องฟ้าทางทิศใต้ มีชื่อเรียกในทางดาราศาสตร์ว่า ดาว Canopus จากหนังสือ หริศจันทร์ โดย อ.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๓

ไม่มีความคิดเห็น: